วันที่ 3 กรกฎาคม นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)
เปิดแถลงข่าว ที่โรงแรม ปริ๊นซ์ตัน ดินแดง เรื่องขอให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตรวจสอบ โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ หรือโครงการ รีเชฟ ของทส. เพราะมีเงื่อนงำที่น่าสงสัยว่าจะเกิดการทุจริต และใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า โดยในเรื่องนี้ ตนได้รับร้องเรียนมาจากเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯในฐานะอดีตอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะต้องออกมาแถลงเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
นาย ดำรงค์ กล่าวว่า โครงการรีเชฟ นี้เกิดในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีทส.และนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เป็นปลัดทส.โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2,254 ล้านบาท
โดยกองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นกองทุนที่มีงบประมาณกองอยู่จำนวนมาก และถือเป็นกองทุนที่นำออกมาใช้ประโยชน์ ยากมาก มีบริษัท อีเอสอาร์ไอ(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับจ้างทำโครงการ ลงนามทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 ในสัญญาจ้างระหว่าง ทส.กับบริษัทดังกล่าว ระบุวัตถุประสงค์ โครงการ 3 อย่างคือ
1.เพื่อทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ 2.เพื่อทำฐานข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.ต่างๆ และ 3.เพื่อศึกษารูปแบบ ออกแบบ จัดทำฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศภูมิประเทศ ในวงเงินงบประมาณ 2,254,000,000 บาท โดยต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 730 วัน แบ่งจ่ายเงินเป็น 10 งวด งวดแรก 5% งวดต่อมางวดละ 10% และงวดสุดท้าย 15%
นาย ดำรงค์ กล่าวว่า ระหว่างการดำเนินงาน มีการเปลี่ยนแปลงตัวอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติหลายคน โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติจะต้องทำหน้าที่เป็นประธานตรวจรับงาน ปรากฏว่าผ่านไป 3 อธิบดี สามารถเบิกจ่ายเงินได้เพียง 3 งวดเท่านั้น และ เมื่อโครงการนี้ดำเนินการได้ 1 ปี กว่าๆ นายศักดิ์สิทธิ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ที่ จ.น่าน นายสุวิทย์จึงแต่งตั้ง นายโชติ ตราชู ขึ้นเป็นปลัดทส.แทน และต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นอีก โดยมีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เข้ามาเป็นรัฐมนตรีทส.แทนนายสุวิทย์ และได้แต่งตั้งตนให้เป็นอธิบดี ซึ่งต้องเป็นประธานตรวจรับงานโครงการนี้
"ตอน นั้นผมได้ดูสัญญา พบว่า เหลือเวลาอีก 10 วัน จะสิ้นสุดโครงการนี้ แค่ยังค้างค่าใช้จ่ายกันอยู่อีก 7 งวด ก็เอะใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.)ทั้ง 16 แห่ง ทั่วประเทศว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้ ได้มีการลงพื้นที่รังวัด หรือตรวจสอบพื้นที่ ตามปกติของการทำแผนที่หรือไม่ ปรากฏว่า ทางผู้อำนวยการสำนักทั้ง 16 แห่ง ตอบมาตรงกันว่า ไม่เคยลงพื้นที่ภาคสนามกันเลย มีแต่เรียกประชุมอยู่แต่ในสำนักงานเท่านั้น ผมจึงไม่ยอมตรวจรับ และทำหนังสือลาออกจากการเป็นประธานกรรมการ เพราะเห็นว่าโครงการนี้มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ตอนนั้น รวมทั้งได้ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ทางไปรษณีย์ แต่เรื่องก็เงียบหายไป"
อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ตนลาออก จากการเป็นประธานการตรวจรับ ปรากฏว่ามีปรรมการหลายคนในกรรมการชุดนี้ลาออกตามมา เพราะรู้ว่าโครงการไม่ชอบมาพากลและเห็นในแนวทางเดียวกับตนว่า ตามหลักการของการทำแผนที่แนวเขตป่านั้นมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องลง พื้นที่เพื่อทำการรังวัด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการทำแผนที่แนวป่านั้นทำง่ายและมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ความจริงแทบจะไม่ต้องจ้างบริษัทให้ทำอะไรเลย แค่ออกคำสั่งกระทรวงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจแนวป่าในพื้นที่ของตัว เองให้เป็นปัจจุบันก็ทำได้ ซึ่งปกติ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว นี่ไปใช้เงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดสังเกตอย่างยิ่ง และสงสัยว่า ทำไม นายโชติ ตราชู ปลัด ทส.ในขณะนั้น ไม่รู้สึกสงสัยและเอะใจเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างเลยหรือ ทั้งนี้สัญญาสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 โดยในสัญญาระบุว่า หากดำเนินการไม่ทันตามสัญญาคือ 730 วัน ให้ปรับวันละ 225,400 บาท
นาย ดำรงค์ กล่าวอีกว่า ในที่สุด นายโชติ ได้ลงนามคำสั่งฉบับสมบูรณ์เสร็จโครงการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 ล่าช้าออกไป 1 ปี กับอีก 6 เดือน จึงสงสัยเพิ่มขึ้นอีกว่า มีการจ่ายค่าปรับสำหรับความล่าช้าของโครงการวันละ 2 แสน 2 หมื่น 5 พัน 4 ร้อยบาท ตามสัญญาหรือไม่
"ผมได้รับการร้องเรียนจาก เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ ว่า แผนที่ ที่ทำเสร็จแล้วนั้น ไม่มีใครคิดจะเอาไปใช้ ตามที่ทส.ประกาศว่า ใครจะมาขอใช้ก็ให้ไปเอามาใช้ได้เลย เพราะ แนวเขตในแผนที่นั้นไม่มีกฏหมายอะไรรองรับ ทั้งนี้แนวเขตเดิม มีมีแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาอยู่แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดต้อง ยึดหลักการเดิมตามกฏหมาย ผมจึงสงสัยว่า ทำไมนายโชติ จึงเร่งรีบสรุปโครงการ ทั้งที่ควรมีหนังสือไปสอบถาม ยังกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ว่าแผนที่ที่ทำออกมาใช้ได้หรือไม่ ต้องแก้ไขอะไรบ้างเสียก่อน แต่ไม่ทำ"
นาย ดำรงค์ กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานด้านการดูแลป่า ตนเห็นว่า งบประมาณ 2 พันกว่าล้านจะมีประโยชน์อย่างมาก หากนำไปสร้างเป็นหน่วยพิทักษ์ป่าทั่วประเทศ ที่เวลานี้ยังขาดอยู่ถึง 500 หน่วย โดยเงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างหน่วยพิทักษ์ป่า และว่าจ้างพนักงานพิทักษ์ป่าเพิ่มได้ถึง 200 หน่วย ในขณะที่เวลานี้ ไม่มีใครเอาแผนที่ที่ทำจากโครงการนี้ไปใช้เลย ถือว่าสูญงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยในวันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. จะเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องนี้ด้วยตัวเองกับ คสช. และดีเอสไอ
มติชน วันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2557