ส.ป.ก.ไฟเขียว 6 บริษัทใช้ที่ดินทำเหมืองแร่
นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แถลงหลังจากการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 2/2557 ว่ามติที่ประชุมได้อนุญาตให้บริษัทและบุคคลทั้ง 6 รายสามารถใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ในการทำเหมืองแร่ได้ โดยที่ดินทั้งหมดที่พิจารณาในครั้งนี้มีจำนวนประมาณ 1,060 ไร่ ใน จ.ราชบุรี, จ.กาญจนบุรี, จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุราษฎร์ธานี
การพิจารณาในครั้งนี้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2541 ซึ่งจากอดีตถึงปัจจุบัน เคยมีการอนุญาตไปแล้วกว่า 30 ราย เป็นที่ดินประมาณ 3,000 ไร่ จากที่ดินของ ส.ป.ก.ทั้งหมด 35 ล้านไร่ จึงถือเป็นสัดส่วนน้อยมาก
ซึ่งในการพิจารณา จะต้องมีการประเมินว่าพื้นที่นั้น ๆ "ไม่มี" ความเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม และบริษัทที่ยื่นขอความยินยอมใช้ที่ดินส.ป.ก.จะต้องมีใบประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน ดังนั้นการทำเหมืองแร่ดังกล่าวจึงผ่านการคัดกรองมาแล้วตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น การจัดทำ EIA การรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่
"35 ล้านไร่ที่เรามีไม่ได้เหมาะกับการทำเกษตรกรรมทุกที่ เพราะเป็นที่ดินที่ได้รับมอบมา บางที่ลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม เราก็ไม่ต้องการให้กฎหมายเราไปขัดขวางกฎหมายอื่นที่จะทำประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจประเทศได้มากกว่า"
นายวีระชัยกล่าวว่า พื้นที่ที่อนุญาตให้เอกชนทำเหมืองแร่บางส่วนเป็นที่ดินที่จัดสรรให้เกษตรกรไปแล้ว แต่ถือเป็นส่วนน้อย ซึ่งส่วนนี้จำเป็นต้องเจรจาให้เกษตรกรสละที่ดินคืนแก่ ส.ป.ก. โดยเกษตรกรยังมีสิทธิยื่นขอที่ดินใหม่ได้ ด้านผู้ประกอบการเองก็ต้องเจรจาเพื่อชดเชยเป็นค่าสินแร่ให้กับผู้มีสิทธิทำกินเดิมด้วย
อนึ่ง บริษัทและบุคคลที่ยื่นขอความยินยอมใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ได้แก่ บจก.สินธนันต์, บจก.เหมืองแร่เฟลด์สปาร์ ราชบุรี, นายภคคม ถาวรเจริญสุโข, หจก.ศิลาภูฝ้าย, หจก.ศรีสะเกษเหมืองแร่ และนายพรสิทธิ์ ด่านวนิช ขอใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์, ฟอสเฟต, ไดโลไมต์, หินบะซอลต์, ยิปซั่ม และแอนไฮไดรต์
นายวีระชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ ส.ป.ก.ตั้งเป้าที่จะจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จ 6 หมื่นกว่าราย และหลังจากนี้จะเร่งทำโครงการจัดซื้อที่ดินซึ่ง ส.ป.ก.มีงบประมาณปีละกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถจัดซื้อได้ครบตามเป้าหมายเนื่องจากขาดกำลังคน และกระบวนการจัดซื้อมีหลายขั้นตอน ขณะนี้กำลังดำเนินโครงการจัดซื้อที่ดินอยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี กำแพงเพชร และนครพนม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 ก.ค. 2557