กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการจากส่วนกลางและภูมิภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด(คปบ.)สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สค.ปท.)จัดทำโครงการวิจัยเรื่องภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคมโดยมี เป้าหมายสำคัญของการวิจัย 3 ประการ
1.ชุมชนและครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายการวิจัยมีการทบทวนและตรวจสอบสถานภาพความมั่นคงเรื่องที่ดิน ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และการวางแผนการจัดการด้านการผลิต การจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในชุมชน
2.สาธารณชน ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง เกิดความรับรู้และเข้าใจถึงความเชื่อมโยงในเรื่องการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร (ปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ) ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรกับความมั่นคงทางอาหารของสังคม และเกิดความตระหนักและมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของที่ดิน ในความหมายแบบกว้าง ที่รวมถึงความมั่นคงทางอาหารของสังคม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การดำรงวิถีและวัฒนธรรมเกษตรกรรมของสังคม
3.มีข้อเสนอที่มาจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวทางและมาตรการเพื่อป้องกันการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย การสูญเสียฐานทรัพยากรด้านอาหาร การปฏิรูปที่ดินเพื่อความมั่นคงของสังคม และประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการที่ดินและการจัดการทรัพยากรเพื่อสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตของเกษตรกรรายย่อย
การศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม ในครั้งนี้วางอยู่บนหลักเกณฑ์การพิจารณากรณีศึกษาเชิงประเด็นโดยเลือกพื้นที่ศึกษากับชาวนาและองค์กรเกษตรกรที่มีแนวโน้มในการสูญเสียที่ดินและทรัพยากรที่ส่งผลต่อความมั่นคงอาหาร ซึ่งจะกำหนดขอบเขตการศึกษาประเด็นการสูญเสียที่ดินในระดับปัจเจกและระดับครัวเรือน โดยเลือกพื้นที่ศึกษาพื้นที่ภาคกลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดเพชรบุรี เครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สค.ปท.) และการสูญเสียที่ดินในระดับชุมชนโดยเลือกพื้นที่ชุมชนบ้านไร่เหนือ จังหวัดตรังเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จากการที่รัฐประกาศพื้นที่เป็นเขตป่าอนุรักษ์ เนื่องจากแนวนโยบายและกฎหมายของรัฐที่ผ่านมา มุ่งเน้นการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดข้อจำกัดต่อสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน รวมทั้งกฎหมายเดิมที่มีอยู่ มีบทบัญญัติที่หวงห้ามประชาชนไม่ให้เข้าใช้ประโยชน์ และปฏิเสธสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่รัฐและพื้นที่ป่า แม้อยู่มาก่อนการประกาศเขตของรัฐก็ตาม กลายเป็นผู้บุกรุกป่าและพื้นที่ของรัฐโดยปริยาย
ทั้งนี้ในรายละเอียดของงานวิจัยและข้อค้นพบสำคัญจากงานศึกษาดังกล่าว รวมถึงข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจศึกษาและอ่านรายละเอียดได้ด้วยการดาวน์โหลดไฟล์ด้านล่าง
landactionthai