ฟังเสียง "เอกชน-นักวิชาการ" วิพากษ์ปฏิรูปโครงสร้างภาษี
หมายเหตุ - กรณีกระทรวงการคลังเตรียมปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ทั้งในเรื่องภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ตลอดจนผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีความเห็นจากนักวิชาการและภาคเอกชนต่อกรณีดังกล่าวดังนี้
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย
ตอนนี้เอกชนตื่นตัวหลังกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ยอมรับว่าเอกชนมีความกังวลและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด การทบทวนภาษีย่อมมีผลกระทบเชิงบวก และเชิงลบ จะกระทบอย่างไร ต้องขอดูในรายละเอียดของแผนการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังก่อน ถึงจะระบุได้ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรกับภาคธุรกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ยอมรับว่าช่วงเทศกาลการแข่งขันบอลโลก กำลังซื้อและเศรษฐกิจในท้องถิ่นไม่ได้คึกคัก โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว ค่อนข้างเงียบเหงา ก็คงต้องรอดูสถานการณ์อีก 2-3 สัปดาห์หากกำลังซื้อไม่ดีขึ้น ก็ต้องศึกษาว่าเกิดเพราะเหตุใด เพื่อนำเสนอทางการต่อไป
การปฏิรูปภาษีเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้คำนึงถึงเรื่อง 1.การลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ควรทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก จะช่วยลดช่องว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายเล็ก ลดการกว้านซื้อที่ดินจนทำให้เกิดภาวะปลาใหญ่กินปลาเล็ก ระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)ให้อยู่รอดมากขึ้น และลดปัญหานายทุน 2.กำหนดอัตราภาษีที่เป็นธรรมเท่าเทียมกันทั้งธุรกิจรายใหญ่และรายเล็ก อาทิ ควรทบทวนการลดอัตราภาษีนิติบุคคล แม้จะปรับลดจาก 30% เหลือ 20% แต่เมื่อพิจารณาจำนวนธุรกิจที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย สัดส่วน 99.6% หรือประมาณ 2.9 ล้านรายเป็นรายเล็ก แม้จะได้ลดภาษีเหลือ 20% ก็ลดหย่อนภาษีได้น้อย หากเทียบกับธุรกิจรายใหญ่ที่มีรายได้เป็นแสนล้านบาท ลดหย่อนภาษีจาก 30% เหลือ 20% ทำให้รัฐสูญภาษี 1 หมื่นล้านบาท น่าจะใช้การออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแทนจะดีกว่า
3.ไม่ควรทบทวนอัตราภาษีที่กระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจไทย เช่น ภาษีป้าย ภาษีท้องถิ่นเหมือนกรณีมีการขยับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท กระทบต่อต้นทุนของธุรกิจอย่างมาก หลายธุรกิจต้องใช้เวลาปรับตัว 1-2 ปี ไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก
ส่วนภาษีบาป เห็นด้วยจะมีทบทวนอัตราภาษีเพื่อลดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ เชื่อว่าไม่ได้กระทบเป็นวงกว้าง แต่ก็ควรระบุให้ชัดเจนว่ารายได้ที่เพิ่มจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีจะนำไปใช้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เกรียงไกร เธียรนุกูล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
แนวทางปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ของภาครัฐ เอกชนมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะมีการหารือเรื่องนี้มานานแล้ว ปัจจุบันอัตราภาษีของไทยที่ใช้อยู่มีความล้าหลัง ไม่เชิญชวนให้เข้าระบบ ขณะเดียวกันยังมุ่งเก็บภาษีกับบางกลุ่มจนมีการกระจุกตัวในกลุ่มนักธุรกิจ ข้าราชการ ในรูปภาษีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ทั้งที่ควรเก็บให้ครอบคลุม อาทิ ธุรกิจที่เงินนอกระบบสูงอย่างผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มนี้มีการซื้อขายหรือเช่าเสื้อวินราคาสูงมาก หรือกลุ่มหาบเร่ แผงลอย ที่บางรายมีการหมุนเวียนสูงมาก หรือธุรกิจของผู้มีอิทธิพล
นอกจากนี้ การปฏิรูปควรมุ่งที่การเก็บภาษีที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินของนักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศบางรายครอบครองที่ดินหลายแสนไร่ ส่วนนี้หากไม่ใช้ประโยชน์ เกิดการลงทุนให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ภาครัฐควรเก็บภาษีในอัตราที่สูง ไม่เช่นนั้นนักธุรกิจประเภทนี้จะเน้นถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไรในอนาคต ถือเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยที่ประเทศไม่ได้ประโยชน์ อีกกลุ่มที่ควรเก็บภาษีในอัตราสูงคือ ภาษีมรดก
