สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) มีบทบาทและหน้าที่ในการจัดที่ดินและที่อยู่อาศัยให้แก่เกษตรกร ควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตปฏิรูปที่ดิน อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการเรียนรู้ และสนับสนุนเงินทุน เพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกร ซึ่ง ส.ป.ก. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ “กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” โดยมุ่งหวังเพื่อสร้างฐานความเข้มแข็งให้เกษตรกรสามารถพัฒนาตนเอง สร้างโอกาสและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืน
นางวรรณนภา บุญสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุน ส.ป.ก. กล่าวถึงทิศทางและการดำเนินงานของส.ป.ก. ภายใต้การบริหารงานของ เลขาธิการ ส.ป.ก. นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ว่า ในการบริหารกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มุ่งเน้นให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปในลักษณะรายจ่ายหมุนเวียนเป็นหลักใน 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ การจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ ซึ่งขณะนี้มีผู้ขึ้นทะเบียนขอรับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ประมาณสามแสนกว่าราย ส่วนภารกิจหลักอีกด้านหนึ่งคือการสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ตามพันธกิจของ ส.ป.ก. โดยในส่วนของการดำเนินงานด้านสินเชื่อ ในปี 2556 กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้จัดสรรเงินไว้สำหรับการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสหกรณ์ จำนวน 600 กว่าล้านบาท
กองทุนฯ ได้อนุมัติเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินกู้ยืมเพื่อเป็นทุนดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ จำนวน 10 สหกรณ์ 6 จังหวัด ดังนี้ 1. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิหนึ่ง จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 2. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสอง จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 3. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสาม จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 4. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสี่ จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 5. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิห้า จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 6. สหกรณ์กองทุนสวนยาง ส.ป.ก.บ้านควนตอ จำกัด จังหวัดตรัง 7. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินขาณุวรลักษบุรี จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร 8. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินบึงสามพัน จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์9. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินชุมพลบุรี จำกัด จังหวัดสุรินทร์ และ 10. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินศรีสัชนาลัย จำกัด จังหวัดสุโขทัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 34.50 ล้านบาท
ส่วนในปี 2557 ได้เตรียมวางแผนการจัดสรรเงินของกองทุนฯ เพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสหกรณ์ ประมาณ 650 ล้านบาท ตามข้อมูลการสำรวจความต้องการในเบื้องต้นของเกษตรกรและสหกรณ์ ทั้งนี้ในการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกรและสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน กองทุนฯ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับสถาบันเกษตรกรมากขึ้น และลดสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรรายย่อย และส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรและพัฒนาเป็นสหกรณ์ อันจะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินงานในรูปแบบของสหกรณ์ เนื่องจากเล็งเห็นว่า การดำเนินธุรกิจในแบบของการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้สหกรณ์ยังมีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะระบบการดูแลสมาชิกภายในสหกรณ์ สำหรับในส่วนของสินเชื่อเงินกองทุนฯที่ให้การสนับสนุนแก่สหกรณ์มีจุดเด่น คือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่น ๆ
ที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อให้แก่สหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินมีปัญหาในเรื่องของระเบียบและขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครง การซึ่งค่อนข้างใช้เวลานาน ในอนาคต ได้เตรียม แผนปรับปรุงแก้ไขระเบียบฯที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดขั้นตอน เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ เพิ่มการกระจายอำนาจให้กับคณะกรรมการระดับจังหวัดมากขึ้น จากเดิมไม่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการ เพิ่มอำนาจให้สามารถอนุมัติโครงการได้ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อให้การอนุมัติวงเงินกู้และการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ทันต่อความต้องการของสหกรณ์ โดยเป้าหมายของการให้สินเชื่อหรือปล่อยเงินกู้กองทุนฯ จะเน้นให้การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ใดได้ ซึ่งต้องมีผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 4 ราย โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติวงเงินกู้รายละ 50,000–100,000 บาท ในส่วนของการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์ เน้นการให้ความช่วยเหลือสหกรณ์ที่มีขนาดเล็ก มีเงินทุนไม่มาก และยังไม่เข็มแข็งมากนัก
สำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้ ส.ป.ก. ได้มีแนวทางให้การสนับสนุนสินเชื่อ โดยล่าสุด ส.ป.ก.ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ผู้ได้รับสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินขอรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกร และสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินสามารถกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.ได้ โดยนำเอกสารสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินมาใช้เป็นหลักประกันหนี้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรและสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นในอนาคตเห็นได้ว่าการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร อาจมิได้ขึ้นอยู่แต่เพียงเงินทุนอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการดำเนินงานอย่างจริงจังของหลายหน่วยงานเพื่อช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรสามารถต่อ
ยอดและพัฒนาอาชีพของตนเองต่อไปได้ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการดำเนินธุรกิจร่วมกันภายใต้หลักการของธุรกิจสหกรณ์ ที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยสร้างอำนาจการต่อรอง และสร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เมื่อกลุ่มเข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็ง เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตรงตามเป้าหมายของ ส.ป.ก.ที่ต้องการให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เดลินิวส์ วันที่ 28 ต.ค. 2556