รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ตอบทุกประเด็นเอ็นจีโอ-โต้กรณีทุน 'เรดด์พลัส' ระบุมีหน้าที่ดูแลจัดการป่าทั่วประเทศอยู่แล้ว แม้ไม่มีเงินจากเรดด์พลัส
ซึ่งเป็นเงินหนุนจากประเทศพัฒนา ให้ประเทศกำลังพัฒนาฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลาย-เสื่อมโทรม และยังอยู่แค่ขั้นเตรียมข้อมูลยังไม่ได้เข้าไปร่วมอะไร ส่วนการบริหารจัดการ-การนิยามความเป็นป่า ยังไม่ได้ข้อสรุป ย้ำเงินเรดด์พลัสใช้ดูแลพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ก่อน ยังไม่แตะป่าที่มีชุมชนอาศัยอยู่ ติงชาวบ้านไม่ควรพึ่งพิงป่ามากเกินไป สวนเอ็นจีโอเข้าใจผิด เรดด์พลัสไม่ได้ดูแค่การกักเก็บคาร์บอนแต่ทำทั้งระบบ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ที่ก่อผลกระทบถี่และหนักขึ้นในรูปของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เร่งให้นานาชาติต้องหาทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อแก้วิกฤตนี้หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งผลที่ออกมาส่วนใหญ่ไม่น่าพอใจ ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา บ่ายเบี่ยงที่จะผูกมัดตนเองกับเรื่องนี้ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็อ้างถึงเรื่องความเป็นธรรมในการพัฒนา
กลไกหลายชนิดถูกคิดค้นเพื่อหวังลดผลกระทบ Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Countries: REDD หรือเรดด์ ซึ่งภายหลังมีการเพิ่มเติมรายละเอียดเป็นเรดด์พลัส คือกลไกหนึ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาเสนอขึ้น เนื้อหาระบุว่า หากประเทศกำลังพัฒนาสามารถลดการทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรมลง ประเทศกำลังพัฒนานั้นก็ควรได้ค่าชดเชยหรือผลตอบแทนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเตรียมความพร้อม เพื่อร่วมโครงการเรดด์พลัส ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทว่า ในฟากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามกลไกเรดด์พลัส กลับรู้สึกวิตกกังวลว่า ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่เป็นดังที่คิด ป่าอาจไม่ได้รับการดูแลดังที่หวัง และอาจเพิ่มความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐให้สูงขึ้น เนื่องจากเรดด์พลัส มุ่งเน้นการเก็บกักคาร์บอนจนอาจละเลยมิติอื่น ๆ
ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ตอบคำถามเกี่ยวกับเรดด์พลัส ที่ยังคาใจเอ็นจีโอและภาคประชาชน
‘เรดด์พลัส’ยังอยู่ในขั้นเตรียมข้อมูล
ธีรภัทรกล่าวว่า การขอเงินสนับสนุนจากเรดด์พลัส ยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมระยะต้นๆ เท่านั้น เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีการศึกษาในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ
“การจะทำโครงการนี้ได้ ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานว่า ก่อนและหลังทำโครงการมีความแตกต่างกันอย่างไร ดังนั้นการเก็บข้อมูลจะต้องมีตัวชี้วัด มีตัวตรวจสอบที่ดี ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ สิ่งที่กรมอุทยานฯ กำลังทำอยู่ตอนนี้คือ การให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องเรดด์พลัสไปก่อน”
ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวรวมถึงศักยภาพของผืนป่า ในการกักเก็บคาร์บอนด้วย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ขยายความว่า เพราะสภาพป่าที่มีอยู่มีศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนต่างกัน จึงต้องหาข้อมูลว่า ป่าแต่ละประเภทเก็บกักคาร์บอนต่างกันอย่างไร พันธุ์ไม้ที่จะนำมาส่งเสริมเพื่อการเก็บกักคาร์บอนในอนาคต จะมีศักยภาพในการเก็บแค่ไหน ซึ่งกรมอุทยานฯ ต้องมีข้อมูลเหล่านี้ก่อนจึงจะทำอย่างอื่นต่อได้
แบ่งกลุ่มป่าเพื่อจัดการเชิงระบบนิเวศ
