ผลศึกษาระยะแรก ผู้วิจัยเสนอรัฐบาล-สถาบันการเงินทบทวนนำที่ดินเกษตรกรมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ชี้มีแนวโน้มสูงเกษตรกรสูญเสียที่ดิน ยันปัญหาหนี้เกษตรกรต้องแก้ต้นทางไม่ปล่อยให้หนี้พอกจนถูกดำเนินคดี ถูกยึดที่ดิน ขายทอดตลาด
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Action Links:LocalAct ) ร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลการศึกษาระยะแรกโครงการวิจัย “นโยบายภาครัฐและบทบาทของสถาบันการเงินต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย” พบว่า การถูกยึดที่ดินของเกษตรกรรายย่อยเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับกลไกแก้ปัญหาหนี้ของรัฐ เช่น โครงการปรับโครงสร้างหนี้พักชำระหนี้ลดอัตราดอกเบี้ย และการตั้งกลไกช่วยเหลือหนี้เกษตรกร ที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอทำได้แค่ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ไม่ได้แก้หนี้เกษตรกรแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สุดท้ายรัฐต้องแบกรับภาระหนี้ที่หนักอึ้งในขณะที่เกษตรกรก็ไม่สามารถรักษาที่ดินไว้ได้
นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวถึงการถูกยึดที่ดินของเกษตรกรรายย่อย มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยสูงหนี้ จากสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนที่เกษตรกรถูกฟ้องให้ล้มละลายหรือขายที่ดินทอดตลาด รวมทั้งการกว้านซื้อที่ดินจากนายทุนที่เป็นแรงกดดันให้เกษตรกรสูญเสียที่ดิน
"งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า หนี้ในระบบส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยเกี่ยวข้องโดยตรงกับมาตรการของรัฐ และบทบาทของสถาบันการเงิน โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเอาที่ดินไปจำนองและขายฝากไว้กับสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนถึง 30 ล้านไร่"
ด้านดร.เขมรัฐ เถลิงศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เส้นทางการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยเริ่มต้นจากการนำที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่นาหรือที่บ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ระยะที่สอง คือ การผ่อนชำระหนี้ของเกษตรกรซึ่งผูกพันกับที่ดินที่ถูกจำนอง และระยะที่สามคือเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ถูกดำเนินคดีถูกส่งฟ้องศาลและถูกบังคับคดีให้ขายที่ดินทอดตลาดและสูญเสียที่ดินในที่สุด โดยสถาบันการเงินในระบบที่เป็นแหล่งเงินกู้หลักของเกษตรกรคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ถึง 5,473,804 ครัวเรือน หรือร้อยละ 95 ของครัวเรือนเกษตรกร ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการเข้ามาช่วยเหลือโดยให้สิทธิ์เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของรัฐที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและผ่อนชำระนานกว่า สำหรับเกษตรกรที่กู้กับธนาคารออมสินธนาคารกรุงไทยและธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เมื่อคิดเป็นสัดส่วนก็ยังไม่มาก
อย่างไรก็ดี แม้จำนวนหนี้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีจนไปถึงขั้นบังคับคดีของธกส.นั้นจัดว่ามีสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อไรก็ตามที่เกษตรกรถูกบังคับคดี เกษตรกรต้องสูญเสียเครื่องมือทำมาหากิน ที่สำคัญที่สุด คือ ที่ดิน ดังนั้นตราบใดที่การกู้ยืมตั้งแต่เริ่มแรกยังผูกติดกับหลักทรัพย์ค้ำประกันในรูปที่ดิน โอกาสในการสูญเสียที่ดินก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดร.เขมรัฐ กล่าวอีกว่า แม้รัฐจะมีมาตรการพักชำระหนี้และมีกลไกช่วยเหลือเกษตรกรอย่างกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และกองทุนหมุนเวียนเพื่อการช่วยเหลือกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) มาตรการเหล่านี้มีข้ออ่อน คือ สามารถทำได้เพียงยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป แต่ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรชำระหนี้ได้ อาทิเช่น มาตรการอัตราดอกเบี้ยต่ำแม้จะช่วยให้โอกาสการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรต่ำลง แต่เมื่อเผชิญกับแรงกดดันเศรษฐกิจอื่น รายได้ไม่มั่นคง เกษตรกรก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่วนมาตรการพักชำระหนี้ทำได้เพียงยืดเวลาการชำระหนี้ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรชำระหนี้ได้ในขณะที่กลไกกฟก.และกชก.อยู่ในภาวะแบกรับภาระหนักช่วยเหลือเกษตรได้น้อย
" ณ เดือนกันยายน 2555 กฟก.สามารถช่วยเหลือซื้อหนี้เกษตรกรจาก สถาบันการเงินได้เพียง 20,451 ราย หรือร้อยละ 4 ของเกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือ 490,653 ราย"
ด้านนางลมัย สมรวย เกษตรกรจากจังหวัดเพชรบุรี อายุ 56 ปี ปัจจุบันมีอาชีพเป็นหมอนวดแผนไทยมีรายได้ต่อเดือนๆ ละ 10,000 บาท เล่าถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่พอต้องไปกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน ต้องหาเงินมาต่อสู้คดี เพราะน้องสาวเอาที่ดินมรดกที่พ่อให้จำนองไว้กับ ธ.ก.ส. 1,500,000 บาท เพื่อออกรถบรรทุกวิ่งรถขนส่งอ้อย ปี 2541 ธ.ก.ส.ได้ยื่นฟ้องให้ชำระหนี้เงินต้น 1,500,000 บาทรวมดอกเบี้ยอีกร้อยละ19 และค่าบริการสินเชื่ออีกร้อยละ 1 บาท จนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 2,127,238 บาท สุดท้ายศาลพิพากษาให้ยึดที่ดินขายตลาด 2 แปลงๆ แรก19 ไร่ และแปลงที่สอง 35 ไร่ มารู้ทีหลังว่าที่ดินถูกขายให้กับลูกค้าที่มานวดในราคา 3,946,585 บาทซึ่งต่ำกว่ามูลค่าที่ดินในความเป็นจริงมาก
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาในระยะแรกทางผู้วิจัยมีข้อเสนอว่า รัฐบาลและสถาบันการเงินควรทบทวนเรื่องการนำที่ดินเกษตรกรมาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ เพราะมีแนวโน้มสูงที่ทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดิน ส่วนมาตรการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรควรดำเนินการตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการกู้หนี้มีระบบรองรับและเตือนเกษตรกรรวมทั้งโอนหนี้เกษตรกรไปบริหารจัดการให้ทันท่วงทีไม่ควรปล่อยให้หนี้พอกพูนจนถึงขั้นเกษตรกรถูกดำเนินคดีซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากแก่การช่วยเหลือส่วนกฟก.และกชก.ควรปรับปรุงประสิทธิภาพลดขั้นตอนการทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้รวดเร็วขึ้นรวมทั้งควรให้น้ำหนักกับการทำงานฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้น
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 3 ส.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.