ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (มก.) พร้อมด้วย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
เปิดเผยร่วมกันว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU -OAEForesightCenter: KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งหนี้สิน นับเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมเกษตรกรรมของไทย และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าภาคการเกษตรต้องพึ่งพาธรรมชาติ การผันผวนของธรรมชาติส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ภายใต้ภาวะหนี้สิน โดยปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความยากจนของเกษตรกรก็คือหนี้สินของครัวเรือนเกษตร
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2557) ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนภาคการเกษตรมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก204.1ล้านบาทในปี2542เป็น453.3ล้านบาทในปี2555ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนภาคการเกษตรต่อGDPเพิ่มขึ้นจากร้อยละ0.71ในปี2542เป็นร้อยละ1.10ในปี2555
ตารางแสดงรายละเอียดหนี้สินครัวเรือนภาคเกษตรของประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2542-2555
รายละเอียด |
ปีพ.ศ. |
|||||
2542 |
2545 |
2550 |
2552 |
2554 |
2555 |
|
หนี้สินครัวเรือนภาคเกษตร (ล้านบาท) |
204,117.40 |
245,563.14 |
393,839.96 |
319,093.99 |
351,135.64 |
453,339.94 |
การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) |
- |
20.30 |
60.38 |
-18.98 |
10.04 |
29.11 |
GDPภาคเกษตร (ล้านบาท) |
289,178 |
322,179 |
369,772 |
390,362 |
396,951 |
412,175 |
สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนภาคเกษตรต่อGDP |
0.71 |
0.76 |
1.07 |
0.82 |
0.88 |
1.10 |
ที่มา:สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2557)
โดยขนาดหนี้สินและทรัพย์สินทางการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ในปี2538/2539ครัวเรือนเกษตรมีหนี้สิน24,672บาทต่อครัวเรือน เพิ่มเป็น76,697บาทต่อครัวเรือนในปี2554/2555คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ6.15ต่อปี ในขณะที่มูลค่าทรัพย์สินนั้น ในปี2538/2539ครัวเรือนเกษตรมีมีมูลค่าทรัพย์สินทางการเกษตร964,372บาทต่อครัวเรือน และเพิ่มขึ้นเป็น1,029,218บาทต่อครัวเรือนในปี2554/2555คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ0.34ต่อปี
จากสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของขนาดหนี้สินและทรัพย์สินทางการเกษตร แสดงให้เห็นว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนภาคเกษตรมากกว่าการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินทางการเกษตร โดยเกษตรกรในทุกภาคมีการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินทางการเกษตรเช่นเดียวกัน แต่มีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สินในครัวเรือนเกษตร
เมื่อจำแนกในแต่ละภาค พบว่า เกษตรกรในภาคกลาง ถือเป็นภาคที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินทางการเกษตรสูงที่สุดเฉลี่ยร้อยละ1.76ต่อปี รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินทางการเกษตรใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ1.53และ1.45ต่อปี ในขณะที่ภาคเหนือ มีอัตราการเพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ0.35ต่อปีถือเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่นๆ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงในรายได้การเกษตรสุทธิ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างจากการพิจารณาข้างต้น เกษตรกรทุกภาคมีการเปลี่ยนแปลงรายได้การเกษตรสุทธิในอัตราที่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงของหนี้สิน โดยเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้การเกษตรสุทธิสูงที่สุด ซึ่งในปี2538/2539เกษตรกรในภาคดังกล่าวมีรายได้การเกษตรสุทธิ11,807บาทต่อครัวเรือน และปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น30,917บาทต่อครัวเรือนในปี2554/2555คิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ5.20ต่อปี รองลงมาเป็นเกษตรกรในภาคเหนือ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้การเกษตรสุทธิประมาณร้อยละ4.97ต่อปี ทำให้เกษตรกรที่มีรายได้การเกษตรสุทธิ26,094บาทต่อครัวเรือนในปี2538/2539เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเป็น65,610บาทต่อครัวเรือนในปี2554/2555ขณะที่เกษตรกรในภาคกลางและภาคใต้ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้การเกษตรสุทธิไม่แตกต่างกันมาก คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ2.64และ2.26ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงในการชำระหนี้ของเกษตรกร เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้การเกษตรสุทธิน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน นอกจากนี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่า หนี้สินที่เกิดในครัวเรือนเกษตร เป็นหนี้สินที่เกิดจากนอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินทางการเกษตรน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่มีความแตกต่างระหว่างอัตราการเพิ่มของหนี้สินและทรัพย์สินทางการเกษตรมากถึง18เท่า
จากการหาความสัมพันธ์ของตัวแปรหนี้ครัวเรือนเกษตรกร กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่GDPขนาดครัวเรือน เนื้อที่การถือครองทางการเกษตร และสัดส่วนแรงงานต่อสมาชิกครัวเรือนทั้งหมด พบว่า ระยะเวลา และเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับขนาดหนี้สินของครัวเรือน กล่าวได้ว่า เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะมีหนี้สินสะสมเพิ่มมากขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป และการมีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ก็ส่งผลทำให้หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยความสัมพันธ์สอดคล้องกับสถิติหนี้สินและมูลค่าทรัพย์สินในภาคเกษตรดังกล่าวข้างต้น ที่ว่าหนี้สินและมูลค่าทรัพย์สินในภาคเกษตรมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการลงทุนบางส่วนในทรัพย์สินเพื่อการเกษตร หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ก็อาจทำให้มีหนี้สินสะสมเพื่อการลงทุนทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ตัวแปรขนาดครัวเรือน มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้ามกับขนาดหนี้สินของครัวเรือน หรือกล่าวว่าได้ว่าการเพิ่มขึ้นของขนาดครัวเรือน ส่งผลทำให้ขนาดหนี้สินของครัวเรือนลดน้อยลง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การเพิ่มขึ้นของขนาดครัวเรือนอาจทำให้มีจำนวนแรงงานภายในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลต่อขนาดหนี้สินของครัวเรือนในภาคเกษตร
สำหรับการพยากรณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายสำนัก พบว่า ส่วนใหญ่พยากรณ์ว่าGDPในปีนี้จะมีการเติบโตร้อยละ1.5-2.5เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเชื่อมโยงตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าวกับภาระหนี้สินในภาคเกษตรผ่านแบบจำลองทางเศรษฐมิติ พบว่า ปัจจัยด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวจะทำให้ภาระหนี้ภาคเกษตรลดลงเฉลี่ยประมาณ2,885บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือช่วยลดภาระหนี้ในภาคเกษตรทั้งระบบประมาณ16,446ล้านบาท
นอกจากนี้ การพยากรณ์โดยใช้แบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Model)จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าวมูลค่า92,000ล้านบาท แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายในเดือนมิถุนายน จะช่วยผลักดันให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้นหรือGDPเพิ่มขึ้นถึง210,120ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในGDPภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมูลค่า15,452ล้านบาท และ194,668ล้านบาทตามลำดับ เมื่อนำค่าประมาณการเพิ่มขึ้นของGDPมาวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองทางเศรษฐมิติ พบว่า การเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าวจะสามารถช่วยลดภาระหนี้สินในภาคเกษตรได้เฉลี่ยอีกครัวเรือนละ1,150บาทต่อปี หรือสามารถลดภาระหนี้ในภาคเกษตรทั้งระบบอีกประมาณ6,570ล้านบาท (ครัวเรือนเกษตร ณ ปีเพาะปลูก2555/2556มีจำนวน5.713ล้านครัวเรือน)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการรองรับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการ ดังนี้
1. มาตรการระยะสั้น ในกรณีที่เกษตรได้รับผลกระทบจากการผลิต การตลาด หรือมีปัญหาอื่นๆ แต่ยังมีความสามารถในการผลิต ให้มีการจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือพักชำระหนี้ออกไปอีก1ปีโดยที่ไม่คิดเบี้ยปรับ นอกจากนี้ ควรมีการปรับโครงสร้างการจัดสรรดอกเบี้ยแก่เกษตรกร
2.มาตรการระยะยาว ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในการเรียนรู้สำหรับการทำการเกษตรยุคใหม่ โดยกระทรวงฯ ให้การสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเกษตรของเกษตรกร และให้การอบรมพัฒนาทักษะด้านการเกษตรและกระบวนการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนให้แก่เกษตรกร การสนับสนุนอาชีพเสริมรายได้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากอาชีพหลัก โดยสนับสนุนด้านการอบรมให้ความรู้ผ่านเครือข่ายชุมชนต่าง พร้อมหาช่องทางการตลาด การส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างวินัยทางการเงิน โดยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทั้งนี้เพื่อลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งกระทรวงฯ ได้ดำเนินมาตรการระยะยาวดังกล่าวภายใต้นโยบายSmart FamerและSmart Officerด้วย
**********************************************
ข้อมูล:ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร
http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=17495&filename=index
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.