นายทุนป่วน คสช.สั่งมหาดไทยออกประกาศราคากลางค่าเช่านาทั่วประเทศเป็นรายภาค บีบลดค่าเช่าลงอีก 200-600 บาทต่อไร่ ตะลึง! ค่าเช่านาภาคกลางรายปีสูงลิ่ว 700-5 พันบาทต่อไร่ จี้รื้อกฎหมายเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ สร้างความเป็นธรรม 2 ฝ่ายเป็นวาระเร่งด่วน วงในปูด "นายทุนศักดินา-นายทุนใหม่" มีที่นาเป็นหมื่นเป็นแสนไร่เลี่ยงกฎหมายมัดมือชกหาผลประโยชน์ชาวนา
จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี 2557/58 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 โดยในส่วนของมาตรการหลักซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนคือการลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตและบริการให้ได้ไร่ละ 432 บาท โดยย้ำถึงมาตรการสำคัญคือการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดราคาปุ๋ยเคมีลงไร่ละ 40 บาท สารเคมีลดราคาขั้นต่ำลงไร่ละ 20 บาท (เริ่ม 2 ก.ค.57) ค่าเมล็ดพันธุ์ลดลงไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวลดราคาลงไร่ละ 50 บาท และค่าเช่านาลดราคาลงไร่ละ 200 บาทนั้น++จี้ผู้ว่าฯขับเคลื่อนนโยบายคสช. ล่าสุดแหล่งข่าวกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าภารกิจการลดต้นทุนการผลิตโดยควบคุมค่าเช่านาว่า ล่าสุดทางกระทรวงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและกำกับการลดต้นทุนการผลิต ระดับจังหวัด และดำเนินการควบคุมค่าเช่านาในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยให้พิจารณาดำเนินการลดค่าเช่านาจากราคาค่าเช่านาปัจจุบันไร่ละไม่น้อยกว่า 200 บาท และในกรณีที่พบว่าอัตราค่าเช่านาในพื้นที่มีอัตราที่สูง ให้ดำเนินการเพื่อลดอัตราค่าเช่านาลงมากกว่า 200 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ในการกำหนดราคากลางค่าเช่านานั้น ให้ทางจังหวัด มอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจค่าเช่านาในแต่ละท้องที่ให้มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงราคาที่สามารถลดลงได้ หากในพื้นที่ใดราคาสูงเกินไปจะต้องแจ้งเหตุผลในการพิจารณาด้วยว่าเป็นเพราะอะไร อย่างไรก็ดีเรื่องค่าเช่านานี้ไม่สามารถกำหนดเป็นค่าเฉลี่ยรายจังหวัดได้ เพราะในสภาพข้อเท็จจริง แต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ทั้งในเขต และนอกเขตชลประทาน ราคาค่าเช่านาจึงแตกต่างกันมาก ดังนั้นเพื่อให้สอดรับกับสภาพการณ์ดังกล่าว จึงมีการกำหนดอัตราค่าเช่านาเป็นราคากลางรายภาค มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 (ดูตารางประกอบ) โดยจากข้อมูลของกรมการปกครอง ระบุอัตราค่าเช่านา ณ ปัจจุบัน นาเช่าภาคกลางมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าเช่ารายปีสูงสุด ที่ 700-5 พันบาทต่อไร่ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานเฉลี่ยที่ 500-4 พันบาทต่อไร่ ภาคเหนือเฉลี่ย 1-2.5 พันบาทต่อไร่ และภาคใต้เฉลี่ย 1 พันบาทต่อไร่ ทั้งนี้เฉลี่ยทุกภาคสามารถปรับลดลงได้อีก 200-600 บาทต่อไร่ โดยอัตราค่าเช่านารายปีที่เหมาะสมของภาคกลางควรอยู่ที่ 900-1.5 พันบาทต่อไร่ ภาคอีสาน 500-1.2 พันบาทต่อไร่ ภาคเหนือ 800-1.2 พันบาทต่อไร่ และภาคใต้ 800 บาทต่อไร่ "ในข้อเท็จจริงภาคใต้ ส่วนใหญ่จะไม่มีการเช่านา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าของที่ดินมีที่ดินไม่มาก และเคยเป็นเกษตรกรแต่ชราภาพ จึงให้ผู้อื่นเช่านา โดยเจ้าของนาสนับสนุนค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และเครื่องมือทางการเกษตร ผู้เช่าจะลงแรงอย่างเดียว แล้วจะนำผลผลิตแบ่งกันในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือ 1 ต่อ 2 ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางตำบลค่าเช่านาสูงลิ่วเนื่องจากอยู่ในเขตชลประทาน มีการแย่งกันทำนาจำนวนมาก จึงทำราคาค่าเช่านาสูงตามด้วย" แหล่งข่าว ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การกำหนดราคากลางค่าเช่านานั้น จะให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล ) เป็นผู้กำกับดูแล ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม พ.ศ.2524 จะมีกำหนดลงโทษนั้น มาตรา 60 ผู้ใดแจ้งข้อความหรือแสดงข้อโต้แย้ง หรือข้อคัดค้านอันเป็นเท็จต่อ คชก.ตำบล ในการทำหนังสือหลักฐานการเช่านาตามมาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำและปรับ และในมาตรา 61 ผู้ใดเรียกหรือรับค่าเช่านาเกินอัตราค่าเช่านาขั้นสูงที่ คชก.ตำบลกำหนด หรือเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ++แฉนายทุนเลี่ยงก.ม.จ้างแทนเช่านา นอกจากนี้แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่รายงานล่าสุด ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ได้มีเจ้าของนามาขึ้นทะเบียนทั่วประเทศแล้ว จำนวน 3.34 แสนครัวเรือน ส่วนผู้เช่านา (ชาวนา) จำนวน 3.16 แสนครัวเรือน ยังเหลืออีก 50% โดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้มาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในโครงการปี 2556/57 ระบุว่ามีเกษตรกรที่เช่านา จำนวน 6.11 แสนราย มีพื้นที่ทั้งหมด 11.7 ล้านไร่ (จากจำนวนชาวนาทั้งประเทศ 3.5 ล้านครัวเรือน พื้นที่ปลูก 20.9 ล้านไร่ ) อย่างไรก็ดีมีปัญหาโดยเฉพาะในแถบภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท และนครสวรรค์ ส่วนใหญ่เป็นนายทุนใหม่ และนายทุนศักดินา ที่มีพื้นที่กระจายอยู่ตามจังหวัดนี้ รวมกันเป็นหมื่นไร่ แสนไร่ แล้วจ้างชาวนา ดูแลนา ซึ่งไม่สามารถบังคับได้กับกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นการเลี่ยง ทำให้ชาวนาเสียเปรียบ "การเช่านาของชาวนาส่วนใหญ่ 90%จะไม่มีการทำสัญญาเช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือสัญญาเช่าไม่สมบูรณ์ มีการเลี่ยงโดยทำเป็นการจ้างดูแลนา ไม่มีการระบุอัตราค่าเช่า จำนวนปีที่เช่า และราคาค่าเช่าก็ขึ้นกับราคาข้าวเป็นหลัก ส่งผลทำให้เกษตรกรต้องยอมรับข้อกำหนดต่างๆ จากผู้ให้เช่า และถึงแม้ว่าจะออกมาในรูปแบบกฎหมายบังคับใช้แล้วก็ตามถ้ามองในแง่กฎหมายชาวนาได้เปรียบ แต่ชาวนาจะเสียเปรียบเชิงพฤติกรรม"++สั่งรื้อกฎหมายใหม่ สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯ พ.ศ.2524 นั้น ทางคสช.