ดร.ดวงมณี เลาวกุล แนะเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าในอัตราสูงทันกับการเปลี่ยนแปลงราคาแต่ละปี เน้นตรวจสอบการใช้ประโยชน์อย่างสมเหตุสมผล คาดไม่มีผลกระทบคนยากจน จี้ออกเป็น กม.ให้ชัดเจน อย่าแค่โยนหินถามทาง
จากกรณีที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาเปิดเผยว่า ทาง สศค.กำลังพิจารณาในรายละเอียดในการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบายมา และคาดว่าจะสามารถสรุปหลักการได้ภายในสิ้นปี 2556 และในส่วนการบังคับใช้ของกฎหมายต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับหลักการของการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในรัฐบาลนี้ ผอ.สศค. ระบุด้วยว่า จะให้น้ำหนักไปที่การจัดเก็บภาษีบนที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า และคาดว่าอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ ต้องเป็นอัตราที่ลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรในที่ดิน หรือเก็บที่ดินไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า มากกว่าตามร่างกฎหมายฉบับเดิมเสนอให้จัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน ส่วนคำนิยามของคำว่า ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เบื้องต้น ทาง สศค.ได้วางกรอบว่าจะต้องเป็นที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์บนที่ดินไม่ต่ำกว่า 50% ของพื้นที่ โดยจะต้องพิจารณาด้วยว่า การใช้ประโยชน์นั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยเสนอและผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินมายาวนาน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่เดิม เน้นเก็บภาษีบนฐานมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท ทั้งที่ใช้เพื่อการเกษตร เพื่ออยู่อาศัย เพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ฯลฯ และที่รกร้างว่างเปล่า ขณะที่หลักการจัดเก็บภาษีที่ ผอ.สศค.ระบุจะเน้นเก็บภาษีที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่ไม่ระบุชัดว่า สำหรับการใช้ประโยชน์ประเภทอื่นจะจัดเก็บในอัตราใด หรือเป็นการจัดเก็บโดยใช้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือน ที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ตามเดิม
"หากรัฐบาลต้องการให้เกิดการจัดเก็บภาษีที่รกร้างว่างเปล่าจริง ผลักดันอย่างจริงจังภายในปลายปีนี้น่าจะร่างเสร็จได้ เพราะสามารถใช้โครงร่างของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ สำหรับที่ต้องใช้เวลาคงเป็นการระดมความเห็นของผู้ที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น"
เมื่อถามถึงหากมีการจัดเก็บภาษีที่รกร้างว่างเปล่าจริง ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า ก็น่าจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินมากขึ้น แต่ต้องมีกระบวนการกำกับและตรวจสอบว่า มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่สมเหตุสมผลจริง ไม่ใช่เอากล้วย เอามะละกอ ไปลงทิ้งๆ ไว้ แล้วอ้างว่า ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อไม่ต้องเสียภาษี แต่ก็ยังคงเป็นการถือครองที่ดินเพื่อการเก็งกำไรอยู่ดี ทั้งนี้จะต้องพิจารณาอัตราภาษีเป็นองค์ประกอบด้วยว่า จะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินได้หรือไม่ หรือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ก็ยังคงคิดว่า มีต้นทุนในการถือครองที่ต่ำอยู่ดี
สำหรับที่รกร้างว่างเปล่า ผศ.ดร. ดวงมณี กล่าวอีกว่า ควรมีอัตราการจัดเก็บในระดับที่สูงเพียงพอให้เจ้าของที่ดินเหล่านั้นมีต้นทุนในการถือครองที่สูง นั่นคืออัตราการจัดเก็บต้องทันกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินในแต่ละปี จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินระหว่างปี 51-54 และ 55-58 (มีตารางประกอบท้ายข่าว)
