สภาเกษตรกรแห่งชาติ ล้มกองทุนข้าว ดัน พ.ร.บ.การจัดสวัสดิการเกษตรกรเสียบแทน เผยครอบคลุมทุกอาชีพเกษตรกรรมมากกว่าไม่จำกัดแค่ชาวนา เตรียมเสนอ "พล.อ.ประยุทธ์" ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะวงในติงกฎหมายซ้ำซ้อนเพราะเดิมมี2กองทุนอุ้มเกษตรกรอยู่แล้ว หวั่นกฎหมายคลอดเข้าทางนายทุนสวมสิทธิ์แทนชาวนา
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจาก 100 องค์กร จากส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กรเกษตรกร และเกษตรกรต่อร่างพ.ร.บ.การจัดสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ.... ที่เสนอโดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ
นายสุรินทร์ รุ่งศรี ผู้ทรงคุณวุฒิสภาเกษตรกรแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ " ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ข้อดีของร่างพ.ร.บ.การจัดสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ.... นั้นจะครอบคลุมทุกอาชีพเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง และกิจการอื่นที่มีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ให้ถือว่าเป็นเกษตรกรรม สาระสำคัญ ได้แก่ การจัดการสวัสดิการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัย การดำรงชีพ การประกันรายได้ และการจัดบำเหน็จบำนาญ แก่เกษตรกร เป็นต้น ดังนั้นหากกฎหมายนี้ออกมากองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติที่เป็นแนวคิดเดิมของกรมการข้าวคงต้องล้มไปโดยปริยาย
ทั้งนี้คณะกรรมการสวัสดิการเกษตรกร หรือเรียกย่อว่า "ค.ส.ก." ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการจะประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ซึ่งกรรมการจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี
นายวิทยา ประจันตะเสน เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการเกษตรกร จะประกอบด้วย เงินหรือทรัพย์สินที่รัฐบาลจัดสรรให้ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ ภาษีจากการส่งออกสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีค่าภาคหลวง ภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร หรือจากการอื่นใด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และ เงินสมทบที่เรียกเก็บจากสมาชิกกองทุนเป็นรายปีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด หากได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
ด้านนายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ฯ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรไม่ว่าจะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือการประมง เป็นวิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำหน้าที่ผลิตอาหารเลี้ยงพลโลกมาชั่วนาตาปี ต้องเผชิญกับความยากลำบากมารุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่ตัวเองกลับต้องแบกรับภาระความล้มเหลวทั้งที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ และอุบัติภัยต่างๆ ขาดความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีหลักประกันให้กับเกษตรกร โดยเฉลี่ยเกษตรกรอายุกว่า 50 ปี ขาดทายาทสืบต่อ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ลำบาก เชื่อว่าหากมีหลักประกันจะทำให้คนรุ่นใหม่ และทายาท หันกลับมาทำเกษตรกรมากขึ้น
ขณะที่นายประเทือง ศรีใจ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งข้อสังเกตกฎหมายฉบับนี้ว่ายังขาดข้อมูลในรายละเอียดอีกมาก อาทิ จำนวนเกษตรกรมีเท่าไร จะใช้ตัวโซนนิ่ง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือจะใช้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร หรือจะใช้ตัวเลขของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และการกำหนดนาเช่า จะมีหลักประกันเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้นายทุนบีบชาวนาและใส่ชื่อตัวเองเพื่อรับผลประโยชน์แทน ตัวอย่างที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือก นายทุนส่วนหนึ่งก็บีบชาวนาไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แต่กลับนำข้าวไปขายตรงให้กับโรงสีที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ถ้าไม่ทำนายทุนก็ขู่จะให้รายใหม่เช่านาแทน
ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ต้องเขียนให้ชัดเจน ให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงได้จริง เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าโครงการอะไรก็ตาม รายใหญ่มักได้เปรียบ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มี 2 กองทุนอยู่แล้ว ได้แก่ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร และกองทุนรวมเกษตร ลักษณะจะใกล้เคียงมาก กลัวว่าจะไปซ้ำซ้อนกัน
นายเดชา นุตาลัย ชาวนาเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีที่นา 70 ไร่ เป็นนาเช่าทั้งหมด ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เคยได้ยินเรื่องกองทุนสวัสดิการชาวนาเลย คิดว่าหากมีกฎหมายนี้จะเป็นผลดีต่อชาวนาและเกษตรกรโดยรวม
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,977 วันที่ 24 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.