ชี้ 1 ปีรัฐบาลสอบตก แก้ปัญหาที่ดินและโครงสร้างภาคเกษตร ยันคนรวยนักการเมืองครองที่ดินสูงสุด จี้ปฏิรูปกฎหมายภาษีที่ดิน ด้านชาวบ้าน เดือดประกาศปะทะกรมอุทยาน ส่งกำลังไล่รื้ออีกรอบ
วันที่ 27 ส.ค.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน จัดเสวนาวิชาการ “ 1 ปี รัฐบาลกับการแก้ไขปัญ หาที่ดินและโครงสร้างภาคเกษตร คืบหน้าหรือถอยหลัง” โดยมีตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการด้านเศรษฐ ศาสตร์ นิติศาสตร์ และด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนเกษตรกร เข้าร่วมพูดคุย
ทั้งนี้ น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยประกาศนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 โดยเฉพาะในข้อ 5.4 เกี่ยวกับนโยบายที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าจะสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลือมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการปฏิรูปทีดิน ให้กระจายสิทธิ์ที่ดินอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากลับยังไม่เห็นความชัดเจนทางนโยบายตามที่รัฐบาลแถลงไว้เลย ในทางกลับกันพบว่าพี่น้องในเครือข่ายคปท.กลับถูกคุกคามจากการใช้นโยบายในการแก้ปัญหาที่ดินของภาครัฐ โดยเฉพาะกรณีชาวบ้านในเทือกเขาบรรทัด ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค.นี้ถูกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไล่รื้อตัดฟันสวนยางของเกษตรกรรายย่อยๆที่อยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศเป็นโฉนดชุมชน
“สรุปว่ารัฐบาลสอบตกในประเด็นการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เขียนไว้อย่างสวยหรูในถ้อยแถลงต่อรัฐสภาเลยแม้แต่ข้อเดียว โดยเฉพาะความสำคัญของปัญหาที่ดิน การปฏิรูป การกระจายการถือครองที่ดินซึ่งเป็นโครสร้างสำคัญต่อการแก้ปัญหาปากท้อง และโครง สร้างการเกษตรของคนในสังคม ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขปัญหา แต่กลับเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ทางเครือข่ายฯต้องการเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้านดำเนินการอย่างจริงจังต้องน.ส.พงษ์ทิพย์ ระบุ
ผลวิจัยล่าสุดที่ดินยังกระจุกตัว
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลการศึกษาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินว่า การศึกษาการครอบครองโฉนดที่ดินของกลุ่มนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาในปี 55 มีจำนวน 16,626,521 ราย แต่เมื่อวัดจากจำนวน ร้อยละของผู้ถือครองที่ดินค่าเฉลี่ยพื้นที่ และค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค พบว่าสังคมไทยมีความกระจุกตัวในการถือครองที่ดินสูงมาก โดยพื้นที่มีความไม่เท่าเทียมสูงสุดคือสมุทรปราการ ปทุม ธานี และที่น้อยสุดที่ศรีสะเกษ และพัทลุง นอกจากนี้ยังทั้งสองกลุ่มยังมีค่าต่างกัน 790 เท่า และลักษณะการถือครองมากที่สุด 2.8 ล้านไร่ ขณะที่การถือครองที่ดินน้อยสุดต่ำกว่า 0.1 ตารางวา และที่ถือครองที่ดินมากสุด อยู่ในนิติบุคคล และถ้ามาดูการกระจายตัวถือครองทีดิน ร้อยละ 20 สูงสุด กับต่ำสุดต่างกัน 622 เท่า บุคลคลธรรมดา 630,000 ไร่ และความต่างของกลุ่มอยู่ที่ 3,500 เท่า แต่ถ้าแบ่งการถือครองทีดินออกเป็น 10 กลุ่มจะพบว่าชั้นแรกถือครองที่ดินน้อยสุด และชั้นที่ 10 ถือครองที่ดินมากสุดถึงร้อยละ 80
กลุ่มนักการเมืองยังครองที่ดินร้อยละ 20
