ปุ๋ยสูตรคสช.ขาดตลาด ชาวนาหาซื้อไม่ได้/ผู้ค้าตั้งแง่ไม่ยอมขายราคาควบคุม
มาตรการ คสช.ลดต้นทุนชาวนายังฝุ่นตลบ ร้านค้าปุ๋ยปักป้ายลดราคาตามสั่ง แต่อ้างของหมด เหตุแบกสต๊อกเก่าต้นทุนสูง ต้องเร่งระบายก่อนสั่งล็อตใหม่ ขณะที่ร้านค้าส่งภาคอีสานเผยสองแบรนด์ดัง "กระต่าย-หัววัวคันไถ"แจ้งของหมด คาดปรับสูตรผลิตใหม่ลดต้นทุน 40 บริษัทค้ารายใหญ่ ยันผลิตสินค้าคุณภาพ รับคุมวงการค้าปุ๋ยปลอมไม่ได้ มท.เร่งจัดระเบียบคุมค่าเช่านา ด้านสภาหอฯชง 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปข้าวและชาวนาไทย
กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี 2557/58 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 โดยในส่วนของมาตรการหลักซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนคือการลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตและบริการให้ได้ไร่ละ 432 บาท โดยได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดราคาปุ๋ยเคมีลงไร่ละ 40 บาท สารเคมีลดราคาขั้นต่ำลงไร่ละ 20 บาท (เริ่ม 2 ก.ค.57) ส่วนเมล็ดพันธุ์ลดราคาลงไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวลดราคาลงไร่ละ 50 บาท และค่าเช่านาลดราคาลงไร่ละ 200 บาทนั้น
ปักป้ายราคาใหม่แต่ไม่มีของ ล่าสุด"ฐานเศรษฐกิจ" ได้ตรวจสอบไปยังชาวนาในหลายพื้นที่ พบว่าในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่มาก เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความร่วมมือผู้ผลิตและผู้ค้าทั่วประเทศให้ช่วยลดราคาปุ๋ยเคมีลงจากเดิม 40-50 บาทต่อกระสอบ (50 กก.) และยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช ลดราคาลงจากเดิม 5-10% โดยผู้ค้าปลีกรายย่อยอ้างมีสต๊อกเก่าต้นทุนสูง ไม่สามารถลดราคาลงตามนโยบายของ คสช.ได้ ดังนั้นเมื่อเกษตรกรมาซื้อสินค้าตามป้ายราคาใหม่ที่ปักไว้หน้าร้านจึงอ้างว่าสินค้าราคาใหม่หมด เช่นปุ๋ยตรากระต่าย แต่หากซื้อราคาเก่าก็มีของพร้อมขายให้ สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากร้านจำหน่ายพันธุ์ข้าวรายหนึ่งที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าว กข31 (ปทุมธานี 80)นั้นรับราคาสูงมาแล้ว กิโลกรัมละ 20 กว่าบาท อยู่ ๆ จะมาหักคอให้จำหน่ายกิโลกรัมละ 19 บาทคงทำไม่ได้เพราะขาดทุน แต่หากมีเจ้าหน้าที่มาตรวจจะบอกว่าไม่มี สินค้าหมดแล้ว ซึ่งสินค้าหากขายไม่ได้จะเก็บไว้จำหน่ายช่วงนาปรังดีกว่า
สต๊อกต้นทุนสูงไม่ยอมลด
แหล่งข่าวจากบริษัท เจียไต๋ จำกัด (บจก.) กล่าวว่า ทางบริษัทได้มีหนังสือถึงคู่ค้าให้ช่วยราคาปุ๋ยตามนโยบายของ คสช.ไปแล้ว กรณีที่ร้านค้าปุ๋ยรายย่อย หรือซาปั๊ว อ้างสินค้าหมด และไม่ยอมลดราคาสินค้า เป็นไปได้ว่า ผู้ค้าบางรายยังแบกสต๊อกสินค้าในช่วงต้นทุนสูงไว้จำนวนหนึ่งจึงไม่อยากขายลดราคาเพราะจะขาดทุน แต่หากเกษตรกรยอมซื้อราคาเดิม หรือซื้อในราคาที่ทางร้านยอมลดราคาลงบ้างแต่ไม่ถึง 40-50 บาทต่อกระสอบก็จะมีของให้ ซึ่งบางส่วนเกษตรกรก็ยอมซื้อเพราะเดิมก็ซื้อเงินเชื่อกับทางร้านไว้ ไม่ได้ซื้อเงินสด
"ที่ผ่านมาร้านค้ารายย่อยหรือซาปั๊วที่สั่งซื้อปุ๋ยจากเอเยนต์หรือยี่ปั๊วมี 2 ลักษณะคือซื้อเงินสดแล้วได้ส่วนลด แต่ถ้าซื้อเครดิตหรือเงินเชื่อต้องซื้อราคาสูงขึ้นเช่น ราคาทุน 100 ถ้าซื้อเงินเชื่อจ่ายใน 1 เดือนขายราคา 105 บาท ถ้าเชื่อ 2 เดือนขาย 110 บาท เป็นต้น ที่ผ่านมาจากฝนทิ้งช่วงชาวนาชะลอการทำนา ทำให้ร้านค้าปุ๋ยหลายรายแบกสต๊อกเก่าต้นทุนสูงไว้ส่วนหนึ่ง และยังไม่สั่งของใหม่เพื่อขายในราคาลดลงตามนโยบาย"