ส่วนการแบ่งกลุ่มป่าเป็น 19 กลุ่ม หลักการก็เพื่อให้เกิดการจัดการเชิงระบบนิเวศ หรือ Ecosystem Management ธีรภัทรให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าเมืองไทยถูกทำลายหลายแห่ง พื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่เหลืออยู่มีลักษณะเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยเมือง เมื่อป่ามีพื้นที่จำกัด สัตว์ป่าย่อมมีโอกาสผสมพันธุ์ในกลุ่มเครือญาติเลือดชิด สุ่มเสี่ยงที่สัตว์ชนิดนั้นจะกลายพันธุ์และมียีนด้อย การแบ่งกลุ่มป่านอกจากมีเป้าประสงค์เชื่อมกลุ่มป่าแต่ละแห่งเข้าด้วยกันแล้ว ยังเอื้อต่อการดูแลจัดการป่าเชิงระบบ
“ในหลักการเรื่องความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมทั้งพืชและสัตว์ ถ้าเรามองแค่หน่วยเดียว มันจะเกิดปัญหาในแง่การรักษาจัดการ ทางกรมอุทยานฯ จึงมองในแง่ของกลุ่มป่า เพราะฉะนั้นกลุ่มป่าทั้ง 19 แห่ง คือการแบ่งแบบเบื้องต้น ให้เห็นถึงการจัดการในเชิงระบบ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้ผมไม่หวังงบประมาณจากต่างประเทศ ผมเอางบประมาณในไทยเป็นหลักในการดูแลรักษา งบจากต่างประเทศเป็นเรื่องในอนาคต เรายังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ ได้ก็ดี มาช่วยเสริม ไม่ได้เราก็ยังต้องทำงานด้านการดูแลรักษาต่อไป” รองอธิบดีกรมอุทยานฯกล่าว
ยังไม่สรุปนิยามความเป็นป่า
อีกประเด็นที่ถูกท้วงติงและมีงานศึกษาออกมาคือ การนิยามความเป็นป่า ป่าในความหมายของชุมชนมี
หลายมิติทับซ้อน เช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบนิเวศ แต่ถ้าป่าในความหมายของกรมอุทยานฯ มุ่งไปที่มิติของระบบนิเวศ หรือเฉพาะการกักเก็บคาร์บอน ความขัดแย้งก็ยากจะเลี่ยง
ประเด็นนี้ รองอธิบดีฯ ธีรภัทร กล่าวว่า เรื่องนิยามป่ายังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันอีก
“ป่าตามหลักการจริง ๆ แล้วคือ ที่ที่มีต้นไม้รวมกันอยู่และมีสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น สัตว์ป่า พืช เห็ดรา รวมอยู่ด้วย พูดง่าย ๆ ป่าคือที่รวมของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แต่ป่ามันมีหลายประเภท แล้วในป่าก็มีพันธุ์ไม้หลายชนิดแตกต่างกันอีก มันมีความซับซ้อนหลายมิติในป่า แล้วการนิยามว่า แค่ไหนถึงเป็นป่า 1 ไร่2 ไร่10 ไร่ หรือ 100 ไร่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคุยกันว่า จะเอาแบบไหน ถ้าเป็นป่าที่มีสัตว์ขนาดใหญ่อยู่ อาจจะต้องเป็นพันๆ หรือหมื่นๆ ไร่ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นป่าที่มีสัตว์ขนาดเล็กก็อาจจะมีพื้นที่ลดหลั่นลงมา เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องมาคุยถึงนิยาม แต่จริงๆ แล้วทุกพื้นที่ถือเป็นป่าหมด ถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ และมีต้นไม้ขึ้น มีสัตว์อยู่ เพียงแต่ว่าจะเอามาทำอะไรต่อต้องดูนิยามเจาะลึกลงไป”
ดูแลป่าขนาดใหญ่ก่อน ไม่แตะป่าที่มีชุมชน
ถามย้ำว่า ถ้าได้เงินจากโครงการเรดด์พลัสมา ป่าชุมชนหรือป่าที่ชาวบ้านดูแลจะอยู่ในอันดับความสำคัญหลังๆ แต่จะนำเงินไปดูแลกลุ่มป่าขนาดใหญ่ก่อนใช่หรือไม่
“ผมเน้นการดูแลกลุ่มป่าใหญ่ ๆ ก่อน ในส่วนของป่าชุมชนก็จะใช้อีกวิธีการหนึ่ง คือให้ชุมชนเป็นผู้ดูแล แต่ในป่าชุมชนต้องพื้นที่อนุรักษ์ไว้ด้วย ไม่ใช่ให้คนเข้าไปใช้ได้หมดเลย เพราะพวกเราประชาชนคิดถึงแต่สิทธิมนุษยชน แต่ไม่คิดถึงสิทธิของสัตว์ป่า สัตว์ป่าเขาอยู่มาก่อน แต่ไม่มีใครพูดถึง ดังนั้นจึงต้องมาพูดคุยทำความเข้าใจในมิติของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าที่มีสัตว์ใหญ่ ๆ คุณอยู่กับสัตว์ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ไม่มีปัญหา แต่เท่าที่ผมไปดูมาหลายพื้นที่ก็เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับสัตว์ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์น้อย การจัดการก็จะอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงสิ่งที่อยู่ในป่าก็ได้” รองอธิบดีกรมอุทยานฯ
ชาวบ้านต้องไม่พึ่งพิงป่ามากเกินไป
มีคำถามไม่น้อยว่า แล้วเหตุใดเงินที่ได้จากโครงการเรดด์พลัสจึงไม่มอบให้แก่ชุมชนที่ดูแลจัดการป่าโดยตรง ธีรภัทรกล่าวว่า เนื่องจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ เป็นผู้ดูแลพื้นที่ป่าตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การจะมอบเงินให้ชุมชนหรือไม่นั้น ต้องพูดคุยกันก่อนถึงแนวคิดการดูแลจัดการป่าของชุมชนเป็นอย่างไร
