เปิดเส้นทางสวมสิทธิ์จำนำข้าว!กำหนดผลผลิตต่อไร่สูงเกินจริง เกิดข้าวส่วนเกิน9.1ล้านตัน เปิดช่องชาวนาขายสิทธิ์"พ่อค้า-โรงสี"รัฐเจ๊ง 1.36 แสนล.
ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ยังเป็นปัญหาหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งบประมาณที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ รอบที่มีการรับจำนำ การรั่วไหลของการใช้จ่ายงบประมาณ และขั้นตอนการตรวจสอบที่ไม่รัดกุมทำให้เกิดช่องว่างของโครงการรับจำนำข้าว เกิดการสวมสิทธิ์โครงการรับจำนำข้าวอย่างที่หลายฝ่ายมีการพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา เป็นการสวมสิทธิ์โดยใช้ข้าวในท้องตลาด หรือไม่ก็ใช้ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ และวิถีความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนา สร้างความแข็งแกร่งและความมีเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องการดึงผลผลิตข้าวเข้ามาอยู่ในการควบคุม เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาและยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นทั้งระบบ คือ นโยบายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว
"กรุงเทพธุรกิจ" ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่องว่างของโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ทำไมถึงมีการสวมสิทธิ์โครงการรับจำนำเกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุผลใด ข้าวที่จะนำมาใส่ในโครงการมาจากไหน
แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงสีข้าว กล่าวว่า ช่องทางที่ทำให้เกิดช่องว่างการสวมสิทธิ์ ส่วนใหญ่มาจากการที่รัฐบาลกำหนดตัวเลขผลผลิตต่อไร่สูงเกินจากความเป็นจริง ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรแต่ละราย คำนวณตามพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัดที่ได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และผลิตรวมของเกษตรกรตามหนังสือรับรองที่กรมส่งเสริมการเกษตร ออกให้เกษตรกรเป็นข้อมูลประกอบ กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการรับจำนำ สูงกว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยให้ปรับเพิ่มได้อีก 20% (ณ ความชื้น 15%) โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นข้าวเปลือกของเกษตรกรเอง เพื่อแจ้งต่อคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลและตรวจสอบ
ทั้งนี้ ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกใบประทวนแยก 2 ส่วน กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำเกิน 20% ของปริมาณผลผลิตเฉลี่ย ส่วนแรกให้ออกใบประทวนในจำนวนผลิตไม่เกินผลผลิตเฉลี่ย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำสัญญาจ่ายเงินให้เกษตรกรไปจับจ่ายใช้สอยได้ ส่วนที่เหลือให้ออกใบประทวนในจำนวนผลผลิตส่วนเกิน 20% และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน
กำหนดผลผลิตต่อไร่สูงเกินจริง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาใหญ่เกิดจากการคำนวณผลผลิตข้าวต่อไร่ที่สูงเกินไป จากการตรวจสอบเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท นครปฐม สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย ฉะเชิงเทรา และ กรุงเทพมหานคร บางส่วน พบตัวเลขผลผลิตข้าวต่อไร่ที่ สศก.ออกใบรับรองให้เกษตรกรไปใช้สิทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 730 กก. (ความชื้นที่ 15%) ดังนั้นหากรัฐเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยให้อีก 20% เมื่อนำผลผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรที่ 730 กก.ต่อไร่คูณด้วยส่วนที่เพิ่ม 20% เท่ากับว่ามีส่วนต่างเกิดขึ้น 146 กก.ต่อไร่ ซึ่งตัวเลขรวมข้าวที่รัฐกำหนดว่าเกษตรกรจะได้รับอยู่ที่ 876 กก.ต่อไร่
