ก้าวที่ 2 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าจ่ายเงินค่าจำนำข้าว ปีการผลิต 2556/2557 ที่ภาครัฐยังค้างจ่ายชาวนาอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท ปลดทุกข์ชาวนาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เข้าควบคุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คลอดแผนปฏิบัติงาน "ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว" ฤดูการผลิตปี 2557/2558 รูปแบบใหม่ ตามนโยบาย คสช.ที่ "ไม่จำนำ หรือไม่ประกันรายได้" ต่อทันที
แผนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ (ตามตาราง) คือ มาตรการเร่งด่วน ที่ดำเนินการทันที นับจากเดือนมิถุนายน 2557 อาทิ มาตรการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และการบริการ ทั้งลดราคาปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ บริการรถเกี่ยว ค่าเช่านา โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี เพื่อดึง"ซัพพลายส่วนเกิน" ออกจากตลาด 2 ล้านตัน ในห้วงเวลาที่ผลผลิตทะลักออกมาปริมาณมาก โดยมีเป้าหมายช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกให้ได้ตันละ 8,500 บาท
ส่วน มาตรการระยะยาว ประกอบด้วย การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ ธนาคารปุ๋ย การโซนนิ่งพื้นที่ปลูก การจัดหาแหล่งน้ำ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้า และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ
สำหรับ "กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ" หรือ กขชช. แม้ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้จัดรับฟังความคิดเห็น "ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ พ.ศ. ..." ขึ้นเป็นครั้งแรก และครั้งเดียว จากนี้ "ชาญพิทยา ฉิมพาลี" อธิบดีกรมการข้าว เตรียมสรุปเสนอต่อ คสช. ในวันที่ 9 สิงหาคม 2557
ตั้งกองทุนหนุนสวัสดิการ
เหตุผลสำคัญของการตั้งกองทุนไม่เพียงใช้ตัดตอนโครงการประชานิยม อย่างโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายต่อกลไกตลาด และสร้างภาระงบประมาณเท่านั้น
แต่ "ข้าว" ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาล มีประชาชน 3.7 ล้านครัวเรือน ยึดอาชีพทำนาทั้งที่ยิ่งนับวัน คุณภาพชีวิตยิ่งแย่ลง
ชาวนาส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี มีฐานะยากจน จบการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาเท่านั้น ไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อยที่มีที่ดินต่ำกว่า 30 ไร่ ทำนานอกเขตชลประทาน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 500-800 กก./ไร่ เทียบกับเวียดนามที่ได้ 900-1,000 กก.ต่อไร่ เพราะไม่สามารถสู้กับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ๆ ได้ ชาวนากลุ่มนี้จึงพึ่งพาแค่ "ราคาจำนำ" เมื่อไม่มี ก็ขาดแรงจูงใจในการผลิตข้าว
ดังนั้นควรให้ความช่วยเหลือชาวนาเร่งด่วน โดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ชดเชยรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือก และให้สวัสดิการให้ชาวนาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และพึ่งพาตัวเองได้
จึงเป็นที่มาของการตั้ง "กขชช." เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงเกษตรฯ สถานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน และมีกรรมการอีก 15 คน ได้แก่ ผอ.สำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าว ด้านชาวนา ด้านกฎหมาย สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ผู้แทนจากองค์กรชาวนา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ เป็นเลขานุการ
อัดฉีดเงินปีแรกหมื่นล้าน
