คสช. อนุมัติ 4 มาตรการช่วยชาวนาหลังหมดจำนำข้าว อัดงบรวม 4,747 ล้าน เน้นลดต้นทุนการผลิตเป็นมาตรการหลัก "ประยุทธ์"สั่งตั้งศูนย์เฉพาะกิจประจำจังหวัดแก้ปัญหาสินค้าเกษตรทุกประเภท
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2557/2558 ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือปีนี้จะไม่ใช้เงินเพื่อแทรกแซงตลาดตามแนวทางเดิมที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก บิดเบือนราคาข้าว ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและการค้าข้าวของไทย และให้เป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก หัวหน้าคสช. ที่ต้องการให้เป็นไปตามกลไกตลาด
โดยมาตรการช่วยเหลือนี้จะมี 5 มาตรการ แบ่งเป็น 1 มาตรหลักและ 4 มาตรการเสริม และใช้งบประมาณรวม 4,747 ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการหลักจะเป็นมาตรการลดต้นทุนการผลิต โดยจากการหารือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องแล้วจะสามารถลดต้นทุนต่อไร่ได้ดังนี้คือ ลดค่าปุ๋ยเคมีลง 40 บาท,ค่ายาปราบศรัตรูพืชและวัชพืช 20 บาท,ค่าเมล็ดพันธุ์ 122 บาท,ค่ารถเกี่ยว 50 บาท และค่าเช่าที่นา 200 บาท รวมจะลดต้นทุนได้ 432 บาท จากต้นทุนรวมต่อไร่ของชาวนาในขณะนี้อยู่ที่ 4,787 บาท จะเหลือต้นทุนไร่ละ 4,355 บาท
เมื่อรวมกับมาตรการเสริมแรก คือการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ที่ให้ชาวนากู้รายละ 5 หมื่นบาท ชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 6 เดือน โดยรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยให้ คิดเป็นต้นทุนต่อไร่ที่เกษตรกรจะได้ลดต้นทุนลงอีก 150 บาท รวมแล้วต้นทุนเกษตรกรจะเหลืออยู่ที่ไร่ละ 4,205 บาท
นายชวลิต กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเสริมถัดมาคือ สนับสนุนแหล่งเงินทุนให้แก่สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร 2 หมื่นล้านบาท เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายจำนวน 3-4 ล้านตัน และรวบรวมไว้แปรรูป 4 แสนตันข้าวเปลือก โดยใช้งบประมาณชดเชยดอกเบี้ย 800 ล้านบาท และบริหารโครงการ 100 ล้านบาท
มาตรการเสริมที่สาม มาตรการส่งเสริมการตลาดแบ่งเป็น การเร่งหาตลาดใหม่ให้กรมการค้าต่างประเทศผลักดันการส่งออกข้าวไปตลาดที่สำคัญในช่วง 3-6 เดือน การส่งเสริมการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และการส่งเสริมและขยายตลาดค้าข้าวภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกเก็บสต๊อกไว้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากประมาณ 2 ล้านตัน ไม่เกิน 6 เดือน โดยชดเชยดอกเบี้ย 3 % ตามวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน ส่วนนี้ใช้งบประมาณชดเชย 315 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในด้านการตลาดยังจะใช้มาตรการเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศโดยการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหรือประกันยุ้งฉาง โดยให้สินเชื่อเกษตรกร 80% ของราคาตลาดเฉลี่ยเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกในช่วงออกสู่ตลาดมากโดยการเก็บในยุ้งฉาง เพื่อรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพ ดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป้าหมาย 1.5ล้านตันข้าวเปลือก ใช้งบประมาณ 834 ล้านบาท
ขณะที่มาตรการสุดท้ายคือ โครงการประกันภัยข้าวเพื่อประกันความเสี่ยง เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันภัยไร่ละ 60-100 บาท รัฐบาลจะสมทบให้อีกส่วนหนึ่งตามขั้นบันไดระหว่าง 69-110 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส.สมทบค่าเบี้ยประกันในอัตราไร่ละ 10 บาท หากประสบภัยจะได้รับค่าชดเชยไร่ละ 2,224 บาท ส่วนนี้จะใช้งบประมาณ 376 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลังได้ประสานไปยังสมาคมประกันวินาศภัยแล้วและมีบริษัทประภัยภัยสนใจเข้าร่วมโครงการ 4 รายได้แก่ ไทยวิวัฒน์ประกันภัย ทิพยประกันภัย เจ้าพระยาประกันภัย และวิริยะประกันภัย
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ในการประชุม หัวหน้าคสช.ยังมีนโยบายจัดตั้งศูนย์กลางช่วยเหลือสินค้าเกษตรครอบคลุมสินค้าเกษตรทุกประเภท ประจำจังหวัด เช่น อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ เป็นศูนย์เฉพาะกิจเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนกลางและจังหวัด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร มุ่งเน้นให้แก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม
นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินมาตรการในระยะต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือ การใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวที่ถูกต้องและเหมาะสม การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การกำหนดเขตเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง)เนื่องจากปัจจุบันพบว่าจากพื้นที่ปลูกข้าว 70 ล้านไร่ มีประมาณ 27 ล้านไร่เป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว ต้องส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่น มี การจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน การจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ และการจัดตั้งสถาบันเพิ่มศักยภาพการค้าข้าว
ข้อมูลจาก http://www.posttoday.com/ธุรกิจ-ตลาด/ข่าวธุรกิจ-ตลาด/302790/อัด-4714ล-ช่วยชาวนา
25 มิถุนายน 2557.
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.