“แล้วส่วนที่บอกว่า ต่อไปชาวบ้านจะใช้ป่าไม่ได้เลย แล้วเอาเงินเรดด์เข้าไปช่วยชาวบ้าน เขาอาจจะคิดได้ แต่ผมว่าไม่ควรจะเป็นแบบนั้น แต่อาจจะเป็นในทางอ้อม กิจกรรมที่ชาวบ้านพึ่งพิงป่ามากจนเกินกำลังผลิตของป่า เงินพวกนี้อาจจะลงไปสนับสนุน ซึ่งตอนนี้เราก็ทำอยู่แล้ว พวกพื้นที่ป่าชายขอบ เราก็มีโครงการให้คนดูแลป่ามาโดยตลอด บางหมู่บ้านอาจจะมีการพึ่งพิงป่ามาก เราก็เอากิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ประเภทการอนุรักษ์เข้าไป เช่น วนเกษตร แทนที่ชาวบ้านจะปลูกพืชอย่างเดียว เราก็ให้เขาปลูกไม้ใหญ่อื่นแซมไปบ้าง เพื่อจะใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต สอง กิจกรรมบางส่วนที่ใช้ยาฆ่าแมลง เราก็เปลี่ยนเป็นวิธีธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อให้เขาช่วยดูแลรักษาพื้นที่และลดการพึ่งพิงป่าที่มากเกินไปลง”
รองอธิบดีโต้เรดด์พลัสไม่ได้ดูแค่เก็บกักคาร์บอน
ส่วนประเด็นที่เอ็นจีโอตั้งข้อสังเกตว่า โครงการเรดด์พลัสมุ่งที่ศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนเป็นหลัก จนอาจทำให้ละเลยความเป็นป่าที่แท้จริง รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ตอบว่า
“ใครบอกว่าเรดด์พลัสดูเฉพาะเรื่องการเก็บกักคาร์บอน นี่เป็นความเข้าใจที่ผิดแล้วความเข้าใจที่ถูกต้องคือ ป่ามีการบริการให้แก่ธรรมชาติในหลายมิติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม การกักเก็บคาร์บอนเป็นศักยภาพหนึ่งของป่าเท่านั้น เรดด์พลัสดูการกักเก็บคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่ง แต่เรดด์ต้องการดูแลรักษาป่าไว้ให้ได้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แก่โลก ส่วนหนึ่งก็กักเก็บคาร์บอน”
ตัวอย่างสุดขั้วที่ถูกกล่าวถึงคือ ถ้าต้นไม้ในป่าพื้นที่หนึ่งเก็บกักคาร์บอนได้น้อยกว่าการปลูกไม้ชนิดใหม่ หากมองในเชิงศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนแล้ว ก็ควรจะโค่นป่าผืนเดิมเพื่อปลูกใหม่ ธีรภัทรตอบชัดเจนว่า
“ไม่ใช่ เพราะป่าให้อะไรมากกว่าการกักเก็บคาร์บอน คือทุกคนมีความคิดไปได้ตลอด ตรงนี้ทางกรมอุทยานฯ ก็ได้ทำเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งกับเจ้าหน้าที่เราเองและกับชาวบ้าน เรดด์พลัสเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นในการดูแลรักษาป่า เพราะฉะนั้นผมจึงไม่วิตกกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเราทำเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้เราจะเพิ่มความเข้มแข็งให้มากขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรจะรักษาป่าที่สมบูรณ์ไว้ให้ได้ และป่าที่มีคนอาศัยอยู่จะมีการจัดการอย่างไร”
บทพิสูจน์แนวทางการดำเนินงานตามโครงการเรดด์พลัสตามที่รองอธิบดีธีรภัทรกล่าวถึงคงมีหนทางเดียว คือรอให้งบประมาณมาถึงประเทศไทยก่อน ประเด็นการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชนนั้น เขาย้ำว่าเงินที่ได้รับมาอันดับแรกจะถูกใช้กับการดูแลพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ก่อน ไม่ใช่ป่าที่มีคนอาศัยอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามเขาว่า ถึงที่สุดแล้ววิธีการใช้เงินเพื่อซื้อการปล่อยคาร์บอนแบบนี้ จะช่วยลดโลกร้อนอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ เขาตอบว่า
“โดยส่วนตัวแล้วมันไม่ใช่วิธีการที่ดี ยังไง ๆ ประเทศพัฒนาแล้วก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่แล้ว เมื่อมีงบประมาณมาลงให้แก่บางประเทศก็ถือว่าไม่มีอะไรเสีย แต่อีกแง่หนึ่งต้องไปผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยคาร์บอนด้วย แต่เขาไม่ลด ส่วนหนึ่งจึงเอามาช่วยตรงนี้ ก็ถือว่าโอเค”
(อ่านข่าวประกอบ “จวก ‘เรดด์พลัส’สนองอุตสาหกรรมมักง่าย โยนเงินแลก'ป่า'หวังปล่อย'คาร์บอน'เพิ่ม ไทยโดดร่วม-ชี้เพิ่มขัดแย้งชาวบ้าน-จนท.” ที่ www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=1073)
โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ วันที่ 21 ก.ย. 55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.