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวอีกว่า ในจำนวนนี้ยังพบว่าสัดส่วนการถือครองที่ดินโฉนด 50 อันดับแรก ต่อการถือครองที่ดินทั้งหมด ครอบครองที่ดินในเขตกทม.ถึงร้อยละ 7 และครอบครองที่ดินทั่วประเทศอีกร้อยละ 4.7 ส่วนนักการเมือง ซึ่งได้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่รายงานไว้จำนวน 464 ราย ถ้าดูมูลค่าที่ดินประมาณ 15,000 ล้านบาทกว่า มูลค่าสูงสุด 26,000 ล้านบาทกว่า และราคาต่ำวุด 19,200 และข้อมูลการถือครองของ 421 ราย และขนาดการถือครองดิน 27,000 ไร่ โดยพื้นที่ถือครองมากสุด 2,000 ไร่ หรือเทียบกับการถือครองที่ดินทั้งประเทศ กลุ่มนักการเมืองถือครองที่ดินร้อยละ 20 ซึ่งเป็นนัยะสำคัญในการกำหนดนโยบายที่ดินของไทยโดยตรง
“การศึกษาดังกล่าวทำให้พบว่าไทย มีการกระจุกตัวการถือครองที่ดินสูงมาก ถ้าเราคนที่ไม่มีที่ดินถือครองมาผสมก็จะพบความเหลือมล้ำมาก สภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่าเรามีปัญหาที่ดินมาก แต่คนที่ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลได้แก้ปัญหาอะไรบ้าง ตามนโยบายที่รัฐจะผลักดันเรื่องกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ 1 ปีก็ยังไม่คืบหน้าเลย ทั้งที่ภาษีที่ดินเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยกระจายการถือครองที่ดินได้ เพราะปัจจุบันต้นทุนการถือครองมีน้อยทำให้คนมีกำลังทรัพย์ ไปกว้านซื้อที่ดินมาถือครอง ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่เก็บภาษีที่ดิน ทำให้คนถือที่ดินเก็งกำไรไว้น้อย เพราะต้องเสียภาษีให้กับรัฐ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพยายามผลักดันเรื่องนี้เป็น10 ปี แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาในสภา ประเด็นคือถ้าเราเห็นขนาดการถือครองที่ดินของนักการเมืองแล้ว ตรงนี้จะมีผลอะไรหรือไม่ นักการเมืองต้องออกมาตอบคำถามตรงส่วนนี้”
ยันรัฐเมินแก้ปัญหา-เตรียมปะทะ
นางกันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีชาวบ้านที่ประสบปัญหาที่ดินทำกินซ้อนทับกับเขตป่าอนุรักษ์ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเหนือ ใต้ และอีสานต่างก็พยายามเรียกร้องให้รัฐแก้ไขและลดความเหลือมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ แต่จนถึงขณะนี้รัฐยังไม่ได้ทำอะไรเลย โดย เฉพาะการผลักดันโครงการโฉนดชุมชน จนกระทั่งคณะทำงานสำนักงานโฉนดชุมชนจะหมดวาระในเดืนก.ย.นี้ รวมทั้งโครง การธนาคารที่ดินก็ไม่มีความก้าวหน้าเลย แต่ปัญหาในพื้นที่กลับทวีความรุนแรงมาก เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าไปไล่รื้อชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ รื้อถอนทำลายทรัพย์สิน ใช้กำลังข่มขู่ คุกคามชาวบ้าน โดยเฉพาะนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯ ขอตั้งงบ 50 ล้านบาทเพื่อใช้ในการปราบปรามการบุกรุกของชาวบ้าน
“รัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ทำอะไรที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยเฉพาะปัญหาที่ดินกำลังเพิ่มความขัดแย้ง โดยเฉพาะที่เทือกเขาบรรทัด ล่าสุดเมื่อวันที่ 23-24 ส.ค.