ระบุประกันภัยนาข้าวเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคตภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
9 ส.ค. 2557 เมื่อไม่นานมานี้โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สกว. จัดการประชุมเวที สกว. เรื่อง “ระบบประกันภัยนาข้าวไทย: สถานะความก้าวหน้าและประเด็นเชิงนโยบาย” ณ ห้องประชุม สกว. เพื่อนำเสนอข้อมูลจากการวิจัยที่เกี่ยวกับระบบการประกันภัยนาข้าวของไทย เพื่อที่จะเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการประกันภัยนาข้าวเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคตภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รศ. ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้เกิดระบบการประกันภัยนาข้าวที่เป็นธรรมและยั่งยืนนั้นต้องมองบนหลักพื้นฐานว่า บริษัทขายประกันภัยนาข้าวต้องมีกำไรมากพอและขายได้เป็นแรงจูงใจ ขณะที่ชาวนาผู้ซื้อประกันภัยให้นาข้าวต้องมีค่าเบี้ยประกันราคาถูกและได้ค่าสินไหมมาก ทั้งนี้ผลการวิจัยเรื่อง “ความเป็นไปได้ทางการตลาดและทางวิทยาศาสตร์ของการประกันภัยนาข้าวแบบใช้ดัชนีในประเทศไทย” ใน 14 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ขอนแก่น สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ ยโสธร สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง พบว่าการพัฒนาระบบประกันภัยนาข้าวแบบใช้ดัชนีสำหรับชาวนาในประเทศไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับวิธีคิดของกลุ่มคน 3 ระบบ คือ การเมือง ธุรกิจ และสังคมของชาวนาเอง จากมิติที่นำมาใช้ในการพิจารณาตัวแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยนาข้าวซึ่งประกอบด้วย ภัย ดัชนี เวลา พื้นที่ ค่าสินไหม และค่าเบี้ยประกัน สรุปได้ว่าการพัฒนาระบบประกันภัยนาข้าวในเชิงธุรกิจควรเริ่มต้นที่ภัยแล้งก่อนเพราะโอกาสเกิดภัยแล้งตามธรรมชาติไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ ขณะที่การเกิดอุทกภัยตามธรรมชาตินั้นมักเกิดเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ผู้ซื้อประกันให้ที่นาจึงจะกระจุกอยู่เฉพาะพื้นที่ประสบภัย การใช้เหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงมาเป็นดัชนีบ่งชี้การเกิดภัยแล้งจะช่วยให้การจ่ายเงินสินไหมรวดเร็วขึ้น อีกทั้งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดปัญหาศีลธรรมได้ดีกว่าใช้วิธีให้คนเดินสำรวจความเสียหาย
“ระยะเวลาคุ้มครองควรอยู่ที่ 63 วัน เพราะเป็นช่วงที่ต้นข้าวขาดน้ำไม่ได้ ทั้งนี้เกษตรกรสนใจซื้อประกันภัยแล้งมากในสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนมิถุนายน ส่วนประกันอุทกภัยสนใจซื้อมากในสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนสิงหาคม การประกันภัยแล้งจึงเหมาะกับนาปีซึ่งเริ่มในเดือนมิถุนายนมากกว่านาปรัง เพราะค่าเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นตามโอกาสเกิดภัยและจำนวนต้นทุนความเสียหายที่เกษตรกรต้องการคุ้มครอง การคำนวณเบี้ยประกันภัยจึงควรเริ่มที่ค่าสินไหมที่คิดจากต้นทุนก่อนที่คิดจากรายได้ ซึ่งค่าเบี้ยประกันที่เกษตรกรรับได้สูงสุดอยู่ที่ราคาไม่เกิน 150 บาทต่อไร่ ปัจจุบันแม้สามารถนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) มาเป็นเครื่องมือช่วยในการคำนวณและจัดโซนค่าเบี้ย แต่เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารทำความเข้าใจกับเกษตรกร ในระยะเริ่มต้นจึงควรใช้ค่าเบี้ยเหมือนกันทุกพื้นที่ไปก่อน”
ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์พบว่า การประกันภัยแล้งแบบใช้ดัชนีจำเป็นต้องมีการทดลองตรวจสอบว่าสอดคล้องกับความเสียหายของผลผลิตจริง ๆ ในระดับแปลงตามความแตกต่าง เช่น สภาพดิน พันธุ์ข้าว ฯลฯ และแม้ว่าจะใช้สถิติ 30 ปีมาคำนวณความน่าจะเป็นของการเกิดภัยได้ แต่ความแม่นยำอาจจะต่ำเพราะภูมิอากาศปัจจุบันแปรปรวนสูงมาก ขณะที่ในทางการตลาดรัฐต้องจูงใจเกษตรกรด้วยการจ่ายเงินสมทบค่าเบี้ย และหามาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรซื้อประกันอย่างน้อยร้อยละ 70 ของเนื้อที่นาทั้งประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงขาดทุนของธุรกิจประกันภัย เช่น ลดค่าเบี้ยในปีถัดไป หรือจ่ายคืนบางส่วนเมื่อทำประกันครบจำนวนปีที่กำหนด ตลอดจนเชื่อมโยงการประกันภัยเข้ากับนโยบายของรัฐในการช่วยเหลือด้านความเสี่ยงเรื่องราคาข้าว และที่สำคัญที่สุดคือส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจการประกันภัยผลผลิตและปรับทัศนคติต่อการจัดการความเสี่ยงแบบพึ่งพาตนเอง ซึ่งหากระบบประกันภัยเข้มแข็งดีพอแล้วอาจให้เกษตรกรสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองต้นทุนหรือคุ้มครองรายได้
ขณะที่ ผศ. ดร.จตุรพร รักษ์งาร กล่าวว่า การทำงานร่วมกับเกษตรกรจะต้องเริ่มต้นด้วยการสื่อสารกับชุมชนเกษตรกร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตัวเกษตรกรเองมักสนใจ “ตัวบอก”ข้อมูลข่าวสารมากกว่า “ตัวแบบ” ผลิตภัณฑ์ประกันภัย ที่ผ่านมารัฐใช้กลไก ธ.ก.ส.เป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพราะความใกล้ชิดกับเกษตรกรและเข้าใจเรื่องประกันภัยพืชผลก่อนหน่วยงานอื่น แต่ก็ควรจะมีกลไกที่เป็นระบบมารองรับการขับเคลื่อนงานในลักษณะนี้ ในระยะแรกจึงจำเป็นต้องอาศัยภาคีร่วมขับเคลื่อนระดับพื้นที่ ทั้งนักวิชาการ ส่วนราชการ ภาคธุรกิจ และผู้นำเกษตรกร ผ่านกระบวนการเวทีชุมชนควบคู่ไปกับสื่อประชาสัมพันธ์ที่เน้นการเข้าถึงชุมชนชาวนาด้วยวิธีการฟังมากกว่าการเขียนอ่าน
คุณสมบัติของเกษตรกรผู้เอาประกัน ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานเกษตรจังหวัด มีพื้นที่นาที่ทำประกันภัยอยู่ในจังหวัดที่ขึ้นทะเบียน ในรัศมี 25 กม. จากสถานีวัดน้ำฝนอ้างอิง และต้องซื้อความคุ้มครองก่อนวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ 30 วัน ข้อกำหนดในการชดเชยสินไหมทดแทน คือ จะจ่ายเมื่อค่าดัชนีบ่งชี้ว่าเกิดภัยแล้งขึ้นในระยะเวลาคุ้มครอง และหากจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้วให้ถือว่าการประกันภัยสิ้นสุดทั้งฉบับ ไม่มีความคุ้มครองในระยะเวลาเอาประกันที่เหลือ โดยมีเงื่อนไข คือ กรรมสิทธิ์ของพืชผลในพื้นที่เอาประกันให้ถือว่าเป็นของผู้เอาประกันภัย บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 20 วัน นับจากได้รับหลักฐานดัชนีของสถานีอ้างอิงที่ครบถ้วนและถูกต้องแล้ว โดยใบรับรองประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันแต่ละรายไม่สามารถบอกเลิกได้ระหว่างระยะเวลาคุ้มครอง
ด้าย รศ. ดร. พัชรินทร์ สิรสุนทร เสนอว่าไม่ว่าจะเลือกนโยบายใดก็ตามจะต้องมีกระบวนการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรอย่างเป็นกระบวนการ ระบบการประกันภัยธรรมชาติแก่เกษตรกร ควรอยู่ในรูปของระบบการประกันความเสี่ยงที่บูรณาการทั้งด้านองค์กรภาคีความร่วมมือ ทรัพยากร และทุน และควรเป็นระบบที่ผสมผสานแนวคิดหลักๆ 3 ประการ คือ ระบบรัฐสวัสดิการ ระบบประกันภัย และกองทุนฯ หากภาครัฐจะใช้ระบบการประกันภัยแบบดัชนีแทนการสำรวจด้วยคน ควรให้ตัวแทนของภาคปะชาชนที่อยู่ในรูปของคณะกรรมการฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาสิทธิประโยชน์และค่าชดเชยที่วางอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่องการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติจากธรรมชาติที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
“ผลการศึกษาสรุปได้ว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยที่ประเทศไทยควรมีระบบประกันภัยนาข้าวแบบสมัครใจ โดยรัฐช่วยสมทบค่าเบี้ยประกันบางส่วนให้กับชาวนา ผ่านการจัดตั้งกองทุนปรับตัวแบบบริหารงบประมาณร่วมที่มีคณะกรรมการมาจากทุกภาคีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าข้าว เพื่อร่วมกันบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ” รศ. ดร.ชฎากล่าวสรุป
ที่มา : ประชาไท วันที่ 9 ส.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.