เปิดโผราชาที่ดินตระกูลดัง-องค์กร ใหญ่ ตะลึง “สิริวัฒนภักดี” อู้ฟู่มีแลนด์แบงก์ในพอร์ตกว่า 6.3 แสนไร่ “เจียรวนนท์” ตุน 2 แสนไร่ ธุรกิจ-กลุ่มทุนไม่น้อยหน้า “สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม” ม้ามืด 4.4 หมื่นไร่ ฟากนักการเมือง “บรรหาร” ครองแชมป์ “เสนาะ” ตามมาติด ๆ ส่วนคลังดันเต็มที่ชง คสช.คลอดกฎหมายภาษีที่ดินใน 1 ปี ฝันปั้นรายได้เข้าท้องถิ่น ปีละกว่า 9 หมื่นล้าน “นักวิชาการ-เอ็นจีโอ” หนุนกระจายถือครองที่ดินลดความเหลื่อมล้ำ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การผลักดันประกาศบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… (พร็อพเพอร์ตี้แทกซ์) ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แทนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งล้าสมัย กำลังถูกจับตามองว่าจะสำเร็จหรือไม่ หลังจากใช้ความพยายามผลักดันมากว่า 15 ปีก็ยังไม่สำเร็จ
ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฐานจัดเก็บภาษีครอบคลุมมากขึ้น ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเพื่อกระจายรายได้ ขณะเดียวกันมีเป้าหมายสำคัญคือลดการกักตุนที่ดินของนายทุน โดยกรณีถือครองที่ดินแต่ปล่อยรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ จะต้องเสียภาษีในอัตราไม่ต่ำ 0.5% ของฐานภาษี (คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน) และกรณีที่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างจะถูกปรับภาษีขึ้น 1 เท่าทุก 3 ปี แต่มีเพดานสูงสุดไม่เกิน 2% ของฐานภาษี หากผลักดันสำเร็จจะช่วยสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลศึกษาโดยกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (องค์กรพัฒนาเอกชน) จากการวิจัยและเก็บข้อมูลการถือครอง เอกสารสิทธิ จากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน พบว่าตระกูลดัง เศรษฐี กลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุน ถือครองที่ดิน ทั้งแปลงเล็กแปลงใหญ่จำนวนมาก กระจายอยู่หลายพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว
วิธีการถือครองมีทั้งทยอยซื้อที่ดินเก็บไว้ในมือ โดยค่อย ๆ สะสมจากแปลงเล็กเป็นแปลงใหญ่ และการกว้านซื้อที่โดยอาศัยกลุ่มนายหน้าและเครือข่ายธุรกิจ ทั้งที่ดิน ว่างเปล่า ที่ทำการเกษตร ที่นา ฯลฯ ขณะเดียวกันจากเดิมที่มักปล่อยที่ดินที่ซื้อไว้ ในพอร์ตเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มเศรษฐกิจ ตระกูลดังแห่ลงทุน ด้วยการปรับเปลี่ยนหน้าดินทำ การเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งพืชสวน พืชไร่หลากหลายชนิด ฯลฯ รับยุค บูมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และเร่งใช้ประโยชน์ที่ดินแทน หลังเริ่มมีกระแสผลักดัน จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าสำหรับที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า
สอดรับกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ ตระกูลดัง หลายกลุ่มในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการขยายฐานสู่ธุรกิจการ เกษตร อสังหาริมทรัพย์ อาทิ กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี เจียรวนนท์ พูลวรลักษณ์ จุฬางกูร เตชะณรงค์ ภิรมย์ภักดี ฯลฯ ขณะที่ตระกูลนักการเมือง ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ตลอดจน นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัด ก็หันมารุกด้านการเกษตร รับกระแสบูมจำนวนมากเช่นเดียวกัน
“สิริวัฒนภักดี” 6.3 แสนไร่
ข้อมูลจากการสำรวจศึกษาระบุว่า ใน ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ทั้งประเทศ ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลาย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น็อนแอลกอฮอล์ พัฒนาที่ดิน การเกษตร ฯลฯ น่าจะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศมากที่สุดกว่า 6.3 แสนไร่ ทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่าง ๆ โดยหนึ่งในที่ดินแปลงใหญ่ ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีครอบ ครองกรรมสิทธิ์ อาทิ ที่ดินในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีรวม 1.2 หมื่นไร่, ที่ดินในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1.5 หมื่นไร่ ฯลฯ
ก่อน หน้านี้ นายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด บุตรเขยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตระกูล สิริวัฒนภักดีมีที่ดินทั่วประเทศอยู่หลายแสนไร่จริง แต่ประเมินจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ โดยหนึ่งในแปลงใหญ่อยู่ที่ชะอำ 1.2 หมื่นไร่ เตรียมแบ่งส่วนแรกกว่า 1 พันไร่ พัฒนาโครงการมิกซ์ยูส บ้านพักตากอากาศระดับไฮเอนด์ สนามกอล์ฟ โรงแรม และพื้นที่ค้าปลีก “ซีพี-สหอุตสาหกรรมฯ” ที่เพียบ
“ซีพี-สหอุตสาหกรรมฯ” ที่เพียบ