ได้บรรจุเป็นวาระเร่งด่วน โดยทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมการปกครอง ดำเนินการระดมความคิดเห็นทุกพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัด ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อระดมความคิดเห็นในการแก้กฎหมายเพื่อให้เป็นธรรมระหว่างเจ้าของและผู้เช่านา จะเริ่มต้นเดือนกันยายนนี้ จะใช้เวลาให้เร็วที่สุด หลังจากนั้นจะนำข้อเสนอต่างๆ มาทบทวนร่างกฎหมาย พร้อมแก้ไข แล้วนำเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะนำเสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากพิจารณาเห็นชอบจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ทันที โดยในสาระเดิมของข้อกฎหมายนั้นอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างเจ้าของที่นากับผู้เช่าในหลายประการ เช่น ระยะเวลาการเช่านานาน 6 ปี ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่เจ้าของที่นาที่ไม่สามารถจะนำที่ดินของตนเองไปใช้ประโยชน์อื่นได้ในเวลาที่ต้องการ หรือเงื่อนไขของกฎหมายเดิมเมื่อเจ้าของที่นามีความประสงค์จะขายที่นาที่มีการเช่าจะต้องดำเนินการแจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนและต้องให้สิทธิผู้เช่านาเป็นผู้ซื้อก่อน หรืออัตราค่าเช่านาไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ จะคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเดิมที่ชาวนาจะได้รับและเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าของที่ดินในการปล่อยเช่าที่นา แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่พยายามหลายรัฐบาลแล้วไม่สำเร็จ++งง ไม่เคยทำสัญญามาก่อน ทายาทเจ้าของนาผืนใหญ่รายหนึ่ง กล่าวถึงสัญญาเช่านาว่า ไม่แน่ใจว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่เคยมีสัญญาเช่าหรือไม่ เพียงแค่บอกว่านานี้มีใครเป็นคนเช่า มีการทำกี่ไร่ แล้วทางผู้เช่าจะโอนเงินมาให้ทางธนาคาร เป็นอย่างนี้หลายสิบปีแล้ว โดยจะคิดเป็นต่อครั้ง ลักษณะจะเป็นการแบ่งจากเปอร์เซ็นต์ผลผลิต คือถ้าผลผลิตเสียหาย เช่นน้ำท่วม เจ้าของนาจะไม่ได้ แต่ถ้าผลผลิตดี เจ้าของนาก็จะได้มากเช่นกัน ส่วนเงินชดเชยก็จะยกให้ชาวนา ยอมรับว่างง เพราะไม่ได้ติดตามข่าวเลย แต่อยู่ๆ ทางครอบครัวก็แจ้งว่า ทางองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ให้มาทำสัญญาเช่าใหม่ ตามคำสั่งของ คสช. อย่างไรก็ดีทางผู้สื่อข่าวได้สำรวจค่าเช่านา ก่อนที่จะมีมาตรการ คสช. ออกมา พบว่าใน จังหวัดนครสวรรค์ ค่าเช่านาเฉลี่ย 1.5 พันบาทต่อไร่ต่อปี สุพรรณบุรี นอกเขตชลประทานไร่ละ 800-1 พันบาทต่อไร่ต่อปี ในเขตชลประทานไร่ละ 1.5 พันบาทต่อไร่ต่อปี พิจิตรไร่ละ 1 พันบาทต่อรอบการผลิต ปทุมธานี ไร่ละ 1.5 พันบาทต่อไร่ต่อปี พิษณุโลก นอกเขตชลประทานไร่ละ 1.2 พันบาทต่อรอบผลิต นครนายกคิดไร่ละ 10-15 ถัง ราคาขึ้นลงตามราคาข้าวเปลือก แต่จ่ายเป็นเงินสด ด้านนายทวีศักดิ์ วีระศักดิ์ ประธานชมรมชาวนาเกษตรกรอินทรีไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึง ค่าเช่านา นั้นไม่ได้ลดลงจริง ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย( 9 ก.ค.57) โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถ้าเราไปต่อรองหรือเรียกร้องกับเจ้าของนามากเกินไป ก็จะไปเจรจากับผู้เช่านารายอื่นแทนทันที
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,975 วันที่ 17 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557