ปุ๋ยกระต่าย-หัววัวฯ ของหมด
ขณะที่แหล่งข่าวจากร้านค้าส่งปุ๋ยเคมีรายใหญ่รายหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หลังจากที่คสช.ได้ขอความร่วมมือลดราคาปัจจัยการผลิตตามนโยบายของ คสช. ล่าสุด บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีรายใหญ่ อาทิ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่าย ปุ๋ยตราหัววัวคันไถ และ บริษัท เจียไต๋ จำกัด(บจก.) ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยตรากระต่าย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ชาวนาให้ความนิยม ได้แจ้งมาว่าสินค้าหมด คาดจะผลิตและจัดส่งมาให้ได้อีกครั้งในวันที่ 17-18 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สินค้าหมด
"ส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ นั้นแจ้งมาตั้งแต่ปลายปีแล้วว่า ราคาปุ๋ยเคมีจะมีการปรับราคาขึ้นจากชาวนาได้เงินค่าข้าวและเร่งทำนารอบใหม่ แต่สถานการณ์พลิกกลับถูก คสช. ขอร้องแกมบังคับให้ลดราคา มองได้ว่าทางบริษัทน่าจะมีการปรับสูตร เพื่อลดต้นทุนโดยในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นช่วงที่ใช้ปุ๋ยเคมีสูงสุด ต้องจับตาดูสถานการณ์จะเป็นอย่างไร"
40บริษัทสั่งลดราคา
ด้านนายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย ที่มีสมาชิกเป็นผู้ผลิตและคาปุ๋ยกว่า 40 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ของตลาดรวม กล่าวว่า ได้ให้สมาชิกทำหนังสือแจ้งคู่ค้าในต่างจังหวัดเพื่อติดป้ายลดราคาปุ๋ยเคมีลง 40-50 บาทต่อกิโลกรัมในแต่ละสูตร ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ดียอมรับว่าในตลาดยังมีผู้ค้าที่ยังแบกสต๊อกเก่าในช่วงต้นทุนสูงไว้ส่วนหนึ่ง ซึ่งอยากให้ร้านค้าคุยกับเอเยนต์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน เพื่อที่จะได้ขายปุ๋ยล็อตใหม่ในราคาที่ลดลงตามนโยบายของ คสช.ต่อไป
"มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การลดราคาปุ๋ยอาจมีโรงงานผลิตหรือผู้นำเข้าปุ๋ยมาแพ็กขายผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือสินค้าปลอมออกมาจำหน่าย ซึ่งในส่วนของสมาชิกสมาคมรับรองว่ากรณีดังกล่าวไม่มีแน่นอน อย่างไรก็ดีในตลาดค้าปุ๋ยไทยเวลานี้ที่ขึ้นทะเบียนมีมากกว่า 1.1 หมื่นราย รวมประมาณ 1-2 พันยี่ห้อ อาจมีบางส่วนที่หาช่องทางเอาเปรียบเกษตรกร ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงเกษตรฯก็ได้ส่งสารวัตรลงพื้นที่ตรวจจับปุ๋ยปลอมแล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้น
ตลาดเมล็ดพันธุ์ยังไม่คึกคัก
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า จากที่ทางกรมได้สั่งการให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรม 23 ศูนย์ทั่วประเทศลดราคาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกสายพันธุ์ลง 4 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ลดราคาลงเฉลี่ย 6 บาทต่อกิโลกรัมไปเมื่อเร็วๆ นี้ ล่าสุดยอดขายไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมากนัก สืบเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการไม่มีโครงการรับจำนำหรือประกันราคาข้าว ส่งผลให้เกษตรกรไม่เร่งทำนารองใหม่ ขณะที่เกษตรกรบางส่วนก็ได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำนาเอง หากมีฝนมากขึ้นยอดจำหน่ายคงดีขึ้น
บีบนายทุนเร่งลดค่าเช่านา
