ลม หายใจชาวนา"ใต้เงาหนี้" วิถีชีวิตที่เปลี่ยน แม้ไม่ต้องถือเคียวเกี่ยวข้าว ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่นา ต้องซื้อข้าวกิน ฤา...ถึงจุด"อวสาน"
เช้าวันนี้ ทวี อินทรเอม ชาวนาบางลี่ วัย 50 ปี ยังคงต้องมาสำรวจแปลงนาทั้ง 29 ไร่ ว่ายังมีน้ำเพียงพอ เลี้ยงต้นข้าวไม่ให้เหี่ยวเฉาตายหรือไม่ หลังจากเขาได้ลงทุนปลูกข้าวพันธุ์ กข.4 มาแล้ว 90 วัน เพราะหากทำนารอบนี้ไปไม่รอด อาจหมายถึงหนี้สินที่จะพอกพูนขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
" ตอนนี้ข้าวเริ่มออกรวงแล้ว ก็มาดูน้ำอย่างเดียว เพราะข้าวพันธุ์นี้อายุ 115 วัน แต่รอบนี้เจอลมหนาว และยังมาเจอกับน้ำน้อยอีก ทำให้ข้าวออกมาไม่สุดรวง ไม่เหมือนข้าวหน้าร้อน ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าผลผลิตที่เหลือจะพอมาใช้หนี้หรือเปล่า " ว่าพลางชี้ให้ดูรอยกัดกินของหนูนาบนต้นข้าว
นาข้าวของทวี เป็นหนึ่งในผืนนากว่า 20,000 ไร่ใน ต.บางลี่ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ที่ชาวนา 2,000 รายส่วนใหญ่เสี่ยงทำนากัน 3 ครั้งต่อปี เพราะอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานของคลองชัยนาท-ป่าสัก ฝั่งซ้าย ประกอบกับเมื่อโครงการรับจำนำข้าวเข้ามา ทำให้ชาวนาที่นี่มีความหวังกับโครงการนี้ เนื่องจากให้ราคาสูงถึง 15,000 บาทต่อตัน และชาวนาบางรายเคยได้กำไรตั้งแต่หลักแสน ถึงหลักล้านบาทในรอบฤดูเพาะปลูกปี 54 มาแล้ว
" ผมทำนามา 30 กว่าปียอมรับว่าช่วง 2 ปีนี้มีกำไรสูงสุดจากการขายข้าวถึง 400,000 บาท เพราะข้าวของผมมีความชื้นน้อย ราคาดี จำนำได้ตันละ 14,800 บาทต่อไร่ แต่ถามว่าเงินพอใช้หนี้มั้ย มันก็พอหักหนี้ไปได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะตอนนี้ยังมีหนี้อยู่อีกหลายแสนบาท " ลุงทวี บอกพร้อมเล่าว่า ชาวนาส่วนใหญ่ยังมีหนี้สินที่สะสมโดยหนี้ก้อนแรก มาจากการเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อนำเงินเป็นทุนทำนา บางรายก็นำเงินไปใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งลูกเรียนหนังสือ ซึ่งของตัวเขาเองก็ต้องไปลงอยู่กับหนี้เหล่านี้ ส่วนระยะหลังเมื่อจำนำข้าวได้ราคาดี หนี้ใหม่ จะมาจากการผ่อนรถใหม่ป้ายแดง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ดังนั้นชาวนาจึงใช้เงินที่ได้จากการขายข้าวใช้หมุนเวียนหนี้สินเป็นรายปี
หากถามว่าหนี้สินที่พอกพูนมาจากสัดส่วนไหน ลุงทวี ยอมรับว่า วิถีชีวิตชาวนาไทย ที่เปลี่ยนไปเป็น "ชาวนามือถือ"หรือผู้จัดการนา ซึ่งทุกขั้นตอนมาจากการจ้างแรงงานครบวงจร และชาวนา"ทำหน้าที่"เพียง แค่ยกโทรศัพท์ไปตามเบอร์ต่างๆ เท่านั้น ตั้งแต่เริ่มเตรียมแปลงจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ชนิดที่ชาวนาแทบจะไม่ได้ลงมือทำ เลย แต่สิ่งเหล่านี้ หมายถึงรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ยังไม่รวมกับการใช้สารเคมี ปุ๋ยในนาข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้ต้นทุนการทำนาในปัจจุบันสูงถึงไร่ละ 5,000 -6,000 บาท ซึ่งรวมถึงการต้องเช่าที่ดินเพื่อทำนาอีกไร่ละ 1,000 บาทต่อรอบการเพาะปลูก หรือบางแห่งจ่ายด้วยข้าว 15 ถังต่อไร่
"เอาเป็นว่าค่าโสหุ้ยทำนาจะไปลงกับค่าจ้างซะครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งเป็นค่าสารเคมี ปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ เพราะตั้งแต่เริ่มตีเลน ย่ำเลนก็ไร่ละ 200 บาท สมัยก่อนเขาใช้วัว ใช้ควาย จากนั้นก็ต้องฉีดยาคลุมเลนไร่ละ 60 บาท หว่านข้าวไร่ละ 50 บาท พอหว่านปุ๋ย ไร่ละ 70 บาท ฮอร์โมน 1 เดือน ไร่ละ 60 บาท จากนั้นข้าว 70 วันหว่านปุ๋ยรอบ 2 ไร่ละ 60 บาท ค่าจ้างสูบน้ำเข้านา จนถึงรถเกี่ยวข้าวอีก 550 บาทต่อไร่ " ลุงทวี แจกแจงรายจ่ายต้นทุนทำนา ของเขา
