"พีมูฟ"ร้องคสช.ทบทวนคำสั่งฉบับที่64,66เรื่องปราบปราบบุกรุกป่า หลังกระทบที่ดินทำกินของชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เวลา14.00น. นายบุญ แซ่จุง ที่ปรึกษา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขบส.) หรือ พีมูฟ ออกแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้ทบทวนคำสั่งของ คสช. ฉบับที่ 64/2557 และคำสั่งที่ 66/2557 เรื่องการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาศัยคำสั่งดังกล่าวดำเนินการกับประชาชนในพื้นที่โดยไม่แยกแยะว่าเป็นชาวบ้าน เกษตรกร ทำให้ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว
ทั้งนี้ มีพื้นที่ทำกินของชาวบ้านได้รับผลกระทบ อาทิ กรณีชุมชนทุ่งซำเสี้ยว ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาตัดไม้ทำลายป่า แต่ทางอำเภอและองค์กรบริหารส่วนตำบล ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ รวมทั้ง กรณีชุมชนบางสัก จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ ที่มีหลักฐานว่าชาวบ้านได้อาศัยมาตั้งแต่ปี 2515
อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้ คสช. เร่งดำเนินการดังนี้
1. ทบทวนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแก้ปัญหาที่ดินทำกิน
2.ให้เร่งแก้ปัญหาที่ดินตามที่สำนักนายกฯโฉนดชุมชน โดยเร่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น
3.เร่งตั้งคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พิจารณาอนุมัติโครงการนำร่องแก้ปัญหาที่ดินโดยเร็ว
4.ให้คสช.ทบทวน ยกเลิกสัมปทานที่ดิน ,เหมืองแร่ ,ภูเขา ,การขุดเจาะนํ้ามัน หรือทรัพยากรธรรมชาติ
5.ทบทวนโครงการรถไฟรางคู่ ที่กำลังจะดำเนินการก่อสร้างให้อยู่ในรัศมี 20เมตร ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค กับกระทรวงคมนาคม เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนริมทางรถไฟ
6.ทบทวนโครงการบริหารจัดการนํ้า 3.5 แสนล้านบาท โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดแนวทาง
7.กรณีพื้นที่ถูกบุกรุงจาก รัฐหรือนายทุน เช่น กรณีหลีเป๊ะ กรณีคลองไทร กรณีนายทุนข่มขู่ชาวบ้านเพื่อเข้าไปดูดทราย ที่บ้านครูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ให้คสช.คุ้มครองชุมชนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษา กลุ่มพีมูฟ กล่าวว่า แม้ว่าคสช.จะมีเจตนาดีในการแก้ปัญหาบุกรุงที่ดิน และการพัฒนาประเทศ แต่ประกาศคำสั่งของคสช. บางฉบับก่อให้เกิดผลกระทบตามมาคือ เมื่อเข้ามายึดอำนาจแล้วทำให้รัฐธรรมนูญ ทำให้หมวดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมนั้นหายไป ซึ่งการการชุมนุมทางการเมืองแตกต่างจากการชุมชนของชาวบ้านที่เรียกร้องเรื่องปากท้อง จึงไม่มีช่องทางในการเรียกร้องของความเป็นธรรม
“ชาวบ้านไม่มีโอกาสเข้าพบหัวหน้า คสช. เลย ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและนายทุนฉวยโอกาสขับไล่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ โดยเป็นการแบบอ้างคำสั่งของคสช.รังแกประชาชน อย่างไรก็ตามขบวนการประชาชนหวังให้เกิดการปฏิรูปประเทศ และสังเกตการณ์การปฏิรูป 11 ข้อของคสช. ไม่มีเรื่องของการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ หรือ กรณีที่ดินกระจุกตัวไม่ ถึงมือของประชาชนคนยากจนอย่างแท้จริง”นายประยงค์ กล่าว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 ส.ค. 2557