มาทำความรู้จัก"ข้าวไทย"ในมุมที่สร้างทั้งความยั่งยืนและเพื่อสุขภาพ ทำไมคนไทยกินข้าวไม่กี่สายพันธุ์ นอกจาก"ข้าวหอมมะลิ" ยังมีข้าวอีกหลายสายพันธุ์ที่อร่อยและไม่เป็นที่แพร่หลาย
ข้าว นอกจากเป็นอาหาร ยังมีสรรพคุณมากหลาย สามารถแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆได้อีก ข้าวบางชนิดมีคุณประโยชน์ในการรักษาและป้องกันโรค รวมทั้งสร้างความยั่งยืนให้ประเทศ ชุมชน คนปลูกข้าว คนขายข้าว
โดยเฉพาะ ข้าวอินทรีย์ ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ เพราะคนปลูกนึกถึงคนกินและสำนึกถึงคุณค่าของธรรมชาติ ไม่ทำลายพื้นดิน อยากให้มีความยั่งยืนในทุกสรรพสิ่งของโลกใบนี้
ว่ากันว่าประเทศไทยมีข้าวกว่าร้อยสายพันธุ์ แต่มีข้าวไม่กี่สายพันธุ์ที่คนส่วนใหญ่บริโภค จะด้วยกลไกการตลาดหรือเหตุปัจจัยใดก็ตาม ทั้งๆ ที่บางสายพันธุ์อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ
เพราะคนส่วนใหญ่นิยมบริโภค ข้าวหอมมะลิ สายพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอม เมล็ดเรียวยาว รสนุ่มอร่อย ส่วนข้าวเสาไห้ ข้าวอีกสายพันธุ์ที่คนไทยนิยมบริโภค หุงขึ้นหม้อ เมื่อหุงสุกแล้วร่วนไม่แข็ง และไม่เกาะเป็นก้อน
ข้าวหอมปทุม จากการผสมสายพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เป็นข้าวอีกชนิดที่ได้รับความนิยม เนื่องจากหอมนุ่มคล้ายข้าวหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวผสมระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลและข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีกลิ่นหอม มัน เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม
ถ้าเป็นข้าวเหนียว ต้องยกให้ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เม็ดเรียวยาว สีขาว ทนทานต่อโรคได้ดี เมื่อนำมาหุงให้สุก เม็ดข้าวที่ได้จะเหนียวนุ่ม กลิ่นหอม ฯลฯ
เหล่านี้คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของข้าวที่คนไทยนิยมกิน
เรื่องของข้าวๆ ที่คนปลูกไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ส่วนใหญ่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวนารุ่นใหม่เริ่มเข้ามาเปลี่ยนในบางเรื่อง กำหนดราคาเอง ขายเอง แต่ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ
รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ต่อไปเกษตรกรต้องเปลี่ยน ต้องคิดว่าทำเกษตรแล้วรวยส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้เหมือนคนอื่น
“มีคนบอกว่า ต้องทำแบบเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นทางเลือก แต่ไม่ใช่ทางออกใหญ่ของภาคเกษตรไทย ทางออกใหญ่ของเรายังเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์
ประเทศไทยมีความสามารถด้านนี้ เป็นประเทศที่ส่งออกด้านการเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก และเราโชคดีที่คนไทยมีที่ดินเยอะ เราเป็นระบบเกษตรเสรี ถ้าเป็นสังคมนิยม...เจ๊งครับ”
แม้เรื่องข้าวๆ คนที่กำหนดหรือเลือกสายพันธุ์จะเป็นไปตามกลไกเกษตรเชิงพาณิชย์ แต่อย่าลืมว่าการเกษตรเมืองไทยเริ่มปรับเปลี่ยน แม้จะเป็นเกษตรกลุ่มเล็กๆ แต่มาพร้อมเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆ ในการปลูกข้าว
อาจารย์ปิยศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเรื่องข้าวพื้นเมือง ทั้งเรื่องพันธุกรรมและโภชนาการ ให้ข้อมูลไว้ว่า