การปฏิรูปควรทำให้รอบคอบ และแนวทางหนึ่งที่ควรดำเนินการคือ ทำบัญชีแบล๊กลิสต์กลุ่มผู้ตรวจสอบบัญชีที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อให้การจัดเก็บภาษีของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระบบภาษีของไทยจำเป็นต้องปฏิรูป เพราะปัจจุบันอัตราภาษีบางประเภทสูงและต่ำกว่าความเหมาะสม เช่น อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเตรียมปรับขึ้นหลายครั้งแต่ยังไม่มีการดำเนินการ จนปัจจุบันถือว่าอัตราการจัดเก็บต่ำเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือว่าอยู่ในอัตราสูง ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราปัจจุบันที่ 7% ได้บังคับใช้มาเป็นเวลาพอสมควรและยังมีช่องว่างให้ปรับขึ้นได้แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยจึงควรเลื่อนออกไป นอกจากนี้ยังมีภาษีที่คั่งค้าง เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ที่ควรหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงทิศทางการปฏิรูปที่ชัดเจน เช่น วิธีการลดหย่อน การคำนวณภาษี โทษของการหลีกเลี่ยงภาษี และควรกำหนดกรอบภาษีของภาษีแต่ละชนิดให้ละเอียดและรอบคอบ ว่าจะปรับเพิ่มหรือลดเพื่อให้โครงสร้างภาษีความเป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น หรือเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังต้องสอดคล้องกับการใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคต ควรลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นำภาษีมาใช้ในโครงการเพื่อการหาเสียงและไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะในประเทศที่มีรับสวัสดิการที่ดี มักจะจัดเก็บภาษีได้มากและทำให้ฐานภาษีกว้างมากขึ้น เพราะประชาชนรู้สึกว่าการจ่ายเงินภาษีให้รัฐจะย้อนกลับมาหาตนเองทันที
สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาต่อระบบภาษีไทย คือ จัดเก็บภาษีในอัตราสูงแต่ฐานภาษีแคบ เป็นผลมาจากคนบางส่วนไม่ยอมเข้ามาเสียภาษีเพราะอัตราภาษีสูง เมื่อมีคนกลุ่มเดียวที่คอยเสียภาษีคนเหล่านี้จะรู้สึกว่าเป็นภาระ ขณะที่ภาครัฐนำเงินภาษีมาใช้แบบไม่เกิดประโยชน์ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากภาครัฐกระตุ้นให้ประชาชนอยากจ่ายภาษี ลบวิธีคิดว่าคนรวยมากควรจ่ายมาก แต่ใช้สิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับมาจูงใจจะช่วยให้คนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
อิสระ บุญยัง
กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
ร่าง พ.ร.บ.โครงการสร้างภาษี สิ่งปลูกสร้างและภาษีที่ดิน ที่มีการผลักดันกันมานานนั้น เห็นด้วยกับการดำเนินการจัดเก็บ เนื่องจาก 1.จะทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต.และเทศบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากฐานของทรัพย์สิน สามารถนำงบที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคได้
2.จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารหรือการปกครองส่วนท้องถิ่นกันจริงๆ เพราะทุกบ้าน ที่ดินทุกแปลงต้องเสียภาษี เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้มีการตรวจสอบว่าเงินที่เก็บไป อบต.และเทศบาลนำเงินดังกล่าวไปใช้ทำอะไรบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเหมือนอย่างในปัจจุบัน
3.ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นกฎหมายดังกล่าวมีเจตนากระจายความเป็นธรรม ใครถือครองมากก็ต้องมีภาระมาก จะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์บนที่ดินและเป็นการสร้างมูลค่าให้กับประเทศ ร่างกฎหมายกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีไว้ว่าหากเป็นที่ดินใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรจะจ่ายที่ระดับ 0.05% (คิดจากมูลค่าที่ดิน) หากเป็นการใช้เพื่ออยู่อาศัยจะเก็บในอัตรา 0.1% และหากเป็นเพื่อการพาณิชย์จะเก็บที่ระดับ 0.5% แต่ถ้าหากเป็นที่ดินเปล่าจะเก็บในอัตรา 1% และจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยสูงสุดอยู่ที่ 3%
สำหรับข้อเสียของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ 1.ควรแยกแยะอัตราการจัดเก็บให้มากกว่านี้ เช่น กรณีของอาคารพาณิชย์นั้น ควรจะแยกย่อยไปอีกไม่ควรกำหนดอัตราเดียว เช่นหากเป็นอาคารพาณิชย์ของเอกชน แต่ใช้เพื่อการบริการสาธารณะเช่น เป็นโรงเรียน โรงพยาบาล สถานออกกำลังกายก็ควรคิดในอัตราต่ำกว่า 0.5% ส่วนนี้ควรต้องออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจัดเก็บสำหรับสิ่งปลูกสร้างใช้เพื่อบริการสาธารณะ 2.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีการกำหนดให้มีการเก็บเพิ่มเพียงอย่างเดียว แต่ในข้อเท็จจริงอยากให้มีการกำหนดไว้ 2 ทางคือ เพิ่มหรือลดก็ได้หากมีการทำความดีหรือนำไปสร้างประโยชน์ที่เพิ่มมูลค่า ยกตัวอย่างเช่น ที่พระประแดง เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมหนาแน่นสูงนั้น ก็ควรใช้ภาษีเป็นกลไกในการบล็อกการลงทุน คือหากลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องการก็จะต้องเสียภาษีที่สูง แต่หากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการก็เก็บในอัตราที่ลดลงก็ได้
หรืออย่างกรณีที่ดินย่านหนองหมาว้อ ห่างไกลความเจริญ ก็ต้องเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำเพื่อดึงการลงทุนเข้าไปหรือส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้น
ที่มา มติชน วันที่ 21 ก.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.