ขณะที่ “ตระกูลเจียรวนนท์” ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจการเกษตร ครบวงจร ในนามกลุ่มซีพี ธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม บมจ.ซี.พี.แลนด์ และกลุ่มแมกโนเลียส์ ธุรกิจโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือครอง ที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ โดยแปลงใหญ่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1 หมื่นไร่
“บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม” ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันปาล์มราย ใหญ่ในภาคใต้ ถือครองที่ดิน 4.44 หมื่นไร่ รองลงไปคือ “สำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์” ปัจจุบันมีที่ดินรวมประมาณ 3 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ราว 7% ปล่อยเช่าสร้างรายได้เชิงพาณิชย์
บมจ.ไอ อาร์พีซี ผู้ผลิตปิโตรเคมี รายใหญ่ มีที่ดินรวมประมาณ 1.7 หมื่นไร่ แปลงใหญ่อยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “ตระกูลมาลีนนท์” กลุ่มทุนธุรกิจสื่อสารถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ แลนด์ลอร์ดอีกราย คือ “นายแพทย์บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี มีที่ดินในมือประมาณ 1 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 1 พันไร่
“พูลวรลักษณ์-จุฬางกูร” ติดโผ
ด้าน “วิชัย พูลวรลักษณ์” อดีตผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์เครืออีจีวี ซึ่งที่ผ่านมาเบนเข็มมารุกธุรกิจพัฒนา ที่ดินในนาม “วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้” ครอบครองอยู่ 7-8 พันไร่ อาทิ ในจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 3 พันไร่ ฯลฯ ตระกูล “จุฬางกูร” อาณาจักรซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่วงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีที่ดินทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5-6 พันไร่ อาทิ สนามกอล์ฟซัมมิทฯ ที่บางนาและเชียงใหม่, ที่ดิน 100 ไร่ในจังหวัดภูเก็ต ฯลฯ และ “ไพวงษ์ เตชะณรงค์” ผู้ก่อตั้งโบนันซ่า มีที่ดินในเขาใหญ่รวม 5 พันไร่
นอกจากนี้พบว่านักธุรกิจใน วงการพัฒนาที่ดินอย่าง “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่มีธุรกิจให้บริการเดิน รถไฟฟ้าและธุรกิจพัฒนาที่ดิน ก็มีที่ดินสะสมไม่ต่ำกว่า 1 พันไร่ เช่นเดียวกับ “บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” มีที่ดิน ทั่วประเทศรวมประมาณ 2 พันไร่
เช่นเดียวกับตระกูล ”ภิรมย์ภักดี” เจ้าของธุรกิจเบียร์สิงห์ ที่บุกเบิกธุรกิจด้านการเกษตรมานาน และปัจจุบันขยับมารุกธุรกิจอสังหาฯ เต็มตัว ถือครองที่ดินทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3-4 พันไร่ โดย “ปิยะ ภิรมย์ภักดี” เจ้าของไร่พีบีวัลเล่ย์ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มีที่ดินในเขาใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2.5 พันไร่ ขณะที่ตระกูล “กฤษดานนท์” อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.กฤษดานครครอบครองที่ดินย่านบางนา-ตราด ประมาณ 4,000 ไร่
เปิดโผที่ดินนักการเมือง
ส่วนในกลุ่มนักการเมือง จากการสำรวจพบผู้ถือครองที่ดินจำนวน มาก อาทิ นายอำนาจ คลังผา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 2,030 ไร่, นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทย 2 พันไร่ อยู่ในบริเวณ ถนนจรัญสนิทวงศ์ และนนทบุรี, นายเสนาะ เทียนทอง และนางอุไรวรรณ เทียนทอง 1,900 ไร่, นายอนุชา บูรพชัยศรี 1,284 ไร่ นายอดิศักดิ์ โภคสกุลนานนท์ 1,197 ไร่
นาย ทศพร เทพบุตร ถือครองที่ดิน 1,095 ไร่, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี 1,095 ไร่, นายสุชน ชามพูนท 1,060 ไร่, นายชัย ชิดชอบ และภรรยา 854 ไร่, นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ 755 ไร่ ฯลฯ
ถือที่ดินเกิน 1 พันไร่กระจุกตัว
“ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล” นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยข้อมูลการถือครองที่ดินที่มีโฉนด เมื่อปี 2555 พบว่าประเทศไทยมีที่ดินทั้งหมด 319.82 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิโดย กรมที่ดิน 40% หรือ 130.74 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นที่ป่าสงวนฯ 144.54 ล้านไร่ ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และที่ดินราชพัสดุ 9.78 ล้านไร่
ผล วิจัยระบุด้วยว่า ประเทศไทยมี ผู้ครอบครองที่ดินรวม 1.59 ล้านรายเศษ แบ่งเป็นในนามบุคคลธรรมดา 15.68 ล้านราย และนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ อีก 2.12 แสนราย ส่วนถ้าจำแนกตามปริมาณการถือครองที่ดิน (ณ ปี 2555) มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยมีผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่ 1-10 ตารางวา รวม 2.85 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของทั้งหมด ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นในนามบุคคลธรรมดา 2.84 แสนราย และนิติบุคคล 1.9 พันราย