ส่วนการลดค่าเช่านาอีกหนึ่งมาตรการเร่งด่วนช่วยเกษตรกรลดต้นทุนนั้น ล่าสุด นายประภาศ บุญยินดี รองปลัดกระทรวงหมาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ให้สนองนโยบาย คสช. ดำเนินการเพื่อลดอัตราค่าเช่านาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไร่ละไม่น้อยกว่า 200 บาท ดังนั้นทางกระทรวงมหาดไทยจะเร่งดำเนินการเพื่อลดอัตราค่าเช่านาให้บังเกิดผลอย่าเป็นรูปธรรมในทุกภาค
ทั้งนี้การวิเคราะห์พบว่าค่าเช่านาจะมีอัตราที่สูงในเขตจังหวัดภาคกลาง ส่วนใหญ่มีการเช่านา ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขต อัตราค่าเช่ารายปี ต่อไร่ เฉลี่ย 1.5-2 พันบาท อัตราค่าเช่าในแต่ฤดูกาล เฉลี่ย 1-1.5 พันบาท ส่วนค่าเช่านาภาคเหนือเฉลี่ย 1-1.8 พันบาทต่อปี ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลี่ย 1-1.5 พันบาทต่อปี ภาคใต้เฉลี่ยปีละ1 พันบาท
ชงกรอ.5ยุทธศาสตร์ข้าว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ทางหอการค้าไทยและสภาหอฯ จะนำเสนอยุทธศาสตร์ข้าวและชาวนาไทยต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปข้าวและชาวนาไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในยุทธศาสตร์จะยึดชาวนาเป็นศูนย์กลาง มี 5 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1. การพัฒนาข้าวและชาวนาไทยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ พัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อพัฒนาข้าวและชาวนาไทย ยุทธศาสตร์ที่2 เกษตรสมัยใหม่ เช่น การรวมแปลงพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ เพื่อใช้เครื่องจักรทางการเกษตรในการพัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลการผลิต
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เขตเกษตรเศรษฐกิจทางเลือก อาทิ ปรับเปลี่ยนพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ คืออ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยเป็นมาตรการทางเลือก ใช้หลักการตลาดนำและมีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมและรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทาน ระบบการขนส่ง ยุทธศาสตร์ที่4 การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว อาทิ การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในการผลิต การพัฒนาระบบประกันภัยข้าวและพืชผลทางการเกษตร การจัดตั้งคณะกรรมการRice Board ที่มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการจะสามารถช่วยให้มีการกำหนดทิศทางอนาคตข้าวไทย โดยจะต้องไม่มีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และยุทธศาสตร์ที่5 การตลาดข้าวไทย อาทิ รัฐบาลต้องส่งเสริมกลไกตลาดเสรี การปรับปรุงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(เอเฟท) เช่นการย้ายตลาดเอเฟทให้มาอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง เนื่องจากมีงบประมาณและเครื่องมือในการพัฒนาได้ดีกว่า เป็นต้น
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ได้มีการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ สมาคมชาวนา ตัวแทนเกษตรกร สมาคมโรงสีข้าว ผู้ส่งออกและนักวิชาการ ทั้งนี้เชื่อว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร
ที่มา : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,966 วันที่ 17 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557