โดนอีก! ทวงคืนผืนป่า โฉนดชุมชนตรังถูกยึดพื้นที่โดยอุทยานฯ กสม.เตรียมลงดูข้อมูล หลังได้รับร้องเรียน เจ้าหน้าที่รัฐติดป้ายไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน หวั่นคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 ทำพิษ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดร้อง คสช.เดินตามนโยบายดีๆ ของรัฐบาลเดิม
13 ส.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวความคืบหน้ากรณีชาวบ้านชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง จ.ตรัง ถูกคำสั่งทางปกครองลงวันที่ 18 มิ.ย. 2557 ให้รื้อถอนบ้าน และสวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ออกจากพื้นที่ทับซ้อนเขตอุทยานเขาปู่เขาย่าว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีการปักป้ายตรวจยึดพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการรื้อถอน เนื่องจากมีการเจรจาในระดับจังหวัด
ทั้งนี้ คำสั่งทางปกครองลงนามโดยนายอิศราพันธ์ บุญมาศ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ให้รื้อถอนต้นยางพาราของ 2 ครอบครัว คือครอบครัวของนายสมคิด กันตังกุล และนางสุทิศา นิคะ กับครอบครัวของนายสนอง และนางบุญเรียง มะยุรี โดยครอบครัวของนายสมคิด กันตังกุล และนางสุทิศา นิคะนั้นโดนคำสั่งทางปกครองให้รื้อถอนบ้าน และถูกดำเนินคดีอาญาข้อหายึดถือครอบครองที่ดินรวมถึงก่อสร้าง แผ่วถาง เผาป่าฯ ด้วย ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นอัยการ
อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังคงยืนยันว่า ได้มีการบุกเบิกใน พ.ศ.2510 ต่อมาจึงมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ใน พ.ศ.2525 โดยยังมีร่องรอยการทำกินมายาวนาน อาทิ ตอยางพาราขนาด 1-2 คนโอบ หลายร้อยต้น
ส่วนวันพรุ่งนี้ (14 ส.ค. 2557) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริง หลังจากเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กสม.ได้ประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง จากกรณีที่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ร่วมกับเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และชาวบ้าน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ได้ยื่นคำร้องต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 ที่ระบุว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรามปราบและจับกุมผู้ที่บุกรุกและทำลายสภาพป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายบุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ดำเนินงานโฉนดชุมชนภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีมติ ครม.รองรับ ตั้งแต่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาจนถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกทั้งการรังวัดขอบเขตพื้นที่โฉนดชุมชนก็มีตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เข้าร่วม แต่สถานการณ์ปัจจุบันมาตรการที่คำนึกถึงสิทธิชุมชนดังกล่าวไม่ถูกนำมาปฏิบัติ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับอาศัยการตีความคำสั่งฉบับที่ 64 และ 66 ของ คสช.มาเร่งดำเนินคดี ติดตามจับกุม และขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่
ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวด้วยว่า หากมองในแง่ดี คสช.อาจมีเจตนาดีในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แต่อาจไม่มีประสบการณ์เรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และไม่รู้มิติความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับทรัพยากร เพราะดูแลแต่เรื่องความมั่นคง ทำให้ห่วงกังวลว่าข้าราชการประจำอาจอาศัยจังหวะนี้ที่ คสช.มีอำนาจ มาสร้างความเดือดร้อน วุ่นวายให้กับประชาชน
หาก คสช.ยังไม่แก้ไขปัญหา ปล่อยให้ประชาชนต้องรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่เปิดโอกาสการมีส่วนร่วม ก็เหมือนกับเป็นการเอามันราดรดบนกองไฟ คนที่เคยเป็นแนวร่วมกับ คสช. ก็อาจลุกขึ้นมาต่อต้านได้ สุดท้ายความชอบธรรมในการยึดอำนาจก็จะไม่มีเหลืออยู่เลย
สำหรับข้อเสนอต่อปัญหาเร่งด่วน นายบุญ กล่าวว่า อยากให้คดีความต่างๆ ในพื้นที่โฉนดชุมชนที่อยู่ระหว่างกระบวนการแกไขปัญหานั้นชะลอไว้ก่อน และให้ชะลอการบังคับใช้ มาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่ให้รื้อถอน ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านในพื้นที่พิพาท ส่วนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน อยากให้มีการผลักดันให้เดินหน้าต่อ และให้ทบทวนนโยบายที่ส่งผลกระทบ ไม่เช่นนั้นคงไม่อาจคือความสุขให้ประชาชนได้อย่างแน่นอน
“ฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ คสช.ประกาศให้ชัดว่าให้สิทธิชุมชน โฉนดชุมชน เดินหน้าต่ออย่างเร่งด่วน” ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าว โดยระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในนโยบายดังกล่าว แม้จะเคยได้ยินกระแสข่าวว่าจะมีการเดินหน้าและทำให้ดีกว่าเดิม แต่ไม่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรรับรอง
ที่มา : ประชาไท วันที่ 14 ส.ค. 2557