อธิบดีโยธาฯคนใหม่ เดินหน้าลุยงานเร่งด่วนดึงร่างก.ม.ผังเมืองเพิ่มกฎเหล็ก ให้กฎกระทรวงผังเมืองรวม-ผังชุมชน บังคับใช้จนกว่าประกาศใช้ฉบับใหม่ควบคุมแทน ลั่นหวังปิดช่องนายทุนลักไก่ใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภท
ต้นเหตุทำน้ำท่วม-รถติด หลังเกิดสุญญากาศ ผังเมืองหมดอายุทั่วประเทศกว่า 100 ผัง ประกาศใช้ของใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เหตุมีขั้นตอนมากเกินไป พร้อมลุยตัดถนนกว่า1,000 สาย ด้วยวิธีจัดรูป –จัดทำผัง 25 ลุ่มcน้ำแก้น้ำท่วม
จากปัญหาผังเมืองรวม-ผังชุมชนมีอายุบังคับใช้ในระยะเวลาแค่ 5 ปี แต่สามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ1ปี รวม 7 ปี เพื่อผ่อนผันให้พื้นที่ประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ได้ทัน แต่หากว่าผังเมืองใหม่ไม่สามารถประกาศใช้ได้ทัน เป็นอันว่าในระหว่างนั้นจะเกิดช่องว่างทางกฎหมายหรือสุญญากาศไม่มีผังเมืองควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งผลให้กลุ่มทุนตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่หวงห้ามได้ และผลที่ตามมาคือ ปัญหาจราจรติดขัดและน้ำท่วมตามมา
ต่อเรื่องนี้นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันทีหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2555ที่ผ่านมา เรื่องแรกคือปัญหาผังเมืองชุมชน ผังเมืองรวมจังหวัด โดยในปัจจุบันทยอยหมดอายุจำนวนมาก และไม่สามารถต่ออายุได้ทันเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณดังกล่าวได้ เนื่องจากขั้นตอนตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ผังเมือง 2518 กำหนดไว้มากถึง 18 ขั้นตอน และในแต่ละขั้นตอนมักใช้เวลาพิจารณาที่นานเกินไปทำให้การประกาศใช้ผังให้ต่อเนื่องกับผังเก่าที่กำลังจะหมดอายุลงไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่ามีกว่า 100 ผังทั่วประเทศ ที่ ถูกปล่อยให้หมดอายุลงจนเกิดช่องว่างไม่มีกฎระเบียบควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินส่งผลให้เป็นช่องว่างให้กลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพล เข้าใช้พื้นที่พัฒนาสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเช่นพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมพื้นที่สีขาวทแยงเขียวที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่จะเน้นให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก เมื่อมีการพัฒนาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรและน้ำท่วมตามมา
"ผมคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายในลักษณะนี้อีกซึ่งทางออกที่ดีที่สุดก็คือผังเมืองต้องไม่หมดอายุ ซึ่ง จะต้องเพิ่มเติมสาระสำคัญในร่างกฎหมายการผังเมืองพ.ศ...ที่ ผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยจะกำหนดให้กฎกระทรวงผังเมืองแต่ละท้องที่ชุมชน แต่ละจังหวัด มีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าผังเมืองฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ แม้ว่าในพื้นที่จะมีข้อกำหนดเทศบัญญัติแต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้เท่ากับผังเมือง"
จากการสำรวจพบว่าจังหวัดหลักๆมีผังเมืองรวมที่หมดอายุ ยังไม่ประกาศใช้ได้แก่ ผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ ผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรี ผังเมืองเชียงใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ไม่นานหลังผังเก่าหมดอายุ 8 ปีเป็นต้น