เขา ยอมรับว่า มองเห็นความเปลี่ยนของวิถีชาวนาไทย เทียบไม่ได้กับรุ่นปู่ย่าตายาย ต้นทุนทำนาในช่วงที่เขาอายุแค่ 15 ปีตกไร่ละ 500 บาท แต่ตอนนี้สูงกว่าอดีตถึง 10 เท่าตัว เพราะสมัยก่อนชาวนาทำนาไม่ใช่ปุ๋ย และใช้แรงงานคนในครอบครัวเป็นหลัก แม้แต่เกี่ยวข้าวก็ใช้การลงแขกขอแรงกัน ที่สำคัญชาวนามียุ้งฉางไว้รอผลผลิตตากให้แห้ง แต่ตอนนี้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะเรื่องของปุ๋ย และสารเคมีต่างๆ หากเราไม่ใส่ แต่แปลงเพื่อนบ้านใส่ เมื่อผลผลิตออกมาก็จะได้น้อย ไม่คุ้มกับต้นทุน แม้แต่เมล็ดพันธุ์ข้าว ก็ยังต้องซื้อ ทุกอย่างแข่งกันปลูกข้าวอายุสั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวมากที่สุด และให้ทันรอบการรับจำนำ
"ผมคิดว่าชาวนามีหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อเริ่มมียุคการทำนาปรังเข้ามา และชลประทานเข้าถึงตั้งแต่ช่วงปี 2520 กว่าๆ เปลี่ยนจากทำนาเที่ยวเดียว อาศัยน้ำฝน เพราะทุ่งท่าวุ้งแถวนี้น้ำจะสูงเมตรครึ่ง ใช้ข้าวฟางลอย และซังจะลอยตามน้ำ พอสิ้นเดือนสิงหาคม -กันยายน ต้องเกี่ยวข้าวหมด เพราะจะเป็นน้ำหลากที่ถูกเอาน้ำมา ทิ้งในทุ่งนา แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาทำนา 2 - 3 รอบ จนแรงงานไม่พอ ก็ต้องจ้าง เพราะทำนา 20-30 ไร่ บางคนทำ 100 ไร่ก็ไม่ไหว ผมเองยังเลิกหว่านข้าวเองมาเกือบ 5 ปีแล้ว สมัยก่อนถ้าทำนาได้ข้าว 40 ถังก็อยู่ได้สบายๆ แต่ตอนนี้เราอยากได้ข้าวมากๆ และให้ทันต่อการเข้ารอบขึ้นทะเบียนปลูก เพราะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น" ลุงทวี บอก
หากถามว่าอาชีพชาวนาสร้างความมั่นคงกับเราหรือไม่ ชาวนาวัย 50 ปี บอกว่า ถ้ามีโครงการรับจำนำ อาชีพนี้ยังพออยู่ได้แน่นอน เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา เขายังมีกำไรจากโครงการรับจำนำ พอได้นำเงินกว่า 2 แสนบาทมาใช้หนี้กับธ.ก.ส. ขณะที่ยังมองลูกบ้านที่มีอาชีพรับจ้างทำนา ที่อย่างน้อย พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ต้องไปหางานต่างถิ่น เพราะจะมีการจ้างงานแทบทุกวันจนสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว
" ชาวนายัง ต้องเช่าที่นา ทำนาไปก็หาซื้อนาไม่ได้แล้ว อาศัยเช่าเขาทำนา ตอนนี้ถ้านาติดถนนดำขายกันไร่ละ 1.5 แสนบาทแล้ว สมัยเมื่อสัก 50 ปีแถวนี้ไร่ละ 180-500 บาท แต่ปัจจุบันคนต่างถิ่น กลายมาเป็นเจ้าของที่นาที่ขายเปลี่ยนมือ เพราะความจน บางคนติดหนี้แบงก์ก็ถูกยึดบางคนเห็นราคาจูงใจ สุดท้ายขายแล้วบางรายก็กลับมาเช่าที่ทำนา" ลุงทวี บอกถึงปัญหาพลางชี้ให้ดูแปลงนา 9 ไร่ที่ครอบครัวของเขายังเก็บรักษาไว้ให้รุ่นลูก
กระนั้นก็ตาม อนาคตชาวนาในมุมของ ลุงทวี กลับมองไม่เห็นทางออก ซึ่งเขาบอกชาวนาทำนา แต่ไม่ได้กำหนดราคาขายได้เอง หากพ่อค้าให้ราคาข้าวตันละ 8,000 บาทก็ต้องขาย เพราะชาวนาไม่มีที่แปรรูป โรงสีของตัวเอง และข้าวปริมาณมาก 20 ตัน ถ้านาปรัง ยิ่งเก็บข้าวยิ่งเหลือง จะถูกกดราคามากขึ้น
คำบอกเล่าของลุงทวี ยังสอดคล้องกับข้อมูลของ บุญส่ง ทับเจริญ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางลี่ ที่สำรวจพบว่าชาวนาส่วนใหญ่ของ บางลี่ มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึง 1 แสนบาท ทั้งในและนอกระบบ โดยแบ่งเป็นหนี้ธ.ก.ส. หนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้นอกระบบ และหนี้เกือบทั้งหมดนำมาลงทุนในการทำนานั่นเอง
วันนี้ชาวนาในลุ่มเจ้าพระยา แม้ไม่ต้องถือเคียวเกี่ยวข้าวแบบในอดีต แถมส่วนใหญ่กลับไม่ได้เป็นเจ้าของที่นา รวมทั้งยังต้องซื้อข้าวกิน นี่จึงอาจถึงจุดอวสานชาวนาไทย ที่ยังต้องตกอยู่ในวังวนหนี้สิน...
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557
โดย : จันทร์จิรา พงษ์ราย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.