เช้าวันนี้ (6 ส.ค.57) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดให้จัดทำร่างแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติการในส่วนของตนเอง ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผน และเป้าหมายที่กำหนดในแนวทางเดียวกันคือ การพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของประเทศเหลืออยู่เพียง 31.57% ในการนี้ กอ.รมน. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดทำร่างเอกสารดังกล่าว และปัจจุบัน หน.คสช. ได้อนุมัติให้มีผลบังคับใช้แล้ว สรุปได้ดังนี้
วัตถุประสงค์ของแผนแม่บทฯ 3 ประการคือ เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกครอบครองให้ได้ตามที่เป้าหมายกำหนดไว้ภายใน 1 ปี เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน ภายใน 2 ปี และเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศให้มีสภาพที่สมบูรณ์ ภายใน 2–10 ปี
การดำเนินการ ใช้ “ยุทธศาสตร์พิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้” 4 ยุทธศาสตร์ (ยุทธศาสตร์ 4 ป) 17 กลยุทธ์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ยุทธศาสตร์ปลุกจิตสำนึกรักผืนป่าของแผ่นดิน ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าไม้อย่างยั่งยืน กลไกในการขับเคลื่อน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักจัดทำแผนปฏิบัติการให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแผนแม่บท โดยประสานการปฏิบัติกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) และคณะกรรมการแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) พร้อมกันนี้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนและโครงการในการดูแลประชาชนในพื้นที่ป่าและพื้นที่รอบป่า ให้มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละกระทรวง ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท และเสนอต่อ คสช. เพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันให้ กอ.รมน. จัดงบประมาณเพื่อบูรณาการ ประสานงาน และขับเคลื่อนกลไก เสริมการปฏิบัติงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปราม หรือหน่วยเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้และที่ดินทำกิน ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมีระบบฐานข้อมูลและแผนที่เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินงานตามแผนแม่บท ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสัมฤทธิผล ตามห้วงเวลาที่กำหนด รายละเอียดอื่นๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ศปป.4 กอ.รมน. (www.isoc04.go.th)
ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ วันที่ 6 ส.ค. 2557