ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ แนะรัฐเร่งหามาตรการเพิ่มรายได้โปะรายจ่ายด้านบริการสังคม เช่น ขึ้น VAT จาก 7% เป็น10% อนุมัติเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ผ่านร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และนำมาบังคับใช้โดยเร็ว
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ภาระภาษีและความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีภาครัฐบาลไทย” ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 8 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาฯ
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ นำเสนอผลการศึกษาการกระจายภาระภาษีและความเหลื่อมล้ำในระดับรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และภาครัฐ พร้อมระบุในปี 2554 ภาครัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงถึง 2.15 ล้านล้านบาท โดยรายได้หลักที่เข้าสู่ระบบการคลังของรัฐบาลกลาง 89% มาจากการจัดเก็บภาษีอากร (ภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม) ที่เหลือ 11% จัดเก็บจากรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร เช่น รายได้จากรัฐวิสาหกิจ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าปรับ เป็นต้น
สำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการกระจายภาระภาษีและความเหลื่อมล้ำ ช่วงปี 2531,2541 และ 2552 ในประเทศไทยนั้น ผศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีอากรของประเทศไทยทั้งระบบในภาพรวม มีโครงสร้างก้าวหน้าเล็กน้อยและสามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมในด้ายกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาในระดับเดียวกับประเทศไทย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปินส์ และจีน
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายเพื่อระดมรายได้ของภาครัฐบาลว่า ภาครัฐควรคำนึงถึงประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของภาษีอากร รวมทั้งให้ความสำคัญกับการหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สมดุลกับรายจ่ายด้านบริการสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ดังนี้
1.เนื่องจากภาครัฐมีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เป็น20% รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจไม่ใช่ประเภทรายได้รัฐบาลกลางสูงสุดอีกต่อไป ดังนั้นภาครัฐควรหามาตรการเพื่อเพิ่มรายได้จากภาษีทางตรงประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะรายได้ภาษีบุคคลธรรมดา เพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้น และครอบคลุมผู้เข้าข่ายเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่มีความก้าวหน้ามากและลดความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุด เมื่อเทียบกับภาษีประเภทอื่นๆ)
2.เป็นที่น่าสังเกตว่า รายได้จากภาษีการขายทั่วไป เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น น้อยกว่ารายได้จากภาษีขายเฉพาะ ดังนั้นภาครัฐ “ควร” เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% เพื่อเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น โดยไม่ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อไปอย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีการขายทั่วไปจะทำให้ระบบภาษีถดถอยเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักกับรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นด้วย
3.รัฐสภาควรผ่านร่างพระราชบัญญัติภาษีสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีควรอนุมัติภาษีสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน โดยจะเป็นแหล่งรายได้หลักแหล่งหนึ่งของกรมสรรพสามิตและท้องถิ่น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภาษีอากร รวมทั้ง “ไม่ควร” แทรกแซงระบบภาษีที่มีส่วนลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เป็นเครื่องมือในการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ หรือเพิ่มรายได้ให้กลุ่มผู้มีรายได้เฉพาะกลุ่ม
4.ภาครัฐควร “ยกเลิก” การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่บริษัทนิติบุคคล เพื่อให้รัฐบาลกลางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากรัฐพาณิชย์ เช่น โรงงานยาสูบ เป็นต้น
5.ภาครัฐ “ควร” ผ่านร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและนำมาบังคับใช้โดยเร็ว ทั้งนี้ภาษีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เป็นภาษีที่มีความก้าวหน้าและลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม อีกทั้งยังเป็นรายได้หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดเก็บเอง เป็นที่น่าแปลกใจ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมกับภาษีบำรุงท้องที่ในปัจจุบัน ยังเก็บได้น้อยกว่าภาษีการโอนที่ดิน หรือภาษีรถยนต์และล้อเลื่อนเสียอีก
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.