นื้ กรมอุทยานฯ ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ 1,500 คน ที่ไปดับไฟป่าพรุ ลุยปราบ ปรามไล่ล่าตัดฟันสวนยางของชาวบ้าน และเตรียมส่งกำลังอีก 5,000 คน เหมือนกับว่าพวกเราเป็นผู้ร้ายจนต้องใช้กำลังคนมากเข้ามาปราบปราม ขณะนี้ชาวบ้าน ได้ยื่นเรื่องกับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการจับกุมชาวบ้าน แต่นายยงยุทธ รับปากว่าจะเชิญนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มาหารือ แต่ชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะดีขึ้น ดังนั้นพี่น้องก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเอง โดยได้ทำหลุมพราง ด้านล่างมีไม้แหลมดักไว้ในพื้นที่ และเตรียมมีดพร้าไปด้วย ถ้าเจ้าหน้าเอาปืนมายิงข่มขู่ และยิงชาวบ้านเมื่อไหร่เราก็จะสู้แล้ว ทั้งนี้ถามว่าการที่รัฐมาทำแบบนี้ ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งโดยตรงหรือไม่ ” นางกันยา กล่าว
ชี้เน้นประชานิยมชาวบ้านหนี้ท่วม
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า ในเกือบทุกรัฐบาลยังไม่เห็นการเปลี่ยน แปลงในเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการถือครองที่ดิน แม้แต่รัฐบาลชุดนี้ผ่านมา 1 ปี ก็ไม่ได้ทำตามสิ่งที่แถลงต่อรัฐสภาไว้ โดย เฉพาะเกษตรกร และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทำกินในเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศทับที่ดินทำกินอย่างผิดกฎหมาย มีราว 1.5 ล้านครอบครัวยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม พบว่าแนวทางแก้ปัญหาในอดีต รัฐไม่ได้มุ่งปรับโครงสร้างการถือครองทีดิน โดยจะเห็นได้จากการนโยบายการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรทำกินด้วยการนำเอาที่ดินป่าเสื่อมโทรมมาแจกถึง 80% เช่นเดียวกับความไม่มั่นคงในการถือครองทีดิน ซึ่งยังไม่ได้นำภาษีที่ดินมาใช้กับนายทุนรายใหญ่ที่ครอบครองทีดิน และส่งผลให้ที่ดินรายย่อยในมือเกษตรกรหลุดมือไป และสุดท้ายการดำเนินการของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งรุนแรงขึ้น บางพื้นที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่บางแห่งที่อยู่ในกระบวนการ ก็ไม่ได้รับการยกเว้นการเข้าดำเนินคดี
เช่นเดียวกับ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีชาวบ้านโดนกรมอุทยาน กรมป่าไม้ ฟ้องร้องในคดีโลกร้อนนั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการ ทำข้อเสนอให้กรมแก้ไขการคิดคำนวณมูลค่าความเสียหายต่างๆ และเรียกร้องให้ยุติการใช้โมเดลโลกร้อน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ขณะที่การใช้โมเดลโลกร้อนกับนายทุนรายใหญ่ เท่าที่ติดตามยังไม่เคยเห็นมีใครโดนข้อหานี้เลย
ส่วน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวว่า โดยสรุปการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในการแก้ปัญหาที่ดินยังไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการขยายเขตการจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทาน การจัดหาที่ดินให้กับผู้ยากไร้ การปฏิรูปการถือครองที่ดินการจัดทำโฉนดชุมชน การสนับสนุนให้ตั้งธนาคารที่ดินการคุ้มครองทีดินเพื่อเกษตรกรรม และการฟื้นฟูคุณภาพดิน เป็นต้น ขณะที่รัฐบาลกลับใช้เงินในการโครงการประชานิยม กับการสร้างความเข้มแข็งด้านต่างๆ เช่น แผนป้องกันน้ำท่วมให้กับเขตเมืองสำคัญ 3.5 แสนล้าน โครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ถ้ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนอนาคตจะยิ่งสูญเสียที่ดินในภาคเษตรจะรุนแรงขึ้น
คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 27 ส.ค. 55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.