หัวหน้าคสช.สั่งตั้งคณะทำงานแก้ที่ดินบูรณาการนำพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ให้ผู้ยากไร้ เดินหน้าพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จ31มี.ค.58
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง คสช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแบบบูรณาการให้ได้ อาจจะพิจารณาได้หรือไม่ว่านำพื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ป่าเสื่อมโทรมไม่สามารถฟื้นฟูได้แล้ว พื้นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถจะมาหารายได้ ทำมาหากินร่วมกัน ถ้าเป็นพื้นที่ป่าก็ต้องดูแลป่า ปลูกป่าไปด้วย แต่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของรัฐ ไม่เป็นโฉนดของใครทั้งสิ้นเป็นของรัฐอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรเขาจะเข้ามาทำกิน
"ผมเคยพูดเรื่องคิบบุตซ์ (Kibbutz) ในประเทศอิสราเอล เขาก็ทำแบบนี้ที่เขามีน้อยมาก ฉะนั้นเขาก็จัดเป็นกลุ่ม ๆ ขึ้นมา เป็นนิคมเล็ก ๆ ขึ้นมา ไปดูแลร่วมกัน รัฐลงทุนให้แบ่งปันผลประโยชน์กันไป ถ้าเราไม่มีที่แล้วเราไปแบ่งที่ทุกคน ๆ เมื่อไหร่จะพอ ไม่พอแน่นอน ถ้าทำเป็นกลุ่มแบบนี้และไปหาพื้นที่ของรัฐเข้าไปทำ แต่ไม่ใช่ไปทำกินอย่างเดียว ต้องปลูกป่าไปด้วย ถ้าใช้พื้นที่ป่า ป่าที่เสื่อมโทรมแล้วก็ทำเป็นป่าเศรษฐกิจ คำว่าป่าเศรษฐกิจคือมีทั้งไม้ยืนต้น มีทั้งไม้ที่ต้องอนุรักษ์ และมีไม้ที่เก็บผลประโยชน์ได้ เช่น อาจจะเป็นป่าผสมกันทั้งป่ายาง ป่าไม้ยืนต้น คือไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์ได้อย่างเดียว ป่าสมบูรณ์ 100% ประชาชนยากจน ประชาชนไม่มีที่ทำกิน ก็ไม่ได้ทั้งหมด ทำอย่างไรเราจะจัดระเบียบตรงนี้ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนี้จะทำอย่างไรประชาชนจะอยู่กับป่าได้ หลาย ๆ ที่เป็นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงทำไว้แล้ว เช่น ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ คำว่าป่าชุมชน ผมว่าน่าจะไปปรับมาทำเป็นป่าเศรษฐกิจจะได้หรือไม่ ถ้าป่าชุมชน ก็บ้านใคร บ้านมัน หมู่บ้านนั้น หมู่บ้านนี้ ชี้ตรงนี้ ตรงนั้นเป็นของตรงนั้น ก็เป็นป่าเศรษฐกิจไปเลย คนในพื้นที่ก็ทำได้ มาดูแลได้ อีกส่วนหนึ่งก็มาแบ่งปันให้อีกส่วน ได้หรือไม่ยังไม่ทราบต้องไปดูข้อกฎหมายอีกและดูความเหมาะสม และดูว่าจะทำให้การบุกรุกป่ามากขึ้นหรือไม่ ถ้าประชาชนยังบุกรุกอยู่เหมือนเดิม ทำอะไรก็แก้ไม่ได้ ถ้าประชาชนยากจนอยู่ก็แก้ไม่ได้อีก บังคับใช้กฎหมายก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นเรียนอีกครั้งอยู่ในขั้นการหารือ การพูดคุย ใครมีความคิดเห็นอย่างอื่นก็ว่ามา ว่าควรจะเป็นอย่างไร ผมก็รับฟังทั้งหมด
สำหรับความคืบหน้าการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 8 แสนกว่าราย ทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่ามีการขึ้นทะเบียนชัดเจนขึ้น ปัจจุบันก็กำลังดำเนินการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการเตรียมการ พิสูจน์ยืนยันสัญชาติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะจัดทำพาสปอร์ตให้ถูกต้อง เรามีกำหนดเวลาไปแล้วชัดเจน เพื่อจะได้สามารถบริหารจัดการแรงงานได้ ป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ประกอบการต้องร่วมมือ จดทะเบียนการประกอบการค้าท่านให้เรียบร้อย ซึ่งจะได้มายื่นความต้องการ เราจะได้รวบรวมทั้ง Demand Supply ให้สอดคล้องกัน ไม่ใช่นำมามาก ๆ เข้า นำมาจดทะเบียนมาก ๆ และกระจัดกระจายไปทำอะไรก็ไม่ทราบ ท่านต้องสร้างความเข้มแข็งในการประกอบการของท่านด้วย และรองรับแรงงานพวกนี้ ถ้าท่านพัฒนาสถานประกอบการให้ทันสมัยขึ้น ใช้เครื่องจักร เครื่องมือเทคโนโลยีมากขึ้น คนที่เข้ามาก็ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพเพิ่มช่างฝีมือแรงงานต่าง ๆ เข้ามาหรือรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมอยากให้รับช่างฝีมือ หรือที่จบวิชาชีพในประเทศไทยทำงานในโรงงานของท่าน เราจะได้ไม่เสียคนพวกนี้ไปทำงานต่างประเทศ และเราจะเหลือแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ อันนี้ต้อง ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เราจะเปิดรับลงทะเบียนถึง 31 ตุลาคม 2557 นี้ เท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2558 อย่าให้เกินนั้นก็แล้วกัน
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 ส.ค. 2557