ขณะที่ผู้ที่ถือครองที่ดินเกินก ว่า 1 พันไร่ขึ้นไป มีจำนวนรวม 837 ราย คิดเป็น 0.01% ในจำนวนนี้แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 359 ราย และนิติบุคคล 478 ราย สะท้อนถึงการถือครองที่ดินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม ส่วนกลุ่มใหญ่คือผู้ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่กว่า 1-5 ไร่ มีจำนวน 3.48 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 21.9% ในจำนวนนี้แบ่งเป็นถือในนามบุคคลธรรมดา 3.43 ล้านราย และในรูปแบบนิติบุคคล 5.09 หมื่นราย
เสนอเพิ่มฐานเก็บภาษีที่ดิน
นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน องค์กรพัฒนาเอกชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จัดเก็บสำหรับที่ดินรกร้างไม่ใช้ประโยชน์อัตรา 0.5% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าทุก 3 ปี เพดานสูงสุดไม่เกิน 2% ถือว่าต่ำไป ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเศรษฐีได้ เนื่องจากอัตราภาษที่จัดเก็บยังต่ำกว่าราคาเฉลี่ยที่ดินปรับขึ้นต่อไป โดยมีข้อมูลจาก ผลสำรวจว่าที่ดินทั่วประเทศ ราคาปรับขึ้น เฉลี่ยปีละ 4-6%
ดังนั้น การจะทำให้เกิดการกระจาย การถือครองที่ดินได้จะต้องปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นให้ใกล้เคียงกับราคาที่ดินปรับขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 4-6% โดยอาจกำหนดเงื่อนไขเฉพาะผู้ที่ถือครองที่ดินเกินกว่ากี่ไร่ขึ้นไป โดยในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จัดเก็บอัตราประมาณ 5% หรืออาจใช้วิธีกำหนดขอบเขตการถือครองที่ดิน
“อัตราภาษีตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯปัจจุบันไม่ตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินกระจุกตัวอยู่ อาจใช้วิธีเก็บอัตราภาษีแบบก้าวหน้า เช่น กำหนดขอบเขตที่ดินที่ถือครอง หากเกินกว่ากี่ไร่จะต้องเสียภาษีแพงขึ้น” นางสาวพงษ์ทิพย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินโดยการสุ่มตัวอย่างที่ดินที่เก็บภาษีในกรุงเทพมหานคร 9 เขต และเปรียบเทียบราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 กับราคาประเมินทุนทรัพย์ ที่ดินปี 2547-2550 พบว่าราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินปี 2547-2550 เพิ่มขึ้นจากราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 ตั้งแต่ 4-4,137 เท่า เช่น เขตพระนคร ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 5-19 เท่า, เขตราชเทวี ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 8-30 เท่า, เขตมีนบุรี ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 12-432 เท่า ฯลฯ สะท้อนว่าอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ 0.5-2% ยังต่ำกว่าราคาที่ดินเฉลี่ยที่ปรับขึ้นต่อปี
คลังดัน 1 ปีบังคับใช้ภาษีที่ดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานะปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกบรรจุเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายในโรดแมปรื้อโครงสร้างภาษี ที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา และจะผลักดันบังคับใช้ภายใน 1 ปีจากนี้ไป จากก่อนหน้านี้ กฎหมายฉบันนี้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ปี 2554 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่มีการยุบสภา ส่งผลให้ ร่างกฎหมายตกไป
ปั้นรายได้เข้าท้องถิ่น 9 หมื่นล้าน
ในส่วนของอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ เบื้องต้น กระทรวงการคลังกำหนดอัตราภาษีไว้ 3 อัตรา 1.อัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูก สร้างทั่วไปไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี 2.ที่อยู่อาศัยไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี 3.ที่เกษตรกรรมไม่เกินร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี
ส่วนภาษีที่จะจัดเก็บจากที่ดินที่ถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน 3 ปีแรก จะจัดเก็บภาษีไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีทั่วไปที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างได้กำหนดไว้ แต่ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี ตามที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกา หากยังมิได้ทำประโยชน์อีกให้เสียเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษี
โดยกระทรวงการคลังคาดหมายว่า หากสามารถประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้สำเร็จ และจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วงแรก 50% ของอัตราภาษี ตามการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท จะช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น 45,124 ล้านบาท จากนั้นหากจัดเก็บ 75% ของอัตราภาษีท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่ม 67,686 ล้านบาท และเมื่อจัดเก็บเต็มอัตรา หรือ 100% ท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มสูงถึง ปีละ 90,249 ล้านบาท
ข้อมูลและภาพจากประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.