เปิดข้อมูลฐานถือครองที่ดินไทย ‘นักวิชาการ มธ.’ พบความเหลื่อมล้ำสูง 326 เท่า นักธุรกิจ-นักการเมืองมีมากสุด ระบุคนแห่กว้านซื้อที่ดินหวังเก็งกำไร เหตุให้ดอกผลดีกว่าฝากแบงก์ หวั่นอนาคตที่ดินหลุดมือสูง ชูนโยบายปฏิรูปเป็นธรรมผ่านกม.4 ฉบับ ภาคปชช.
การปฏิรูปที่ดินถือเป็นข้อเรียกร้องของสังคมไทยที่มีมายาวนาน เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัว และกระจายการถือครองในทุกกลุ่มชนชั้นอย่างเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จนหลายฝ่ายกังวลว่าอนาคตอาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอภาพรวมที่ดินไทยในเวทีสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ปี 2557 ‘ความมั่นคงอาหาร:โอกาสในวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ’ ว่ามีพื้นที่ทั้งหมด 319.82 ล้านไร่ แบ่งเป็น กรมที่ดิน 130.74 ล้านไร่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 34.76 ล้านไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ 144.54 ล้านไร่ และที่ดินราชพัสดุ 9.78 ล้านไร่
“ไทยมีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดเพียง 95 ล้านไร่ จากพื้นที่ถือครอง 130 ล้านไร่ ซึ่งมีประชากรเพียง 19.5 ล้านรายที่ได้รับสิทธิในการถือครอง” นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าว และชี้ให้เห็นค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค 0.89 บ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินค่อนข้างสูงในสังคมไทย
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อว่า เมื่อแบ่งสัดส่วนการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด 5 กลุ่ม (ประเภทบุคคลธรรมดา-ประเภทนิติบุคคล:ปี2555) จะพบกลุ่มที่ 1 ถือครองที่ดินน้อยที่สุด กับกลุ่มที่ 5 ถือครองที่ดินมากที่สุด ห่างกัน 326 เท่า แสดงถึงความแตกต่างเรื่องที่ดินค่อนข้างสูง
“สัดส่วนกลุ่ม 20% สูงสุด มีการถือครองที่ดินราว 80% ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด”
สำหรับลักษณะการถือครองที่ดิน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ พบถือครองไม่เกิน 1 ไร่ 50% ถือครองไม่เกิน 1-5 ไร่ 22% และถือครองมากกว่า 5 ไร่ 28% ซึ่งนอกจากกลุ่มนักธุรกิจจะถือครองสูงแล้ว ผู้กำหนดนโยบายอย่างนักการเมืองก็ถือครองที่ดินและมีมูลค่าค่อนข้างสูงเช่นกัน โดยจัดอยู่ในกลุ่ม 20% สูงสุด
ผศ.ดร.ดวงมณี ยังกล่าวถึงสาเหตุการกระจุกตัวการถือครองที่ดินเกิดจากการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน โดยช่วงปี 2551-2554 และปี 2555-2558 ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ของที่ดินทั้งประเทศ ซึ่งภาคใต้มีการเปลี่ยนแปลงสูงถึง 8% จึงเป็นที่มาของการกว้านซื้อที่ดินเพื่อหวังเก็งกำไร โดยเฉพาะบางพื้นที่มีระบบสาธารณูปโภคจะทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ส่งผลให้มีการนำเงินลงทุนกับที่ดินมากกว่าฝากธนาคาร
นอกจากนี้ข้อมูล ปี 2554 ยังพบมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 150 ล้านไร่ จากทั้งหมด 320 ล้านไร่ โดยเกษตรกรมีที่ดินของตัวเองเพียง 29% เท่านั้น แต่รัฐบาลกลับไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาที่ดินทำกินและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต
“ที่ผ่านมามีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินหลายแสนราย โดยปี 2550-2551 มีทั้งสิ้น 9,336 คดี จำนวนพื้นที่ถูกบุกรุก 55,027 ไร่”
ทั้งนี้ หากยังปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น อนาคตนอกจากที่ดินจะหลุดมือ ถูกทิ้งร้างแล้ว อาหารจะมีราคาแพง ขาดความมั่นคงทางอาหาร ขาดความมั่นคงในการใช้ที่ดิน มีการจับกุม ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหาย จนในที่สุดไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพได้
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคประชาชน ผลักดันให้เกิดการจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ป้องกันปัญหาที่ดินกระจุกตัว ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้สมทบแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พัฒนาพื้นที่ต่อไป และส่วนหนึ่งจะนำมาสมทบในธนาคารที่ดินให้คนจนที่ไม่มีที่ดินได้เช่าหรือเช่าซื้อ
พร้อมให้การรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชน และเข้าถึงกองทุนยุติธรรมช่วยต่อสู้คดีของคนจน ให้สามารถเข้าถึงเงินประกันตัว และช่วยเยียวยากรณีไม่ผิดได้ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการรณรงค์ .
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันจันทร์ ที่ 14 กรกฎาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.