"รศ.ณรงค์"เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้นโยบาย"ลดต้นทุน"ชาวนา ได้ผลกว่าอุดหนุน"ราคาข้าว"
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิพากษ์นโยบายช่วยเหลือเกษตรที่ผ่านมาว่าล้มเหลว เนื่องจากไปดูในเรื่อง"ราคา" จึงเสนอให้มาดูเรื่องต้นทุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่กำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้
นายณรงค์ กล่าวว่า นโยบายที่เหมาะสมสำหรับชาวนาไทย จะต้องมีนโยบายต่อชาวนาทั้งทางเรื่องนโยบายรายได้และนโยบายหนี้สิน
นโยบายรายได้ มีหลักการสร้างรายได้ให้กับชาวนา ไม่ใช่การประกันหรือการจำนำ เพราะทันทีที่มีการประกาศราคาในการประกันหรือรับจำนำ ต้นทุนต่างๆในการทำนา เช่น ค่าเช่าที่นา ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย จะเพิ่มขึ้นตามมาทันทีทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ที่ชาวนาจะได้รับกับต้นทุนการทำนานาไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งรัฐบาลมักไม่ได้คิดถึงต้นทุนการทำนาที่เพิ่มขึ้นตามการกำหนดราคารับซื้อ
นอกจากนั้น การประกันราคาข้าวหรือจำนำข้าว ยังไม่เคยปรากฏว่าชาวนาสามารถขายข้าวตามที่รัฐบาลประกาศไว้ เช่น ประกาศรับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตัน หรือ 10,000 บาทต่อตัน ชาวนาก็จะขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าที่รัฐบาลประกาศไว้เสมอ
“การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชาวนาไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มราคาขายผลผลิตในตลาด เพราะตลาดมีกลไกที่สลับซับซ้อนโดยเฉพาะพืชที่มีการขายและตั้งราคาในตลาดโลกอย่างข้าวการพยายามกำหนดราคาตลาดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย เนื่องจากหากเราต้องการขึ้นราคาแต่คู่แข่งเราไม่ขึ้นราคา เราก็จะเสียตลาดให้กับคู่แข่งเหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าวในหลายปีที่ผ่านมา”
หลักประกันในการเพิ่มรายได้ของชาวนาคือการลดหรือควบคุมต้นทุนการผลิตข้าว ไม่ใช่การกำหนดราคาขายข้าวเพราะราคานั้นแปรผันไปตามภาวะตลาด
การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิต มี 2 ส่วนที่สำคัญคือส่วนแรกคือการลดการใช้ปัจจัยการผลิตของ ชาวนา โดยใช้นโยบายลด คือ ลดการใช้ปุ๋ย ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ และลดค่าจ้างในการทำนา ถ้าลดต้นทุนในส่วนนี้ได้เท่ากับควบคุมต้นทุนได้ ทำให้ชาวนามีโอกาสทำกำไรในการผลิตข้าวมากขึ้น ลดปัญหาหนี้สินของชาวนารวมทั้งลดปัญหาสุขภาพของชาวนาด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลควรณรงค์การใช้ปุ๋ยชีวภาพในการทำนาอย่างจริงจัง ปัจจุบันการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่เกษตรกรสามารถผลิตเองได้ มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 50% เพราะปุ๋ยเคมีปัจจุบันกระสอบหนึ่งจะมีราคา 600 - 700 บาท
ขณะที่ปุ๋ยชีวภาพใช้ในปริมาณเท่ากันราคาอยู่ที่กระสอบละ 350 บาท ซึ่งการปลูกข้าวที่ต้องการให้ผลผลิตออกเร็วชาวนาอาจจจะเพิ่มการใส่ปุ๋ยในนาข้าวที่ปริมาณมากขึ้น ซึ่งหากเป็นกรณีของปุ๋ยเคมีก็เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคข้าวที่ได้รับผลเสียจากสารเคมีสะสม
“รัฐบาลต่างๆไม่เคยรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ และไม่มีมาตรการในการควบคุมราคาปุ๋ยเลย ก็เพราะว่านายทุนที่จำหน่ายปุ๋ยเคมีให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคการเมืองที่เข้าไปเป็นรัฐบาลก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะออกมาตรการเหล่านี้มาช่วยเหลือเกษตรกรทั้งที่ปุ๋ยเป็นต้นทุนในการผลิตที่มีความสำคัญในการทำเกษตรทุกประเภท การลดต้นทุนโดยเน้นไปที่เกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยชีวภาพและลดการใช้สาร เคมี มีต้นทุนในการทำนาเพียงตันละ 2,500 บาท จากต้นทุนการทำนาปกติที่ตันละ 5,000 - 6,000 บาท หรือต้นทุนลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อต้นทุนลดลงครึ่งหนึ่งก็เท่ากับว่าในภาวะที่ราคาข้าวตกต่ำลงเหลือตันละ 6,000 - 7,000 บาทชาวนาก็ยังคงมีกำไรจากการขายข้าวได้”นายณรงค์กล่าว
นอกจากการลดการใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมีแล้ว ต้นทุนที่สำคัญของการทำนาอีกอย่างหนึ่งคือเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งปัจจุบันชาวนาต้องพึ่งพาการซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเอกชนที่เข้ามาผูกขาดตลาดและโฆษณาว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี
ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้ก็คือต้องส่งเสริมให้ชาวนาลดการใช้เมล็ดพันธุ์ทางธุรกิจหันมาใช้เมล็ดพันธุ์ในชุมชนมากขึ้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์ชุมชนคือเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาได้มาจากการเก็บและคัดเมล็ดพันธุ์ที่ดีไว้สำหรับการทำนาครั้งต่อไปซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาในชุมชน ต่างจากเมล็ดพันธุ์ที่ขายในท้องตลาดซึ่งอาจมีข้อดีที่โตเร็ว ทนทานต่อโรคบางชนิดแต่ก็กินปุ๋ยเยอะ ทำให้ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีของชาวนาเพิ่มขึ้นอีกที่สำคัญจะต้องซื้อเมล็ดข้าวทุกรอบการปลูกใหม่ กลายเป็นข้อเสียเปรียบของชาวนาที่ต้องตกอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจของบริษัทเกษตรขนาดใหญ่ไปตลอด
นอกจากนั้นนโยบายที่รัฐบาลควรสนับสนุนอีกอย่างก็คือนโยบายการแปลงเงินสดเป็นปัจจัยการผลิต เปลี่ยนแนวคิดที่ใช้กับกองทุนหมู่บ้านแทนที่เอาเงินไปให้ทุกหมู่บ้าน 1 ล้านบาท ก็ให้เป็นปัจจัยการผลิตให้กับแต่ละหมู่บ้าน เช่น มอบรถเกี่ยวข้าว หรือรถไถให้แทน เพื่อลดต้นทุนการผลิตทำให้ในชุมชนไม่ต้องว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวหรือรถไถมาจากท้องที่อื่นๆ ถือเป็นการลดต้นทุนที่สามารถทำได้อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งดีกว่าการให้เงินสด ลงไปในหมู่บ้าน เพราะการให้เงินผ่านกองทุนในที่สุดก็อาจจะหมดไปโดยไม่ตรงวัตถุประสงค์ซึ่งเป็นเรื่องแรกๆที่ควรทำในการวางแผนในการเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา
สำหรับการอุดหนุนปัจจัยการผลิต ควรอยู่บนหลักการที่ว่ารัฐบาลสามารถช่วยเหลือชาวนาได้ แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือที่พอเหมาะและมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ความยั่งยืนก็คือเราต้องคิดถึงว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งความหมายแตกต่างกับการที่ประกาศออกไปว่ารัฐบาลต้องอุดหนุนชาวนาตลอดไปในระยะยาว ซึ่งแบบนั้นเป็นการให้สัญญาแบบประชานิยมที่ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนา
"ผมไม่ได้คัดค้านการช่วยเหลือชาวนา แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือตามความเหมาะสมและหาทางให้ชาวนาสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองโดยเร็วที่สุด"
นายณรงค์ ยังแนะว่าควรแยกแยะกลุ่มชาวนาที่รัฐบาลควรช่วย เพราะมีทั้งชาวนาที่ร่ำรวยและยากจน
แต่ประเด็นสำคัญ คือ รัฐต้องพิจารณาว่าจะเอาเงินส่วนไหนไปให้การช่วยเหลือ หากใช้เงินภาษีก็ต้องดูด้วยว่าใช้เงินไปเท่าไรแล้วจะหารายได้จากส่วนไหนมาชดเชย ซึ่งจะต้องมองให้ครบทั้งระบบทั้งด้านรายรับและรายจ่ายไม่
หาไม่แล้ว รัฐบาลก็ต้องตั้งงบประมาณขาดดุลไปเรื่อยๆทุกปีงบประมาณ
“มองจากตรงนั้นกลับมาที่นโยบายประชานิยม รัฐบาลบอกว่าจะช่วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วรัฐบาลได้ย้อนไปดูในเรื่องของรายได้ภาครัฐบ้างหรือไม่ว่ารายได้กับรายจ่ายในแต่ละปีมันสมดุลกันหรือไม่ ถ้าบอกว่ารายได้มาจากภาษีต่างๆ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็ลดภาษีต่างๆลง ลดทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา ขณะที่ภาษีทรัพยสินยังไม่ได้เก็บแล้วถามว่ารายได้ที่มีอยู่เพียงพอกับรายจ่ายในการช่วยเหลือกลุ่มต่างๆในระยะยาวหรือเปล่า ตรงนี้ต้องมองให้เห็นทั้งระบบ” นายณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย