อนุสรณ์ เสนอ คสช.เอาผิดผู้ทุจริตในโครงการจำนำข้าว ทบทวนว่าควรเลิกโครงการหรือไม่
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กลุ่มนักวิชาการและนักธุรกิจภายใต้เครือข่ายติดตามผลกระทบของรัฐประหารทางเศรษฐกิจได้หารือกันและมีข้อเสนอต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนับสนุนการเร่งกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้ค่าจำนำข้าวให้ชาวนาที่เหลืออีก 8 แสนราย แต่ขอให้ คสช.ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจำนำข้าวอย่างเด็ดขาด ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คสช. และหน่วยงานรวมทั้งกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องบริหารจัดการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้ได้สภาพคล่องมาชำระหนี้ชาวนาและทำให้เกิดภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด
ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้หรือชำระเงินให้ชาวนาที่ถือใบประทวน โดยสถาบันการเงินสามารถนำใบประทวนซึ่งเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันมารับเงินจากรัฐบาลได้ต่อไป
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า นโยบายแทรกแซงราคา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับจำนำ นโยบายประกันราคาก็ตาม รัฐบาลควรนำมาใช้เพียงระยะสั้นๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาหรือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำและผันผวนเท่านั้น
“การแทรกแซงราคาที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานานๆ เพราะจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการผลิตและฐานะทางการคลังของรัฐบาล และไม่สามารถสร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาหรือเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ จะต้องปฏิรูปภาคเกษตรกรรมเท่านั้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ต้องปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร
ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน ใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการความรู้ เพื่อ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร (ข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ)
นอกจากนี้ คสช.ต้องเร่งรัดให้จัดทำงบประมาณปี 2558 ให้ทันต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายของประเทศในด้านต่างๆ ควรมีการดำเนินนโยบายทางการเงินและนโยบายการคลังผ่อนคลายเพิ่มเติมในช่วงเวลานี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจน
“ขอให้มีมาตรการรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินและกระแสเงินทุนไหลออกที่จะส่งผลต่อการอ่อนตัวของค่าเงินบาทอย่างรุนแรง มีมาตรการในการดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน”นายอนุสรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในที่สุดแล้ว คสช.ควรเร่งรัดให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปด้านต่างๆไม่สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายซึ่งต้องทำให้บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย
“คสช. ควรรีบประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนและประกาศเป้าหมายและเงื่อนเวลาในการจัดการเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องบประมาณความช่วยเหลือระหว่างประเทศและข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ”นายอนุสรณ์ กล่าว
โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2557