ขณะที่ข้าวที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่เป็นข้าวสด อยู่ที่ 800 กก.ต่อไร่ ที่ความชื้น 25% ดังนั้นเมื่อนำข้าวเข้าโครงการรับจำนำเกษตรกรจะถูกหักน้ำหนักตามเกณฑ์ให้เหลือความชื้นอยู่ที่ 15% โดยความชื้นทุกๆ 1% จะถูกหักออก 15 กก. เกษตรกรจะเหลือน้ำหนักข้าวแห้งที่จำนำจริงเพียง 680 กก.ต่อไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่โรงสีหักออก ดังนั้นหากคำนวณแล้วจะพบว่าปริมาณผลผลิตรวมต่อไร่ที่ สศก. ระบุไว้ที่ 876 กก.ไร่ข้างต้น เมื่อหักปริมาณข้าวที่เกษตรกรจำนำได้จริง 680 กก.ต่อไร่ เท่ากับว่าเกิดส่วนต่างขึ้น 196 กก.ไร่ หากคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่า จะมีส่วนต่างอยู่ที่ 28.82%
พาณิชย์แจงผลรับจำนำข้าว 31.9 ล้านตัน
ดังนั้น ตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แหล่งข่าว จากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าผลรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554/55 นาปรัง 2555 และนาปี 2556/56 โดยผลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ณ วันที่ 19 มี.ค. 2555 รับจำนำในปริมาณ 6,798,286 ตัน เป็นของ อคส. ประมาณ 4.306 ล้านตัน และ อ.ต.ก. 1.6 ล้านตัน ธ.ก.ส. 0.107 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเปลือกเจ้า 2,915,341 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 3,089,919 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 15,242 ตัน และ ข้าวเปลือกเหนียว 442,359 ตัน
การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 ณ วันที่ 18 ม.ค. 2556 ปริมาณรวม ปริมาณรวม 14,700,000 ตัน แยกเป็น อคส. 11,192,158 ตัน ของ อ.ต.ก. 3,507,842 ตัน การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 ณ วันที่ 6 มี.ค. 2556 ปริมาณรวม 11,013,316 ตัน ของ อคส. 9,066,944 ตัน ของ อ.ต.ก. 1,946,438 ราย จำแนกเป็นข้าวเปลือกเจ้า 6,542,495 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 3,318,773 ตัน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 480,108 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 25,140 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 646,801 ตัน ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศที่จะรับจำนำเพิ่มอีก 7 ล้านตัน
ชี้ข้าวส่วนเกินทำรัฐเสียหาย 1.36 แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม ในปริมาณการรับจำนำข้าวของรัฐบาลข้าวที่ไม่ค่อยมีปัญหาส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวเนื่องจากมีปริมาณน้อย ส่วนข้าวที่มีปัญหาจะเป็นข้าว 5% ในจำนวนดังกล่าวในส่วนของข้าวหอมมะลิก็มีอยู่บางส่วน แต่สำหรับข้าวเหนียวแทบจะไม่มีเพราะปริมาณข้าวมีน้อย ดังนั้นจะเห็นว่าข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำอยู่ที่ประมาณ 31.9 ล้านตันโดยเฉลี่ย ในจำนวนนี้เมื่อนำไปคำนวณกับเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างต่อไร่อยู่ที่ 28.82% พบว่าจะมีข้าวเปลือกส่วนเกินอยู่ประมาณ 9.1 ล้านตัน ที่สามารถสวมสิทธิ์ได้ ซึ่งในจำนวนนี้จะเกิดช่องว่างทำให้มีพ่อค้า โรงสี ชาวนาฉวยโอกาสสวมสิทธินำข้าวจากที่อื่นเข้ามา หากเป็นความชื้นข้าว 15% ที่รัฐบาลตั้งไว้ตันละ 14,800 บาท ในจำนวนนี้ทำให้รัฐเสียหายประมาณ 1.36 แสนล้าน
"ชาวนา-พ่อค้า-โรงสี"ใช้ช่องว่างสวมสิทธิ์
แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้าวส่วนเกินที่เกิดขึ้น ทำให้มีกลุ่มคนเข้าไปหาผลประโยชน์ ซึ่งมีตั้งแต่เกษตรกร โรงสีบางกลุ่ม พ่อค้าท้องถิ่น โดยในส่วนของเกษตรกรก็จะมีการสวมสิทธิกันเองในหมู่บ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อให้ได้ตามปริมาณที่ได้รับ ส่วนพ่อค้าท้องถิ่นก็จะใช้วิธีการรวบรวมสิทธิเกษตรกรมาขายให้กับโรงสี หรือไม่โรงสีก็จะขอซื้อสิทธิจากเกษตรกรโดยตรง ทั้งหมดนี้จะทำกันเป็นกระบวนการ ที่สำคัญต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อรวบรวมสิทธิได้ พ่อค้าก็จะหาซื้อข้าวจากท้องตลาดในราคาตันละประมาณ 10,000 บาท ก็หาซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ
หรือไม่ก็ใช้วิธี "เปาเกา" คือ นำข้าวที่เกิดจากการประมูลของรัฐมาใส่แทน เพื่อส่งเข้าโครงการรับจำนำในนามเกษตรกร เพื่อนำไปออกใบประทวน รับเงินจาก ธ.ก.ส.แทนพ่อค้าข้าว ที่ตันละ 14,800 บาท
เปิดสูตรแบ่งปันประโยชน์ถ้วนหน้า
"ข้าวที่หามาใส่ในโครงการรับจำนำจะอยู่ที่ตันละ 10,000 บาท แต่สามารถส่งเข้าโครงการรับจำนำได้ถึงตันละ 14,8000 บาท ส่วนต่าง 4,800 บาทก็จะแบ่งกัน หักให้กับเกษตรกรในการขายสิทธิให้ตันละ 500 -1,000 บาท ส่วนพ่อค้าจะได้ส่วนต่างจากโรงสีอยู่ที่ตันละ 1,000 บาท ส่วนโรงสีก็จะได้รับตันละ 1,000-2,000 บาทแล้วแต่ข้อตกลง รวมทั้งการแบ่งผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโกดังเพื่อง่ายต่อการนำข้าวเข้าโกดัง" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากกลุ่มหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำเพราะเป็นโครงการที่ทำมานานแล้ว จนมีกลุ่มคนบางกลุ่มมองเห็นช่องทางการหาผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาตรวจสอบ ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่เซ็นชื่อรับรองเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบที่ไปที่มาอย่างแท้จริง ดังนั้นจะเห็นว่าการกำหนดปริมาณผลผลิตที่สูงจนทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลกระทบทำให้รัฐต้องสูญเสีบงบประมาณจำนวนมาก "จริงๆ แล้วโครงการรับจำนำข้าว หากมีการเข้มงวดตรวจสอบที่ดีกว่านี้ คงไม่ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณ 3-4 แสนล้าน อย่างที่เป็นอยู่ แต่การละเลยที่เกิดขึ้นเป็นเหตุทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก"
ชี้ซื้อกัมพูชา6,500ขายรัฐ14,800บาท
ขณะที่ นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลได้กายเป็นช่องโหว่เกิดคอร์รัปชันสูง การนำข้าวมาสวมสิทธิถือว่าทุกฝ่ายร่วมมือกันตั้งแต่ชาวนา โรงสีพ่อค้า ทำกับเป็นกระบวนการ ชาวนาเองก็มีการขายสิทธิให้ เพื่อนำไปออกใบประทวนกับอ.ต.ก.และอ.ค.ส. ทุกวันนี้มีการขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิจำนวนมาก อย่างข้าวที่กัมพูชามีการรับซื้อกันที่ตันละ 6,500-7,000 บาท เอามาทำเป็นข้าวแห้งความชื้น 15% ขายเข้าโครงการรับจำนำตันละ 14,800 บาท วันหนึ่งๆ เข้ามาหลายพันตัน ใช้รถพ่วงขับกันเข้ามาจำนวนมาก ตรงส่วนนี้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก แต่กลุ่มที่ทำกันก็จะได้รับผลประโยชน์เท่าตัว
"ผมว่าการที่รัฐบาลสัญญาจำนำทุกเมล็ดจึงเป็นเหตุทำให้เกิดการทุจริตขึ้น เพราะไปเอาข้าวที่ไหนมาก็ได้ ชาวนาก็เหมือนกันแจ้งทำนา 5-6 แปลงพอข้าวตัวเองเสียก็ไปเอาจากที่อื่นมาใส่ หรือไม่ก็ขายสิทธิให้ทั้งพ่อค้าและโรงสีซึ่งเกิดขึ้นเยอะมาก"
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบก็ไม่มีประสิทธิภาพทุกฝ่ายรู้เห็นเป็นใจเพราะได้รับผลประโยชน์ทั่วถึง ในส่วนของโกดังเก็บข้าวเช่นกันหากไม่จ่ายใต้โต๊ะให้กับโกดังก็จะไม่มีสิทธิที่จะนำข้าวเข้าไปได้ รวมทั้งบริษัทเซอร์เวเยอร์ หากไม่จ่ายก็จะตรวจสอบไม่ผ่าน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบและเข้มงวดส่วนนี้มากขึ้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 18 มี.ค. 56
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.