"คลัง"เตรียมแพ็คเกจจัด"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง-มรดก" เสนอ "คสช." หลังได้รับมอบหมายให้ศึกษาแผนจัดเก็บภาษี เผยโครงสร้างภาษีใหม่กำหนดไว้ 3 อัตรา ระบุที่ดินว่างเปล่าไม่ใช้ประโยชน์มีโอกาสเก็บสูงถึง 2% ขณะที่ภาษีมรดกสามารถจัดเก็บได้เฉพาะที่จดทะเบียนในไทยเท่านั้น
ย้ำแนวทางปฏิรูปภาษียึดกรอบ 3 แนวทาง หวังลดความเหลื่อมล้ำรายได้ เป็นธรรม และสร้างรายได้เข้ารัฐ ขณะที่คสช.ยันต้องดำเนินการในยุคนี้ เชื่อผู้ได้รับผลกระทบมีไม่มาก
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้านี้ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้มาหารือ ถึงนโยบายของคสช. ต่อการจัดเก็บรายได้ และการพิจารณาจัดเก็บภาษีตัวใหม่ โดย คสช. ได้เน้นย้ำถึง 3 หลักการ ต่อนโยบายการจัดเก็บภาษี ประกอบด้วย 1.ต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชาชน 2.สร้างความเป็นธรรม และ 3.สร้างรายได้ให้แก่รัฐ
"แนวทางของการพิจารณาเรื่องภาษีใดๆ นั้น คสช.ให้ความสำคัญมากกับ 3 แนวทางหลัก จากนั้น จึงมาคิดว่า จะใช้นโยบายภาษีตัวใดที่จะตอบโจทย์ต่อ 3 แนวทางดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการจัดเก็บรายได้ ก็ได้เสนอการปรับโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่เดิม และ เสนอภาษีตัวใหม่ให้พิจารณา"
แหล่งข่าวกล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่เดิมนั้น มีบางรายการได้ผ่านการพิจารณา และการอนุมัติจากคสช. ไปบ้างแล้ว ได้แก่ การต่ออายุคงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี หรือจนถึงปี 2558 และกำลังพิจารณาต่ออายุโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในระดับปัจจุบันออกไปอีก 1 ปี หรือจนถึงปี 2558
เก็บภาษีมรดกได้เฉพาะสินทรัพย์จดทะเบียนในไทย
ส่วนการเสนอภาษีตัวใหม่ที่สอดคล้องกับ 3 แนวทางหลักของคสช. คือ การเสนอร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งร่างนี้กระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันมาหลายรัฐบาล โดย คสช. ได้รับไปพิจารณา อย่างไรก็ดี คสช. มีข้อเสนอเกี่ยวกับการพิจารณาจัดเก็บภาษีมรดก และมอบให้กระทรวงการคลังกลับไปพิจารณาด้วย
ในส่วนการจัดเก็บภาษีมรดก กระทรวงการคลัง ยังเห็นว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าว ยังมีช่องว่างอยู่มาก โดยเฉพาะในโลกที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และสินทรัพย์กันอย่างเสรี การจะจัดเก็บรายได้จากส่วนนี้ ถือเป็นเรื่องที่ยาก และอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการจัดเก็บ
“ในทางปฏิบัติแล้ว เราสามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้ จากทรัพย์สินที่มีการจดทะเบียนเท่านั้น ได้แก่ บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หุ้นและตราสารที่จดทะเบียนในประเทศ ส่วนทรัพย์สินที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องยากในการเข้าไปตรวจสอบ แม้แต่เงิน หรือ ทอง ที่เป็นมรดก เราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้มีมรดกมีทรัพย์สินส่วนนี้จำนวนเท่าใด ดังนั้นจึงเห็นว่า กฎหมายนี้ อาจจะยังมีช่องโหว่ ซึ่งสุดท้ายแล้ว อาจจะจัดเก็บรายได้ไม่คุ้มกับทรัพยากรที่เสียไป”รายงานข่าวกล่าว
กำหนดโครงสร้างภาษีใหม่
สำหรับร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น กระทรวงการคลัง ต้องการผลักดันให้มาทดแทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน ที่จัดเก็บได้น้อย และมีความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ดินที่มีมูลค่าสูงเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าที่ดินที่มีมูลค่าต่ำกว่า รวมถึงมีข้อยกเว้นมาก
โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตัวใหม่ จะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกแปลง โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ โดยกำหนดโครงสร้างภาษี ในสามอัตรา ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ เก็บในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เก็บในอัตรา 0.1% และที่ดินเพื่อการเกษตร เก็บในอัตราไม่เกิน 0.05% ทั้งนี้ อัตราจัดเก็บจริงจะขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