ในเบื้องต้นตั้งวงเงินกองทุนในปีแรก 10,000 ล้านบาท (คิดจากร้อยละ 5 ของมูลค่าของผลผลิตข้าว 30 ล้านตัน) โดยมาจาก 1)รัฐต้องจัดสรรงบประมาณประจำปี ไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท (คิดจากร้อยละ 3 ของมูลค่าของผลผลิตข้าว 30 ล้านตัน) 2)จากเงินอุดหนุนภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น 3)เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ที่บริจาคและดอกเบี้ยและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกองทุน
เป็นที่น่าสังเกตว่าได้มีการวางแผนการใช้เงินงบประมาณตั้งต้น 4,000 ล้านบาท ด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1.อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์สำนักงาน ระบบการดำเนินงานของกองทุนและอื่น ๆ 1,000 ล้านบาท 2.สนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนและองค์กรชาวนา 3,000 ล้านบาท หรือองค์กร องค์กรละ 1 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายค่าเครื่องมือ อุปกรณ์และสิ่งก่อสร้างที่จำเป็น ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวหัวเชื้อ (จ่ายขาดเฉพาะปีแรก) และเงินทุนหมุนเพื่อบริหารจัดการในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย โดยเป็นเงินยืมปลอดดอกเบี้ย 3 ปี
ในส่วนเงินรายจ่ายประจำปี จำนวน 6,000 ล้านบาท จะถูกแบ่งไปช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตประมาณ 5,550 ล้านบาท คิดจากร้อยละ 20 ของปัจจัยการผลิต ให้การช่วยเหลือไม่เกิน 1,500 บาท/ราย การสนับสนุนเงินสมทบดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ 400 ล้านบาท โดยคิดจากจำนวนสมาชิกที่สมัครใจฝากเงินออม ประมาณ 2 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมด 3.7 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 10,000 บาท/ปี และกองทุนสมทบดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 ของเงินฝาก และค่าบริหารจัดการ 50 ล้านบาท
บรรยากาศการรับฟังความเห็นครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งให้ความเห็นว่า ต้องการให้มีผู้แทนของกลุ่มเข้าเป็นกรรมการด้วย เพราะจากร่างเดิมที่มีเพียง 3 ตำแหน่ง แต่กลุ่มเกษตรกรมีมากกว่า 3 กลุ่ม และเห็นควรที่จะกำหนดเกณฑ์คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่แน่ชัด โดยอาจมีผู้แทนผู้ส่งออกและโรงสีข้าวด้วย
ผู้ส่งออกข้าวค้านหวั่นไม่คุ้ม
แหล่งข่าวจากวงการส่งออกข้าวเริ่มกังวลถึงแหล่งที่มาของเงินกองทุนอีก 4,000 ล้านบาท ที่ต้องมาจากข้อ 2)เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน และ 3)จากการบริจาคนั้นยังไม่กำหนดวิธีการที่ชัดเจน หากเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออก (เซอร์ชาร์จ) จากปัจจุบันผู้ส่งออกต้องจ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่าย 0.75% อยู่แล้ว ทำให้เอกชนคิดว่าจ่ายแล้วต้องคุ้มค่า ไม่ใช่ใช้แบบ "อีลุ่ยฉุยแฉก"
เท่าที่ดูแผนการจ่ายเงินที่เปิดร่างออกมายังไม่เหมาะสม เช่น ให้ศูนย์ข้าวชุมชนและองค์กรชาวนา 3,000 ล้านบาท ทั้งที่ศูนย์ข้าวบางแห่งปัจจุบันแทบจะเป็นพิพิธภัณฑ์ กลับได้เงินเท่ากับศูนย์ข้าวอีกแห่งที่มีการกระจุกตัวของเกษตรกรจำนวนมาก และการใช้งบประมาณในค่าบริหารจัดการ อาคารสถานที่ แต่กลับไม่มีรายละเอียดการใช้เงินเพื่อการวิจัยและพัฒนา หรือทำการตลาดให้เห็นเลย เป็นต้น
อีกราวหนึ่งเดือนนับจากนี้ไป ต้องลุ้นว่า คสช.จะหักดิบ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกบังคับใช้ ตีกันการใช้โครงการรับจำนำหรือไม่ หรือจะปรับเปลี่ยนโมเดล "กองทุน" ให้รัดกุม เพื่อผลสัมฤทธิ์ระยะยาวรูปแบบ
ไหนออกมา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 ก.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.