(รายงาน) สำรวจภาวะสังคมไทยไตรมาส2 อัตรา"ถือครองที่ดิน"เหลื่อมล้ำมากสุด
ในการแก้ไขปัญหาประเทศนั้น นอกจากจะต้องมองปัญหาที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คุณภาพชีวิต แล้ว ยังต้องพิจารณาปัญหาในภาพรวมด้วย จึงจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เห็นรายละเอียดยิบย่อยไปจนถึงภาพรวมขนาดใหญ่ได้อย่างชัดเจนคือ "ข้อมูลพื้นฐาน" ที่รอบด้านและน่าเชื่อถือ
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมในไตรมาส 2 ปี 2557 พบปัญหาเชิงเศรษฐกิจ และสังคมในหลายส่วนที่ยังน่าเป็นห่วง
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังอย่าง ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ปัญหาช่องว่างคนรวยกับคนจน โอกาสเข้าถึงการศึกษา ปัญหาการว่างงาน รวมทั้งคดีอาชญากรรม และอุบัติเหตุรถสาธารณะ
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช. เผยรายงานภาวะสังคมในไตรมาส 2 ปี 2557 ระบุว่า ถึงการพัฒนาเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ปัญหาความยากจนในประเทศซึ่งผ่านมากกว่า 3 ทศวรรษแต่ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศแม้จะมีแนวโน้มลดลง
รายงานดังกล่าว ระบุว่า จากการประเมินโดยใช้เส้นความยากจนที่ใช้แบบแผนการบริโภค หรือมาตรฐานการดำรงชีวิตขั้นต่ำในปี 2554 เป็นฐานในการคำนวณ และได้คำนวณเส้นความยากจนย้อนหลังไปถึงปี 2531 เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ภายใต้แบบแผนการบริโภคเดียวกันพบว่า สัดส่วนคนจนได้ลดลงจาก 65.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2531 เหลือ 38.6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2541 และเหลือ 20.4 เปอร์เซ็นต์ และ 12.6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2551 และปี 2555 ตามลำดับ
"ความยากจนลดลงเป็นผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2555 มีจำนวนคนจนทั่วประเทศประมาณ 8.4 ล้านคน และหากรวมคนจนกับคนเกือบจนแล้วจะมีประมาณ 15.6 ล้านคน หรือ 23.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศซึ่งบ่งชี้ได้ว่าความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ"
ทั้งนี้ คนเกือบจน หมายถึง ประชากรที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ คนกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวต่อภาวะวิกฤติต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะตกเป็นคนจนได้ง่าย หากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงหรือประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือประสบปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ
จน-รวยห่างกัน 25 เท่า
สำหรับ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หรือการกระจายรายได้ "ค่อนข้างทรงตัว" ในช่วงเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และปัญหาการกระจายรายได้ของประเทศอยู่ในระดับปานกลาง โดยสะท้อนจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ ในช่วงปี 2531-2554 ซึ่งอยู่ในระดับ 0.48-0.53
ด้านการถือครองรายได้กระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองรายได้ถึง 39.3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด
ขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองรายได้เพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น จึงทำให้ความแตกต่างของรายได้ห่างกันถึง 25.2 เท่า ในปี 2554
ประเทศไทยถือว่ามีความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินสูงมาก โดยกลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด มีสัดส่วนพื้นที่ถือครองที่ดินสูงถึง 79.9 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด
ในขณะที่กลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด มีสัดส่วนถือครองที่ดินเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การศึกษาต่างกัน16เท่า
นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำในโอกาสการเข้าถึงการศึกษาก็ยังมีความแตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกัน ระหว่างเขตเมืองกับชนบท และระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะการศึกษาในระดับปริญญาตรี
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้โอกาสการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้มีความแตกต่างกันมาก โดยกลุ่มประชากร 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่ากลุ่มประชากร 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุด ประมาณ 16.3 เท่า
ขณะที่นักเรียนและนักศึกษาในเขตเมืองมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่านักเรียนและนักศึกษาในเขตชนบท และนักเรียนนักศึกษาในกรุงเทพฯ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงสุด ส่วนภาคใต้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีต่ำสุด ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ปรับ"ศก.-ภาษี"แก้ยั่งยืน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนมาอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ควบคู่กับการพัฒนาคนทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และสวัสดิการสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยมีเป้าหมายลดช่องว่างทางรายได้ มีการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน การเข้าถึงบริการทางสังคม และการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยที่เป็นผลจากการพัฒนาที่ไม่ครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน
รวมทั้งปรับโครงสร้างภาษีให้สนับสนุนการกระจายผลประโยชน์การพัฒนา และให้มีการกระจายผลตอบแทนที่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มเจ้าของทุนและกลุ่มเจ้าของแรงงาน ตลอดจนระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในทุกมิติเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 26 ส.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.