นอกจากนี้มีแนวคิดว่าน่าจะลดขั้นตอนการพิจารณาทางกฎหมายลงซึ่งที่ผ่านมานายอุดม พัวสกุล อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการฯได้จ้างทีมอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนดในร่างรายละเอียดของกฎหมายผังเมืองสำหรับผลดีคือ ลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่หวงห้ามตามผังเมือง แก้ปัญหาการก่อสร้างผิดที่ผิดทางขวางทางน้ำไหล จราจรติดขัดฯลฯ
ขณะเดียวกันจะแก้ปัญหาผังเมืองไม่ให้เป็นแค่เสือกระดาษโดยมีมุมมองว่า พื้นที่สีเขียว พื้นที่เขียวทแยงขาวก็ควรเป็นพื้นที่เกษตรเท่านั้นไม่ควรเปิดใช้ประโยชน์ด้านอื่น หรือพื้นที่สี แดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรมควรจะกำหนดโซนพัฒนาเพียงจุดใดจุดหนึ่ง ไม่ควรกำหนดให้พัฒนาเต็มพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสีแดงทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแก้ไม่ให้เมืองแออัดได้
อธิบดีกล่าวต่อว่าเรื่องของถนนตามผังเมืองทั่วประเทศกว่า 170 ผัง จำนวนกว่า 1,000 สายทาง ซึ่งเฉลี่ยจังหวัดละ 10 สายทาง จะผลักดันให้สำเร็จตามที่กำหนดไว้ เพราะจะช่วยเรื่องการจราจรในพื้นที่ และการพัฒนาตามเขตทาง ที่ผ่านมา มักมีปัญหาการเวนคืนชาวบ้านต่อต้านส่งผลให้การตัดถนนตามผังเมืองไม่ประสบความสำเร็จ ทางออกกรมจะใช้วิธีจัดรูปที่ดินตามกฎหมายจัดรูปที่ดินที่บังคับใช้แล้วโดยเชิญชวนชาวบ้านให้เสียสละที่ดินโดยชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ที่ดินติดถนนราคาขึ้น 5-10 เท่า ขณะที่ รัฐก็ไม่ต้องเสียงบประมาณเวนคืน
สำหรับแผนป้องกันน้ำท่วมตามที่รัฐบาลมอบหมายซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับผังเมืองด้านป้องกันอุทกภัยขึ้นมา 1 ชุด เพื่อจัดทำผังเมืองป้องกันน้ำท่วม 2 จังหวัดนำร่องคือ อยุธยาที่มีประวัติน้ำท่วมซ้ำชากมีโบราณสถาน และนิคมอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน อีกจังหวัดคือ ภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองนานาชาติที่มีปัญหาน้ำท่วม และต่อจากนั้นจะขยายไปยังจังหวัดอื่นที่เสี่ยงน้ำท่วมซึ่งจะกำหนดว่าพื้นที่ไหนควรเป็นโซนที่อยู่อาศัย โซนเกษตรกรรม พื้นที่รับน้ำ หากใครมีบ้านในโซนที่ลุ่มน้ำท่วมก็สามารถยกพื้นให้สูงได้ ฯลฯ
"จะกำหนดเป็นเมืองนำร่องซึ่งต้องช่วยกันทำเองไม่จ้างคอนซัลต์ หน้าตาของผังจะประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่นบริเวณที่อยู่อาศัยพื้นที่ไหนไม่ให้ตั้งถิ่นฐาน บริเวณไหนเป็นสาธารณูปโภคเป็นต้น"
ส่วนการวางผัง 25 ลุ่มน้ำ คือปิง วัง ยม น่าน ถึงอ่าวไทย 13จังหวัด ซึ่งจากภาคเหนือลงมายังอ่าวไทย สมุทรปราการซึ่งเป็นผังเมืองเพื่อป้องกันอุทกภัย จะใช้งบประมาณที่มีอยู่ 2,000 ล้านบาทดำเนินการโดยผังลุ่มน้ำดังกล่าวส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นฟลัดเวย์หรือพื้นที่รับน้ำแต่ประชาชนได้ชดเชยการกำหนดพื้นที่ห้ามอยู่อาศัยเป็นต้น นอกจากนี้ยังทำเขื่อนพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม อาทิ นครสวรรค์ โครงการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งใต้ตั้งแต่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ถึงประตูน้ำปากคลองบ้านใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงการขุดลอกคูคลอง เช่นคลองเปรมประชากรกำจัดผักตบชวา การเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำโมบายรับมือ 24 ชั่วโมงฯลฯ อธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่าเตรียมเสนอรัฐบาลเพื่อให้กรมโยธาฯเข้าไปตรวจสอบอาคารราชการทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานครเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในอาคารความมั่นคงแข็งแรงประจำปี เช่น ศาลากลางจังหวัดฯลฯ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.