"โดยเฉลี่ยทั้งประเทศราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.34 ต่อปี หรือถ้าจำแนกรายภาค ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ก็จะอยู่ที่ร้อยละ 3.23 ดังนั้น หากอัตราภาษีที่จัดเก็บอยู่ในระดับต่ำเช่น ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าที่ดิน ก็จะไม่มีผลต่อการซื้อที่ดินไว้เก็งกำไร เพราะอย่างไรก็ตามเจ้าของที่ดินก็ยังคงได้กำไรจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอยู่ดี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีก็ยังสามารถให้ท้องถิ่นจัดเก็บได้อยู่ และให้เป็นรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นจะมีข้อมูลที่ดีกว่าว่าที่ดินผืนไหนเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง"
ผศ.ดร. ดวงมณี กล่าวด้วยว่า ในอนาคตรัฐบาลจะต้องหารายได้มากขึ้น เพื่อให้ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในทุกปี การจัดเก็บภาษีนี้จึงมีข้อดีใน 2 ด้าน คือ
1. ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ส่งผลต่อการกระจายการถือครองที่ดินมากนัก ขึ้นกับอัตราภาษีว่ามีลักษณะอย่างไร
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น ทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากนัก รัฐบาลก็จะมีงบประมาณมาใช้จ่ายในด้านอื่นได้มากขึ้น
"การหารายได้เพิ่มโดยการเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน ก็จะไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยมากกับคนในระดับล่างหรือคนยากจน ต่างจากการเพิ่มการจัดเก็บภาษีบนฐานการบริโภค ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง"
ขณะที่ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า การออกมาให้ข้อมูลของ สศค.ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ หากไม่ออกเป็นกฎหมาย จึงไม่สามารถแน่ใจได้ว่าเป็นเพียงแค่การโยนหินถามทาง หรือเป็นข่าวโคมลอย เช่นเดียวกับเรื่องภาษีคนโสดหรือไม่ โดยเฉพาะความชัดเจนของนิยามคำว่า รกร้างว่างเปล่าและในเชิงโครงสร้างว่าใครจะเป็นผู้เก็บ
ทั้งนี้ แม้จะออกเป็นกฎหมายชัดเจนแล้ว ศ.ดร.ดิเรก กล่าวด้วยว่า ตนเห็นว่าเป็นเรื่องยากในการปฏิบัติ และคาดว่า 2 ปี ต่อจากนี้ รัฐบาลก็คงผลักดันไม่สำเร็จ
ตารางแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาประเมินที่ดิน ปี 2555-2558
เปรียบเทียบกับราคาประเมินที่ดิน ปี 2551-2554
พื้นที่ อัตราการเปลี่ยนของราคาประเมินที่ดิน อัตราการเปลี่ยนแปลงราคา
(ร้อยละ) ประเมินที่ดินต่อปี(ร้อยละ/ปี)*
ที่ดินทั่วประเทศ 21.34 5.34
เปรียบเทียบราคาประเมินที่ดินในกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด
ที่ดินกรุงเทพมหานคร 17.13 4.28
ที่ดินต่างจังหวัด 21.40 5.35
เปรียบเทียบราคาประเมินที่ดินรายภาค
ภาคกลาง 12.90 3.23
ภายเหนือ 14.84 3.71
ภาคตะวันออก 26.04 6.51
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25.50 6.38
ภายใต้ 32.25 8.06
ภาคตะวันตก 15.55 3.89
หมายเหตุ: ดำเนินการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศประมาณ 29.3 ล้านแปลง หรือคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 321 ล้านไร่ แบ่งเป็น ที่ดินรายแปลงประมาณ 6 ล้านแปลง และที่ดินรายบล็อกประมาณ 23.3 ล้านแปลง
* คำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาประเมิน โดยสมมติให้แต่ละปีมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเท่ากัน
ที่มา : นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในแถลงข่าวการจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์รอบบัญชี พ.ศ. 2555-2558 วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2554 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร 72 ปี กรมธนารักษ์ และการคำนวณของผู้วิจัย
สำนักข่าวอิศรา วันที่ 27 ตุลาคม 2556
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.