วันที่ 27 ส.ค. ในการเสวนา "1 ปี รัฐบาลกับการแก้ไขปัญหาที่ดินและโครงสร้างภาคเกษตร คืบหน้าหรือถอยหลัง"
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะทำงานด้านที่ดินและการแก้ปัญหาเกษตรกร มองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังเข้าไม่ถึงความมั่นคงของเกษตรกรรายย่อย ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทำให้ไม่เห็นทิศทางของนโยบาย โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
สิ่งแรกของนโยบายการจัดการที่ดินก็คือ ปัญหาที่ดินถูกละเลยมาอย่างต่อเนื่อง ทุกรัฐบาลละเลยหมด ชาวบ้านเผชิญปัญหามานานมาก เลยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเลย ส่วนนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ แยกได้ 4 ประเด็น คือ
1.ปัญหาพื้นฐาน หรือปัญหาในการเข้าถึงที่ดิน การถือครองที่ดินไม่ถูกตามกฎหมาย เพราะมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ของป่ามากถึง 1.5 ล้านครอบครัว ซึ่งไม่เห็นนโยบายนี้อย่างชัดเจนเลย นโยบายโฉนดชุมชน กองทุนที่ดินฯ ก็ยังไม่เดินหน้า หรือไม่มีการผลักดันเต็มที่ ทำให้ชาวบ้านที่คาดหวังเรื่องที่ดินไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันเครื่องมือในการปฎิรูที่ดินยังไม่ชัดเจน หรือรัฐบาลมุ่งแจกป่าอย่างเดียวโดยไม่มุ่งหมายให้มีการปรับโครงสร้าง
2.ความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดิน เนื่องจากไม่มีการกำหนดภาษีการถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดิน การคาดหวังจากรัฐบาลในมาตราการด้านภาษีก็ยังไม่ชัดเจนด้วย
3.ความไม่มั่นคงในชีวิตภาคเกษตร คนส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่ภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากไม่ได้ ฉะนั้น ทิศทางในการพัฒนาเกษตรจึงสำคัญ ไม่ใช่แค่แจกที่ดินแล้วจะแก้ปัญหาได้ นโยบายการเกษตรที่เป็นทางเลือกจึงมีความสำคัญ
4.ความขัดแย้งเฉพาะหน้ากรณีชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่ของรัฐ บางพื้นที่รุนแรง สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ รัฐบาลควรชะลอการดำเนินการใดที่กระทบต่อชีวิต ควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดิน ใครที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือถูกฟ้องแล้ว รัฐบาลต้องมีกองทุนช่วยเหลือในการต่อสู้คดี
ท้ายที่สุดแล้ว รศ.สมชาย มองว่า การดำเนินการบางส่วนของรัฐบาล อยู่ที่ว่าความเข้มแข็งของพื้นที่ เพราะบางภูมิภาคมีนายทุนเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงเกิดปัญขัดแย้ง แต่ถึงอย่างไรแล้ว ปัญหาเรื่องที่ดินหลายฝ่ายต้องคิดให้มากขึ้น ตัวเลขวิจัยการถือครองที่ดินน่าจะช่วยแก้ปัญหาการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรมได้มาก
มติชนออนไลน์ วันที่ 27 ส.ค. 55