ชาวนาอ.วังทอง จ.พิษณุโลก ยังคงปักหลักทำนาอย่างต่อเนื่อง บา
งพื้นที่ได้ลงมือปลูกข้าวรอบใหม่มาตั้งแต่เดือนธ.ค.2556 แล้ว ขณะที่บางราย ก็เพิ่งลงมือไถปรับพื้นที่ เพื่อลงข้าวนาปรังรอบใหม่ แม้ว่าจะไม่มีเงินทุนมาลงทุนทำนารอบนี้ แต่ก็ต้องยอมไปกู้ปัจจัยการผลิตจากร้านค้ามาลงทุนก่อน ทั้งน้ำมัน เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ปุ๋ย รวมถึงต้องกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบมาลงทุนทำนารอบใหม่และใช้จ่ายในชีวิต ประจำวัน
นายพิน อ่อนล้อม อยู่บ้านเลขที่ 142 ม.9 บ้านดงไผ่ ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เป็นชาวนาก็ต้องทำนาต่อไป ถ้าไม่ทำก็ไม่มีเงินมาเลี้ยงครอบครัว ทำนาทั้งหมด 80 ไร่ มีนาของตัวเอง 10 ไร่ ที่เหลือเช่านาเพื่อนบ้านปลูกข้าว เสียค่าเช่ารอบละ 1,000 บาท ช่วงนี้ลำบากมาก หลังจากเกี่ยวข้าวเมื่อเดือนพ.ย.2556 ได้ข้าว 50 เกวียน ก็นำเข้าไปร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล แต่ยังคงมีแต่ใบประทวน ยังไม่ได้เงิน ก็ตั้งหน้าตั้งตารอ คิดเป็นเงินประมาณ 500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ต้องไปเซ็นค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันตามร้านค้าที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพื่อนำมาลงทุนรอบใหม่ ครั้งนี้ทำนาเท่าเดิม 80 ไร่ ลงทุนไปแล้วประมาณ 200,000 บาทเริ่มปลูกเดือนธ.ค. 2556 จะเกี่ยวได้ก็ประมาณเดือนมี.ค. 2557 ก็ติดร้านค้าไว้ก่อน เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็กู้เพื่อนบ้านมา ระยะสั้นก็เสียร้อยละ 3 ระยะยาวก็เสียร้อยละ 5 สำหรับโครงการรับจำนำก็ดี ช่วยให้ชาวนาได้ราคาข้าวสูงขึ้น จำนำอย่างช้าก็ได้เงินประมาณ ครึ่งถึง 1 เดือน แต่รอบนี้มันนานมาก จะให้มาขายสดตันละ 5,000-6,000 บาท ทำไม่ได้ มันขาดทุน เพราะค่าจ้างขึ้นหมด ทั้งค่าไถ ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย
นายสี สายบุญมา อยู่บ้านเลขที่ 32 ม.11 บ้าน แหลมคลัก ต.แม่ระกา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ทุกนวันนี้ก็ยังไม่ได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าวเหมือนกัน และจำเป็นต้องลงทุนทำนารอบใหม่ รอบที่แล้วเกี่ยวและเข้าจำนำเดือนพ.ย. 2556 นาข้าวพื้นที่ 30 ไร่ ได้ข้าว 15 ตัน คิดเป็นเงินก็จะได้ประมาณ 200,000 บาท และเริ่มทำนารอบใหม่เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีกู้เงินฉุกเฉินจากธ.ก.ส. จำนวน 50,000 บาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 2 มา เป็นค่าลงทุนทำนารอบนี้ เหมือนกับเรากู้เงินของตัวเอง เพราะเงินรับจำนำข้าวที่เราน่าจะได้มันยังไม่ได้ ค่าเกี่ยว ค่ารถลาก ค่าแรง ก็ต้องติดเขาไปก่อน รอจนกว่าจะได้เงินจำนำข้าวจึงจะจ่ายให้ได้
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 มกราคม 57