ในกรณีที่ที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ความควรแก่สภาพที่ดิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกเก็บในอัตรา 0.05% ของราคาประเมินที่ดิน และ หากยังไม่ใช้ประโยชน์ติดต่อกัน ให้เพิ่มภาษีอีกหนึ่งเท่าในทุกๆ สามปี แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมินที่ดิน
คสช.ยันเก็บแน่ภาษีมรดก-ภาษีที่ดิน
แหล่งข่าวจากคสช. กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวทางคสช.จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม จึงได้ขอให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการกำหนดรูปแบบการจัดเก็บภาษีทั้งในส่วนของภาษีที่ดินและภาษีทรัพย์ ทั้งนี้เห็นว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีก็มีอยู่ไม่มาก จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยรวมมากนัก "เรื่องนี้จำเป็นต้องดำเนินการในช่วงนี้ หากปล่อยให้ผ่านพ้นไปการดำเนินการจะไม่สามารถทำได้"เอกชนหนุนร่างภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างใหม่
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เพราะโดยหลักการแล้ว ถือเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับสากล ซึ่งตามหลักความเป็นจริงผู้ที่มีทรัพย์สินในครอบครองก็ควรต้องเสียภาษี
ร่างภาษีดังกล่าวมองว่า จะช่วยทำให้ฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐกว้างขึ้น โดยเฉพาะกับที่อยู่อาศัย จากเดิมที่ไม่เคยเสียภาษี ก็ต้องเสียภาษี 0.1% ต่อปี เช่น บ้านราคาประเมิน 2-3 ล้านบาท ต้องเสีย 2,000-3,000 บาทต่อปี ซึ่งอัตรานี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อผู้บริโภคมากนัก
ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเสียภาษีน้อยลง จากอดีตที่จ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดิน 12.5% ต่อปี เช่น อาคารสำนักงานย่านสาทรขนาด 1 แสนตารางเมตร ปล่อยเช่า 1 หมื่นตารางเมตร คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท เสียภาษีใหม่เพียง 2.5 ล้านบาท ต่างจากอัตราเสียภาษีเดิมที่รายได้ 100% จากการปล่อยเช่า จะแบ่งเป็นรายได้ 50% แรกเสียภาษีโรงเรือน 6.2 ล้านบาท (จากอัตรา 12.5%) รายได้อีก 50% หลังเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% คิดเป็น 3.5 ล้านบาท เมื่อเทียบเกณฑ์ใหม่ จะเสียภาษีลดลง 5.5 ล้านบาท
เก็บ2%กระทบแลนด์ลอร์ด
ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ทำประโยชน์ 0.05% มองว่าไม่กระทบกับบรรดาเจ้าของที่ดิน นักสะสมที่ดิน (แลนด์ลอร์ด) หรือนักเก็งกำไรที่ดินมากนัก หากพิจารณาราคาที่ดินบางแปลงสูงกว่าราคาประเมินค่อนข้างมาก ทำให้ราคาที่ดินมีมูลค่า หรือให้ผลตอบแทนมากกว่าการจ่ายภาษี แต่หากที่ดินดังกล่าวไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เลย แล้วถูกจัดเก็บเพิ่มขึ้นเท่าตัวไม่เกิน 2% อาจมีผลกระทบบ้าง เช่น แลนด์ลอร์ดที่มีที่ดิน 2 แสนไร่ ราคาซื้อขายจริง 2 แสนบาทต่อไร่ แต่ราคาประเมินจากกรมที่ดิน หรือภาครัฐอยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อไร่ รวมมูลค่าที่ดินดังกล่าว 1 หมื่นล้านบาท ต้องเสียภาษี 5 ล้านบาท ซึ่งไม่กระเทือน แต่หากไม่นำมาใช้ประโยชน์ต้องเสียเพิ่มขึ้นเท่าตัวในอัตรา 2% ต้องจ่ายภาษีมากถึง 200 ล้านบาท แต่เจ้าของที่ดินอาจนำมาใช้ประโยชน์ โดยนำพืชเกษตรไปเพาะปลูกไว้ เพื่อกันการจ่ายภาษีที่สูงขึ้น
"หลักการเห็นด้วยกับร่างภาษีนี้ เพราะเป็นหลักกฎหมายสากล เพื่อให้คนที่ไม่จ่ายภาษี จ่ายภาษีมากขึ้น คนที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าเสียภาษีตามราคาประเมินมากขึ้น แต่ส่วนที่อยู่อาศัย และที่ดินทำการเกษตรยอมรับว่า จะมีภาระเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ ได้แก่ อาคารสำนักงาน ตึกร้าง ห้างค้าปลีกต่างๆ"
