กลายเป็นประเด็นที่ต้อง ติดตาม เมื่อ สศค.-สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ออกมาแอ็กชั่นชง "ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" หรือพร็อพเพอร์ตี้แทกซ์ ที่ค้างเติ่งมานานให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ "คสช." พิจารณา
งานนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างจัดเก็บภาษี" ครั้งใหญ่ เพราะจะถูกนำมาใช้ทดแทนภาษี 2 ตัวในปัจจุบัน คือ 1)ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ปี 2475 โดยเก็บภาษีที่ 12.5% ของค่าเช่าต่อปี และ 2)ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ปี 2508 ปัจจุบันหากเป็นที่ดินใช้เป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 50 ตารางวา-5 ไร่ จะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่ง สศค.มองว่าไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน
ลดปัญหากักตุนที่ดิน
พลิก ดูวัตถุประสงค์หลักของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯมี 3 ข้อ คือ 1)ขยายฐานจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท 2)องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากให้อำนาจท้องถิ่นเก็บภาษีเอง 3)ช่วยลดการกักตุนที่ดิน เพราะที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์จะเสียภาษีสูงกว่าที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำ เกษตรกรรม
คำถามคือถ้าบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯแล้วจะต้องเสียภาษีมากกว่าเดิมหรือไม่
สำหรับ คนที่สะสมที่ดินไว้มาก ๆ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีสูงกว่าที่ดินใช้อยู่อาศัยหรือทำเกษตรกรรม โดยร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯแบ่งโครงสร้างจัดเก็บภาษีเป็น 3 อัตรา คือ 1)อัตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น (ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์) จัดเก็บไม่เกิน 0.1% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานภาษี 2)อัตราที่ดินทำเกษตรกรรมเสียภาษีไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี 3)อัตราภาษีทั่วไป หมายถึงกรณีเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์-อุตสาหกรรมเสียภาษีไม่ เกิน 0.5% ของฐานภาษี
ปล่อยที่ร้างเสียภาษีเพิ่ม
หาก เป็นที่ดินมีเจ้าของแต่ถูกปล่อยรกร้าง จะต้องเสียภาษีในอัตราทั่วไปคือไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี และมีเงื่อนไขปรับขึ้นภาษี 1 เท่าทุก ๆ 3 ปี โดยมีเพดานสูงสุดไม่เกิน 2% กรณีนี้ยกตัวอย่างที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์มีราคาประเมินทุนทรัพย์ 10 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีปีละ 5 หมื่นบาท เมื่อครบ 3 ปีแล้ว ที่ดินยังคงไม่ได้ใช้ประโยชน์ ภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1% หรือ 1 แสนบาท
อีก คำถามคือ...ทรัพย์สินส่วนกลางภายในโครงการจัดสรรหรืออาคารชุด ซึ่งลูกบ้านต้องเสียค่าส่วนกลางให้กับนิติบุคคลอยู่แล้ว จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีที่ดินอีกหรือไม่ ! คำตอบคือ...ต้องเสีย ยกเว้นได้ยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์ส่วนกลางให้ทางราชการหรือสาธารณประโยชน์จึงไม่ ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าภาครัฐอาจพิจารณาออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น หรือลดหย่อนภาษี
เสนอทบทวนภาษีเก็บซ้ำซ้อน
ขณะที่ภาค เอกชน "อิสระ บุญยัง" นายกกิตติศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และ "ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์" นายกสมาคมอาคารชุดไทย มีข้อเสนอสอดคล้องกันว่า เมื่อบังคับใช้ภาษีที่ดินฯแล้ว ควรยกเลิกหรือปรับปรุงโครงสร้างจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับอสังหาฯ ได้แก่ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเสียให้รัฐ 3.3% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน ซึ่งตามปกติผู้ซื้อและผู้ขายแบ่งจ่ายคนละครึ่ง ค่าจดจำนอง 1% ของราคาประเมิน รวมถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเบ็ดเสร็จเกือบ 9%
โดย ทั้ง 2 สมาคมมีทั้งข้อเสนอให้ยกเลิกหรือทบทวนโครงสร้างอัตราภาษี-ค่าธรรมเนียมใหม่ โดยอาจจัดเก็บ "อัตราคงที่" แทนที่จัดเก็บจากราคาประเมิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ซื้อ-ผู้ขายซึ่งหลังจากนี้ต้องติดตามว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จะถูกผลักดันเป็นกฎหมายสำเร็จในยุค คสช.หรือไม่
11 มิ.ย. 2557 เวลา 16:41:05 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.