หอการค้าไทยเปิดผลสำรวจสถานภาพหนี้ พบแต่ละครัวเรือนมีหนี้ 219,158 บาท เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน "ธนวรรธน์" ชี้ดำดิ่งสุดรอบ 9 ปี คนแห่กู้นอกระบบเพื่อชำระคืนหนี้เก่า ขณะที่พนันบอลโลกลดฮวบ หลัง คสช.คุมเข้ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ระหว่างวันที่ 14-20 ก.ค.2557 โดยกลุ่มตัวอย่าง 74.8% ระบุว่ามีหนี้ ขณะที่ 25.2% ระบุว่าไม่มีหนี้ โดยหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 219,158 บาท เพิ่มขึ้น 16.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่หนี้สินต่อครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 188,774 บาท สำหรับหนี้ครัวเรือน 219,158 บาท เป็นหนี้ในระบบ 51% และหนี้นอกระบบ 49% โดยมีการผ่อนชำระเดือนละ 13,358 บาท
"ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือว่าแย่ที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจมา โดยอัตราส่วนการเป็นหนี้ที่ 83% ถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี อีกทั้งความสามารถในการชำระหนี้ 83% บอกว่ามีปัญหาการชำระหนี้ ขณะที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนหนี้ที่ 16.1% ถือว่าสูงสุดในรอบ 9 ปี ขณะที่โอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ก็มีมากขึ้น เนื่องจากว่าคนเข้าถึงแหล่งเงินยาก จากการที่แบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้ ทำให้ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้หนี้ ขณะที่คนที่มีบัตรเครดิต ก็จะรูดจนเต็มวงเงิน ชาวนาที่ได้เงินค่าจำนำข้าวไป 9 หมื่นล้านบาท ก็นำไปใช้หนี้ และเหลือใช้บางส่วน ทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวช้า"
นายธนวรรธน์กล่าวว่า จำนวนหนี้ในแต่ละปีพบว่า ปี 2551 หนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 135,166 บาท เพิ่มขึ้น 2.2%, ปี 2552 เฉลี่ย 143,476 บาท เพิ่มขึ้น 14.5%, ปี 2553 เฉลี่ย 151,432 บาท เพิ่มขึ้น 2.6%, ปี 2554 เฉลี่ย 159,432 บาท เพิ่มขึ้น 5.3%, ปี 2555 เฉลี่ย 168,517 บาท เพิ่มขึ้น 5.7%, ปี 2556 เฉลี่ย 188,774 บาท เพิ่มขึ้น 12% และปี 2557 เฉลี่ยครัวเรือนละ 219,158 บาท เพิ่มขึ้น 16.1%
ทั้งนี้ ในการสำรวจครั้งนี้ หลังจากชาวนาได้รับเงินหนี้ค่าจำนำข้าวไปประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีเสียงบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น ศูนย์จึงได้ทำการสำรวจเพื่อต้องการดูว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นอย่างไร ก็พบว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า เพราะภาคครัวเรือนมีหนี้ในระดับสูง โดยหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากผลกระทบจากโครงการรถคันแรก ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อถดถอยลงไป
สำหรับการสำรวจถึงระยะเวลาที่คนเริ่มเป็นหนี้ พบว่า ช่วงปี 2555-2556 มีถึง 36.7% ช่วงปี 2553-2554 มีถึง 20.8% และช่วงปี 2557 มี 18.5% โดยแหล่งเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอันดับแรกคือ นายทุน เพิ่มขึ้น 45% รองลงมา ธนาคารของรัฐ 32.1% โรงรับจำนำ 31.1% ธนาคารประชาชน 28.6% ซึ่งพบว่าการก่อหนี้ 40% มีเฉพาะหนี้ในระบบ 37.2% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ และ 22.8% ระบุว่าเป็นทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
เมื่อสอบถามถึงภาระหนี้ในปัจจุบันเทียบกับอดีตและอนาคต พบว่า ในปัจจุบันเทียบอดีต สำหรับหนี้นอกระบบ มี 46.5% ระบุว่าเพิ่มขึ้น แต่ในอนาคต 1 ปี 63.5% ระบุว่าจะลดลง ส่วนหนี้นอกระบบ 42% ระบุว่า เพิ่มขึ้น ส่วนในอนาคต 66% ระบุว่าจะลดลง
"ที่น่าสนใจคือ วัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน 40% ระบุว่าต้องการใช้ในชีวิตประจำวัน แต่อันดับสอง 17.1% ระบุว่าต้องการนำไปชำระเงินกู้นอกระบบ แม้จะมีสัดส่วนลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 19.7% แต่ถือว่ายังมีอัตราสูง" นายธนวรรธน์กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและผลกระทบจากมหกรรมฟุตบอลโลก โดยก่อนบอลโลก ผลสำรวจพบว่า 63% คนระบุว่าไม่เล่นพนันเลย แต่หลังบอลโลก พบว่าที่ไม่เล่นพนันเลยมีถึง 70% ส่วนเม็ดเงินที่จะสะพัดก่อนบอลโลกจะมีถึง 43,530 ล้านบาท แต่หลังบอลโลกมีแค่ 30,501 ล้านบาท หรือลดลงไป 1.3 หมื่นล้านบาท จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาจริงกับการปราบการพนัน ทำให้พบว่า 99% ระบุว่าไม่มีหนี้เพิ่มขึ้นหลังบอลโลก มีแค่ 1% เท่านั้นที่บอกว่าหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่หนี้เดิมที่มีอยู่ 8%
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ก.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.