รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร้อง คสช.-กระทรวงทรัพย์ฯ ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่-คุ้มครองสิทธิประชาชน-ทบทวนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายป่า ด้านชาวบ้านประชุมเครียดเตรียมยื่นหนังสือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
27 ส.ค. 2557 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วและชุมชนโคกยาวจัดประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และฝ่ายปกครอง อาศัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าปิดป้ายประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย และสวนป่าคอนสาร (ชุมชนบ่อแก้ว) ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 24 และ 25 ส.ค. 2557
คำสั่งดังกล่าวระบุให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลอาสินทั้งหมดออกนับแต่วันที่ประกาศ หากพ้นกำหนดเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอน โดยให้ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ในขณะที่ชาวบ้านชุมชนโคกยาวออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน
ผลการประชุม ชาวบ้านมีมติร่วมกันว่าจะยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ และ 2.ให้พิจารณามาตรการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สภาพชุมชนบ้านบ่อแก้วปัจจุบัน ชาวบ้านได้ฟื้นฟูพื้นที่สวนป่ายูคาลิปตัส มาทำการเพาะปลูกจนสามารถพึ่งพาตนเองในระดับครอบครัว ไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และบางรายสามารถขายผลผลิตเป็นรายได้ในครัวเรือน อีกทั้งในวาระครบรอบ 3 ปี ของชุมชนยังกำหนดให้เป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์” ทั้งพื้นที่แปลงรวมและพื้นที่สิทธิการใช้ส่วนบุคคล และมีการจัดสร้างธนาคารเมล็ดพันธ์ เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือของคนในท้องถิ่น
รูปภาพพื้นที่ชุมชนบ้านบ่อแก้ว
พื้นที่ชุมชนโคกยาว
ขณะที่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ออกแถลงการณ์ ‘คืนความสุขให้ประชาชน คืนสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน’ ระบุว่า พื้นที่ทั้งสองแห่งมีข้อพิพาทสิทธิในที่ดินระหว่างราชการกับประชาชนมาเป็นเวลานาน กระทั่งมีการร้องเรียนของชาวบ้านผู้เดือดร้อน และเกิดกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนมีมติ ข้อตกลงต่างๆ เช่น รายงานผลการละเมิดสิทธิในที่ดิน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ มติคณะรัฐมนตรีเรื่องการผ่อนผันให้ทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทไปพลางก่อน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ เป็นต้น
นอกจากนี้ พื้นที่เหล่านี้ ยังได้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งโฉนดชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุขอเสนอต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ คสช. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 ข้อ ดังนี้ 1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 และ 25 สิงหาคม 2557
2.ให้พิจารณามาตรการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชน เพื่อความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีมาตรการทางนโยบายที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ต่อไป และ 3.ให้ทบทวนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
คืนความสุขให้ประชาชน คืนสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน
สืบเนื่องจากจังหวัดชัยภูมิ ได้มีประกาศจังหวัด เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการปิดประกาศดังกล่าวในพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย และสวนป่าคอนสาร (ชุมชนบ่อแก้ว) ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 24 และ 25 สิงหาคม 2557 ตามลำดับ นั้น
สาระสำคัญของประกาศข้างต้น อาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดชัยภูมิ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ให้ผู้บุกรุกถือครองพื้นที่สวนป่าทั้ง 2 แห่ง ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลอาสิน ภายใน 15 วัน และ 30 วัน ตามลำดับ หากพ้นกำหนดเวลา ทางราชการจะเข้าตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาด
ในทางเป็นจริง กล่าวได้ว่า พื้นที่ทั้งสองแห่งมีข้อพิพาทสิทธิในที่ดินระหว่างราชการกับประชาชนมาเป็นเวลานาน กระทั่งมีการร้องเรียนของชาวบ้านผู้เดือดร้อน และเกิดกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนมีมติ ข้อตกลงต่างๆ เช่น รายงานผลการละเมิดสิทธิในที่ดิน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ มติคณะรัฐมนตรีเรื่องการผ่อนผันให้ทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทไปพลางก่อน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ เป็นต้น นอกจากนี้ พื้นที่เหล่านี้ ยังได้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งโฉนดชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
ในการนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน จึงขอเสนอต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
-
ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 และ 25 สิงหาคม 2557
-
ให้พิจารณามาตรการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชน เพื่อความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีมาตรการทางนโยบายที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ต่อไป
-
ให้ทบทวนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
27 สิงหาคม 2557
ที่มา : ประชาไท วันที่ 27 ส.ค. 2557