ในอดีตความสำเร็จของการพัฒนาทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ต่อหัวของสาขานอกภาคเกษตร และสาขาเกษตรลดลงจาก 8 เท่าตัวในช่วงต้นทศวรรษ 2550 แต่หลังจากนั้นช่องว่างดังกล่าวยังทรงตัวที่ 4.5-5 เท่าตัว
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่มีเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับไทย กลับสามารถลดช่องว่างรายได้ต่อหัวระหว่างสาขานอกภาคเกษตรกับสาขาเกษตรลงเหลือเพียง 1.5 เท่าในกลางทศวรรษ 2560
ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรกรรม (economic and structural transformation) จากการอพยพแรงงานออกจากภาคเกษตรและการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน
ทำให้ผลิตภาพการผลิตต่อแรงงานสูงขึ้น การใช้เทคโนโลยีจากการปฏิวัติเขียวและระบบชลประทานที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น การวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ใช้ปัจจัยการผลิตลดลง
รวมทั้งนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ผลที่ตามมาคือ สัดส่วนของจีดีพีเกษตรลดลงจาก 36% ในปี 2503 เหลือ 8-9% ในปี 2562 ขณะที่สัดส่วนแรงงานภาคเกษตรลดจาก 82% เหลือ 30% ในปีช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็เริ่มชะงักงัน ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2550
หลักฐานที่บ่งชี้ว่าเกิดความชะงักงันในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตร คือ จีดีพีเกษตรแทบจะไม่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา คือ เติบโตเฉลี่ย 0.23% ต่อปี ในช่วงปี 2555-2564 ผลิตภาพแรงงานต่อหัวผันผวน แต่มีแนวโน้มทรงตัวระหว่างปี 2557-2564 รวมทั้งการที่ผลผลิตต่อไร่ของข้าวลดลงเฉลี่ย -0.87% ต่อปีในช่วงปี 2554-2563
สาเหตุสำคัญในด้านมหภาคของความชะงักงัน เกิดจากอัตราการลงทุนในภาคเกษตร รวมทั้งอัตราการลงทุนด้านการวิจัยมีแนวโน้มลดลง เดิมในอดีตช่วงปี 2533-2550 อัตราการลงทุนในภาคเกษตรเคยสูงถึง 30% ของจีดีพีเกษตร แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 15%-20% ในปี 2554-2563
ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเกษตรภาครัฐก็ลดจากเดิมที่เคยสูงเกือบร้อยละ 1 ของจีดีพีเกษตรในทศวรรษ 2530 มาเหลือเพียงร้อยละ 0.3-0.4 ในช่วงปี 2543-2563 ทั้งๆ ที่การลงทุนวิจัยด้านเกษตรให้ผลตอบแทนสูงถึง 44%
นอกจากนี้สาเหตุสำคัญยังเกิดจากนโยบายการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรโดยไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลต่อแรงจูงใจและพฤติกรรมในการปรับตัวของเกษตรกร
เฉพาะในปี 2564-2565 รัฐบาลให้เงินอุดหนุนชาวนาภายใต้โครงการประกันรายได้ชาวนาและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตชาวนาสูงถึง 140,000 ล้านบาท/ปี
การวิจัยเรื่อง ความต้องการใช้เทคโนโลยีฯ ของเกษตรกร พบว่าเงินอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยี หรือแรงจูงใจในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
นอกจากนั้นการที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 55 ปี และการที่เกษตรกรส่วนใหญ่เป็น “เกษตรกรบางเวลา” โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานนอกเกษตร ทำให้ขาดแรงจูงใจในการลงทุนปรับตัวด้านการผลิต หรือปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เพราะต้นทุนเสียโอกาสของเวลาในภาคเกษตรสูงมาก
เพื่อยกระดับภาคเกษตรไทย ประเทศไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการตั้งหลักใหม่ให้ภาคเกษตร ซึ่งงานวิจัยมีข้อเสนอ 3 ข้อถึงผู้กำหนดนโยบาย คือ
1. ทุ่มการลงทุนครั้งใหญ่ในภาคเกษตร จาก 15-20% ของจีดีพีเกษตร เป็น 30% โดยเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เพราะสาเหตุสำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตของจีดีพีเกษตรคือ การลงทุน
โดยการลงทุนเพื่อตั้งหลักใหม่ของภาคเกษตรในที่นี้จะต้องเน้นการลงทุน 2 ด้าน ได้แก่ การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลการเกษตร และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตร
ในปัจจุบันความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลการเกษตรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรแบบก้าวกระโดด แต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่
โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกพืชมวลชนซึ่งมีมูลค่าต่ำ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ยังใช้เทคโนโลยีน้อยมาก หรือไม่เกิน 15%
ดังนั้น เพื่อเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิตจึงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว
2. เพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเกษตรจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก
เพราะอัตราผลตอบแทนสูงถึง 44% เพียงแต่ประเภทโครงการวิจัยที่ควรให้มีการสนับสนุนจะต้องสอดคล้องกับปัญหาสำคัญของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย
3. ลงทุนในทุนมนุษย์ คือ ลงทุนพัฒนาความรู้และทักษะของเกษตรกร บุคลากรและนักวิจัยทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
เพราะนอกจากภาคเกษตรขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว เกษตรกรที่ปลูกพืชมวลชนมูลค่าต่ำส่วนใหญ่ (95%) ยังไม่รู้จักวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีการเกษตร (startups) จึงมีปัญหาการขยายฐานลูกค้าเกษตรกรที่ปลูกพืชมวลชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ ในทัศนะของเกษตรกรรายเล็ก เห็นว่าค่าบริการของสตาร์ตอัปค่อนข้างสูง เกษตรกรที่ปลูกพืชมูลค่าต่ำไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าไหม เพราะยังไม่เห็นตัวอย่างในพื้นที่
ทั้งนี้ ทางฝั่งสตาร์ตอัปก็ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุนการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยการตัดสินใจของเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนด้านข้อมูลและการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่แพงมาก
ยุทธศาสตร์นี้นอกจากจะสามารถทำให้จีดีพีเกษตรเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดแล้ว ยังจะทำให้ผลิตภาพต่อแรงงาน (labor productivity) เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด ผลคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรจะลดลง
แต่ยุทธศาสตร์ทั้งสามไม่สามารถอาศัยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะเอกชนยังขาด “แรงจูงใจ” ในการลงทุนวิจัย เนื่องจากความรู้ส่วนใหญ่จากการวิจัยและเทคโนโลยีเป็นสินค้ามหาชน (public goods)
ผู้ที่ลงทุนสร้างเทคโนโลยีไม่สามารถกีดกันผู้อื่นไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ (non-exclusion) ยกเว้นว่าจะมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น กรณีการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่
นอกจากนี้ การลงทุนพัฒนาความรู้และการลงทุนนำความรู้มาใช้ประโยชน์มีต้นทุนคงที่สูง ตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เกษตรกรหรือวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเกษตร (agri-tech startups) จะต้องลงทุนในเครื่องมืออุปกรณ์สมัยใหม่ที่มีราคาค่อนข้างสูง
ยิ่งกว่านั้น สำหรับเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมชอบหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk averter) จะยังไม่กล้าผลีผลามนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ (adopt) จนกว่าจะเห็นเพื่อนบ้านประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้
ผลการสำรวจเกษตรกร 1,600 ราย พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเห็นตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรเพื่อนบ้านมากพอสมควร และจะรอดูผลสำเร็จต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้
ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายและมาตรการเสริมยุทธศาสตร์ เพื่อหนุนให้การตั้งหลักใหม่ให้ภาคเกษตรไทยเป็นไปได้ในเร็ววัน
ที่มา คอลัมน์ นวัตกรรม กรุงเทพธุรกิจ / 9 ก.พ 2566
By สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) | วาระทีดีอาร์ไอ
By สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) | วาระทีดีอาร์ไอ09 ก.พ. 2566 เวลา 9:35 น.
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.