กรมบังคับคดีชูธงผลักดันทรัพย์1.5-2แสนล้าน "รื่นวดี"เดินหน้าภารกิจอายัด-ยึดทาง"แพ่ง-ล้มละลาย-ฟื้นฟู"ตามคำสั่งศาล/เล็งขายทอดในวันเสาร์เฉพาะสำนักงานที่มีคดีสูง-หลังเสนอแก้วิฯแพ่งร่างมาตรา309จัตวาให้เจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิ์ห้องชุด สานงานบังคับคดีสู่มาตรฐานเออีซี
รื่นวดี สุวรรณมงคลรื่นวดี สุวรรณมงคลในการแถลงผลการดำเนินงานช่วง 10เดือนที่ผ่านมา(ต.ค.56-ก.ค.57) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับนายอรรถ อรรถานนท์ รองอธิบดี นางรสพร สุขสมพร รองอธิบดี นางขวัญระพี จุฬาพิมพ์พันธุ์ รองอธิบดี เมื่อวันที่13 สิงหาคม ที่ผ่านมา นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า ผลการดำเนินการผลักดันทรัพย์ขายทอดตลาดเป็นเม็ดเงินกลับสู่ระบบ 2.76หมื่นล้านบาท จากทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดแล้วกว่า 7.84หมื่นล้านบาทโดยทั้งปีมีเป้ารวมอยู่ที่ 1.80แสนล้านบาท มีคดีที่ดำเนินการเสร็จรวมจำนวนกว่า 1.55แสนเรื่อง แบ่งเป็นคดีแพ่งกว่า 1.27แสนเรื่อง คดีล้มละลาย 2.63หมื่นล้านบาท ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ 1.06พันเรื่อง และสำนวนวางทรัพย์กว่า 1.26พันเรื่อง ปัจจุบันยังมีสำนวนค้างอยู่ในกระบวนการบังคับคดี 2.63แสนเรื่อง โดยปริมาณคดีแบ่งออกเป็น คดีแพ่ง 2.25แสนคดี คดีล้มละลาย 3.85หมื่นคดี คดีฟื้นฟู 249 คดี และการวางทรัพย์ จำนวน 20 คดี
ทั้งนี้ สิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทรัพย์สินที่อยู่ในกระบวนการขายทอดตลาด จำนวน 1.70แสนรายการ มูลค่า 2.36แสนล้านบาท แบ่งเป็น ที่ดิน6.82หมื่นรายการ มูลค่า 8.64หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40.14%ของทรัพย์ทั้งหมดหรือ 36.63%ของมูลค่าทรัพย์ , ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 8.75หมื่นรายการ มูลค่า 8.74หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 51.46%ของทรัพย์ทั้งหมดหรือ 37.04%ของมูลค่าทรัพย์ ,ห้องชุด 1.42รายการ มูลค่า 6.21หมื่นล้านบาท สัดส่วน 8.40%ของทรัพย์ทั้งหมดหรือ 26.33%ของมูลค่าทรัพย์
ขณะที่ช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือน น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ตามเป้า1.8แสนล้านบาท ณสิ้นเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณคดีคงเหลือค้างมาต้นปีงบประมาณ 58ประมาณ 2.58แสนล้านบาท(ดูกราฟประกอบ LED1รูปที่7) จากภารกิจหลักในการผลักดันทรัพย์สินเพื่อดึงเม็ดเงินกลับสู่ระบบยึดหลักการทำงานด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว เป็นธรรมโดยยึดยุทธศาสตร์ทั้ง 4ด้านคือ เป็นองค์กรนำด้านการบังคับคดีมาตรฐานสากลสู่ประชาคมอาเซียน,ส่งเสริมการส่งผ่านความยุติธรรมสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค,เร่งรัดพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการปฏิบัติงานตามวิสัยทัศน์ของกรมบังคับคดี รวมถึงการทำหน้าที่ตามคำสั่งศาลในฐานะหน่วยงานกลางทั้งการบังคับคดีทางแพ่ง คดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือการชำระบัญชีและการวางทรัพย์ เป็นต้น โดยเฉพาะภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กรมบังคับคดีได้ดำเนินภารกิจการป้องปรามด้านยาเสพติดให้เข้มแข็งตามนโยบายของคสช. โดยสัปดาห์นี้(18-22 ส.ค.)จะหารือกับนายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามคดียาเสพติด (ป.ป.ส.) และอัยการ ซึ่งทาง ป.ป.ส.ที่เป็นเจ้าหนี้หลักต้องชี้นำให้กรมบังคับคดีดำเนินมาตรการทางทรัพย์สิน(ยึด/อายัด)ตามคำสั่งศาล และที่ผ่านมาปี 2556 และปี 2557มีปริมาณคดีเข้ามากว่า 1หมื่นเรื่องมูลค่า 3.2พันล้านบาท กรมบังคับคดีสามารถดำเนินการอายัดและยึดทรัพย์ตามที่ป.ป.ส.นำสืบหรือชี้นำแล้วกว่า 300เรื่อง มูลค่า 164ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีภารกิจตามเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน(ตามคำสั่งที่ 69ของคสช.) นางสาวรื่นวดียังได้กล่าวถึงมาตรการทางการตลาดเชิงรุกว่า กรมบังคับคดีเน้นการอำนวยความสะดวกให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลขายทอดตลาด โดยเปิดประมูลทรัพย์ในวันหยุด(วันเสาร์)เฉพาะสำนักงานที่มีปริมาณคดีค้างจำนวนมาก พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบหรือข้อกฎหมายให้เหมาะกับสถานการณ์และเชิงพื้นที่(ส่วนกลางกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด) เช่น กรมบังคับคดีจะเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (ร่างมาตรา 309จัตวา) ให้การโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยที่ยังคงสิทธิ์ในการได้รับชำระหนี้ค่าส่วนกลางของสำนักงานที่ดิน กระทรวงมหาดไทยจากนิติบุคคลอาคารชุดตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุดพ.ศ.2522 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเคยเสนอมาตั้งแต่ปี 2551 แต่ไม่มีความคืบหน้าทำให้ปัจจุบันอาคารชุดคงค้างในระบบอีกกว่า 26% ดังนั้น จึงคาดหวังว่า การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งจะเพิ่มความคล่องตัวในการระบายอาคารชุดและกฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง "ในแง่ของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนั้น นอกจากระบบการส่งหมาย(เดินหมาย) ผ่านแท็บเลตหรือสมาร์ทโฟนพร้อมบริการต่างๆแล้วในอีก 10เดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีระบบบังคับคดีล้มละลายเช่นเดียวกับการบังคับคดีแพ่ง ทั้งนี้กรมบังคับคดีจะมีงบประมาณรายจ่ายต่อปีเฉลี่ย 800-900ล้านบาท ขณะที่ผลการนำส่งรายได้แผ่นดิน 10เดือนของปีนี้ ประมาณ 1.33พันล้านบาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมา 3ปีย้อนหลัง(2554,2555และ 2556)นำส่งรายได้แผ่นดิน 2.5พันล้านบาท , 1.9พันล้านบาทและ 1.53พันล้านบาทตามลำดับ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,975 วันที่ 17 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557