นายสามารถ ดวงวิจิตรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า
จากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดทำ "ระบบภูมิสารสนเทศและแผนที่กลางของประเทศไทย" ภายหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลกลางเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนมากขึ้น
ล่าสุดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้มอบหมายให้ GISTDA เป็นผู้ศึกษา เพื่อนำเสนอแผนงานผ่านกระทรวงไปถึงนายกฯ โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โครงการแรกจะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยจัดเก็บฐานข้อมูลแปลงที่ดินเพื่อจัดทำ "โฉนดที่ดินอัจฉริยะ" จากปัจจุบันโฉนดที่ดินจะแสดงเฉพาะรูปแปลงที่ดิน ให้รู้ขอบเขตและหลักหมุดที่ดิน แต่ไม่สามารถตรวจสอบสภาพพื้นที่ สภาพการใช้ที่ดิน ณ ปัจจุบันที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตโฉนดที่ดินอัจฉริยะจะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มรายละเอียดข้อมูล อาทิ ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบิน ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ฯลฯ เพื่อนำเสนอภาพแปลงที่ดินแบบ 2 และ 3 มิติมีรายละเอียดมากขึ้น
นอกจากนี้ จะบรรจุข้อมูลต่าง ๆ ฝังไว้ใน "ไมโครชิป" เพื่อเรียกดูข้อมูลได้ อาทิ สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบัน, สภาพแวดล้อมที่ดินโดยรอบ, ข้อมูลราคาประเมินที่ดิน, เป็นพื้นที่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อนหรือไม่, ระดับความสูง-ต่ำของที่ดิน ฯลฯ รวมถึงมีการบรรจุ "คิวอาร์โค้ด" ไว้ภายในโฉนด สำหรับใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนสแกน เพื่อเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ จากฐานข้อมูลกลางได้เช่นกัน โดยอาจจะต้องกำหนดให้ต้องใส่รหัสเพื่อป้องกันการลักลอบดูข้อมูล
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโฉนดที่ดินแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้เป็นโฉนดที่ดินแบบอัจฉริยะ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ จะให้เป็นความสมัครใจของประชาชนเอง การยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงโฉนดต้องให้กรมที่ดินรับยื่นคำขอ จะมีค่าใช้จ่ายบ้างแต่ไม่ถึงกับเป็นภาระของประชาชน
นายสามารถกล่าวว่า สำหรับฐานข้อมูลที่ควรจะต้องจัดเก็บ ผลศึกษาเบื้องต้น จะมีทั้งหมด 3 หมวด 13 รายการ แยกเป็นหมวดข้อมูลพื้นฐาน 4 ข้อ ได้แก่ 1) ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม 2) ภาพถ่ายทางอากาศ 3) ข้อมูลหมุดหลักฐานทางแผนที่ 4) ข้อมูลแบบจำลองความสูงทางภูมิประเทศ
หมวดข้อมูลด้านสังคม 1 ข้อ ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับแปลงที่ดิน และหมวดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานของประเทศ 8 ข้อ ได้แก่ 1) ข้อมูลเขตการปกครอง 2) ข้อมูลเส้นทางคมนาคม 3) ข้อมูลแม่น้ำ-แหล่งน้ำ 4) ข้อมูลเขตชุมชน ตัวเมือง 5) ข้อมูลการใช้ที่ดิน 6) ข้อมูลป่าไม้ 7) ข้อมูลแผนที่ภูมิประเทศ และ 8) ข้อมูลอุทกศาสตร์ทางทะเล
ข้อมูลทั้งหมดสามารถนำภาครัฐสามารถนำมาใช้ต่อยอดเพื่อจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือภาคประชาชน หากเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ก็สามารถเรียกดูข้อมูลเป็นหลักฐานประกอบการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้
นอกจากนี้ยังนำไปต่อยอดเรื่องอื่น ๆ ได้ ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดที่จะนำข้อมูลมาต่อยอดการจัดทำโครงการโซนนิ่งที่ดินในอนาคต คือ การจัดโซนนิ่ง "พื้นที่เกษตรกรรม" ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ไทยมีที่ดินรวม 321 ล้านไร่ 56% หรือ 180 ล้านไร่ ถูกจัดเป็นพื้นที่โซนนิ่งเกษตรกรรม เพื่อรณรงค์ให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสม
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 11 มี.ค. 56
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.