ทั้งนี้ต้องการให้ภาครัฐพิจารณายกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ทั้งภาษีที่อยู่อาศัย และที่ดินเพื่อทำการเกษตร เช่น เว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้มีบ้านหลังแรก เกษตรกรที่มีรายได้น้อย มีที่ดินทำการเกษตร 5-10 ไร่ เป็นต้น เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน
เมื่อรัฐปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ก็ต้องการให้พิจารณาลดการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าธรรมเนียมโอนอสังหาริมทรัพย์ด้วย เพื่อลดการซ้ำซ้อนให้ภาคธุรกิจ
แนะเก็บภาษีให้เป็นธรรมทุกฝ่าย
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องการให้ร่างภาษีที่ดินฯจัดเก็บในอัตราที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และจัดเก็บตามความจำเป็น โดยที่ดินที่ใช้ประโยชน์น้อย ควรจัดเก็บในอัตราที่มาก ส่วนผู้ที่นำที่ดินมาใช้ประโยชน์จัดเก็บให้น้อยลง เป็นต้น เพื่อให้เกิดการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์มากขึ้น
การจัดเก็บภาษีควรมีเกณฑ์ หรือมาตรฐานหลายๆ แบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับ ไม่ควรยึดหลักเกณฑ์เดียว แล้วนำไปใช้เฉลี่ยกับทุุกฝ่าย เช่น ผู้ที่ซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรต้องเสียมาก
สรรพากรยันไม่ให้รายได้หายเกินแสนล้าน
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันถึงเป้าจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2557 ว่า จะพยายามไม่ให้รายได้หายไปเกิน 1 แสนล้านบาท จากเป้า 1.89 ล้านล้านบาท หลังจากช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานี้หายไปแล้ว 9.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้ที่หายไปส่วนหนึ่ง เกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดจาก 7 ขั้น เหลือ 5 ขึ้น โดยรายได้หายไปถึง 4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า รายได้หายไป 4.8 หมื่นล้านบาท จากภาคการส่งลงทุน การส่งออก การบริโภคชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลดจาก 30% เหลือ 20% เขากล่าวว่า ผลการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ทำให้รายได้ของกรมสรรพากรลดลง เมื่อบวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้ส่วนนี้ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ โดยทั้งปีกรมสรรพากร คาดรายได้ส่วนนี้จะต่ำกว่าเป้า 2 หมื่นล้านบาท โดยจะจัดเก็บได้ 6 แสนล้านบาท กรมสรรพากรต้องติดตามใกล้ชิดในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เอกชนต้องยื่นภาษีกลางปีในช่วงครึ่งปีหลัง
เป้ารายได้ปีงบประมาณ2558อยู่ที่ 1.96 ล้านล้าน
เขามั่นใจว่า ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แนวโน้มการจัดเก็บรายได้มีสัญญาณเป็นบวกจากช่วงครึ่งปีแรก เห็นได้จากเดือนก.ค.นี้ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นบวก หรือสูงกว่าประมาณการ 1.7% จากช่วงก่อนหน้าติดลบ แสดงว่า การบริโภคมีสัญญาณดีขึ้น จากการที่ประชาชนมีความสุขมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อีกทั้งการค้าขายระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับเป้ารายได้ปีงบประมาณ 2558 ที่ 1.96 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ที่เป็นบวก โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าคาดว่าจะมากกว่า 7 แสนล้านบาท ผลจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น
ขณะเดียวกัน กรมสรรพากรจะมุ่งเน้นการจัดเก็บรายได้บนฐานผู้มีรายได้ต้องเสียภาษี โดยไม่เน้นจำนวนราย ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลการจัดรายได้มีสัดส่วนลดลง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ก.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.