"ข้าวมีเป็นร้อยๆ พันธุ์ แต่ทุกวันนี้เรากินข้าวที่ทางราชการส่งเสริม ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาวไม่กี่สายพันธุ์ เมื่อมีการสีข้าว ธาตุอาหารหายไปครึ่งหนึ่ง พอนำข้าวพวกนี้มาวิเคราะห์ในหลายๆ ปัจจัย สู้ข้าวพื้นเมืองไม่ได้ ในแง่คุณค่าทางอาหาร ข้าวแต่ละพันธุ์จะมีความโอชาไม่เท่ากัน ในเรื่องคุณค่าอาหาร ข้าวบางพันธุ์มีธาตุเหล็กสูงมาก กินแล้วดีต่อสุขภาพ
ข้าวมีขนาดเมล็ดไม่เท่ากัน สัดส่วนการกระจายตัวของปริมาณแป้งก็ไม่เท่ากัน ถ้าเอาดีเอ็นเอมาวิเคราะห์ อย่างข้าวหอมสามกอ อาจหอมกว่าหอมมะลิ ถ้าไปถามปู่ย่าตายาย จะบอกว่า ข้าวหอมปัจจุบันสู้ข้าวหอม 20 ปีที่แล้วไม่ได้ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลง จริงๆ แล้วพันธุกรรมข้าวหอมดั้งเดิมมีมานานแล้ว เราจึงอยากรื้อฟื้นข้าวพันธุ์พื้นเมือง”
กลิ่นหอมๆ ของข้าวหอมมะลิที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องที่กล่าวถึงมากที่สุดในปี 2565 เมื่อข้าวหอมมะลิไม่ได้เป็นข้าวที่ดีที่สุดของโลก เนื่องจากพ่ายแพ้ให้แก่ข้าวผกาลำดวลของกัมพูชา
กลุ่มทำงานที่ตามเรื่องการเกษตรอย่างต่อเนื่องจากเพจนิเวศเกษตร ให้ข้อมูลไว้ว่า "การประกวด World's Best Rice ในงาน World Rice Conference ซึ่งมีการประชุมกันทุกปี เพื่อส่งเสริมธุรกิจข้าว และมอบรางวัลข้าวที่ดีที่สุดของโลก เพื่อวัดการพัฒนาคุณภาพพันธุ์ข้าวของประเทศผู้ส่งออก
การเข้าร่วมประกวดพันธุ์ข้าวทำได้ง่ายๆ โดยหิ้วข้าวที่ต้องการประกวดไปแจ้งที่หน้างานได้เลย โดยตั้งแต่เริ่มประกวดมาตั้งแต่ปี 2009 ข้าวหอมมะลิของไทยชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดมาแล้ว 7 ครั้ง โดยในปี 2014 ได้รับรางวัลร่วมกันกับข้าวผกาลำดวลหรือหอมมะลิกัมพูชา
โดยมีข้อสังเกตว่า ข้าวคุณภาพดีของอินเดีย ปากีสถาน หรือ ข้าวของญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่ในรายชื่อข้าวที่ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าอุตสาหกรรมข้าวของประเทศดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการประกวด หรือไม่จำเป็นต้องใช้ผลการประกวดข้าวมาทำตลาดข้าวเหมือนประเทศในเอเชียอาคเนย์
พันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ชนะการประกวด เช่น หอมมะลิ ผกาลำดวล Paw San Mui เป็นสายพันธุ์เก่าแก่ที่มาจากการอนุรักษ์และคัดเลือกพันธุ์โดยชุมชนชาวนา
ในปี 65 ข้าวไทยเคยเป็นเจ้าตลาด ก็ถูกข้าวชาติอื่น พม่า เวียดนาม ลาว เขมร แซงไปเรื่อยๆ ในตลาดส่งออก ในตลาดขายข้าวเราแข่งแบบเดิมไม่ได้แล้ว เกษตรกรต้องพยายามหาพันธุ์ข้าวที่พึ่งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงน้อยลง เพราะข้าวตลาดเดิมที่ขายมีเยอะแล้ว
เราต้องหันมาขายข้าวสายพันธุ์คุณภาพ อาจชูแบรนด์เพื่อสุขภาพ ยกตัวอย่าง ข้าวกล้องมะลิแดง ที่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวาน รัฐบาลสามารถขายเป็นพรีเมียม ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตได้
ข้าวไทยอร่อยๆ ยังมีอีกเยอะ
คนส่วนใหญ่ชอบกินข้าวหอมมะลิ แต่ในความเป็นจริง ยังมีข้าวที่อร่อยกว่าหอมมะลิอีกเยอะ อาจารย์ปิยศักดิ์ให้ข้อมูลไว้ว่า อย่างข้าวพันธุ์เกยไชย จึงอยากให้คนหันมาสนใจข้าวพันธุ์พื้นเมือง แต่ก็ยังมีจำกัด ส่วนใหญ่คนจะซื้อได้ตามตลาดสีเขียว เพราะตลาดใหญ่ขายข้าวไม่กี่สายพันธุ์
"เกษตรกรต้องหันมาปลูกข้าวเชิงคุณภาพ เรื่องนี้ ไม่ต้องทำมาก แต่ทำแบบใส่ใจ เหมือนญี่ปุ่น ข้าวบางพันธุ์ ยกตัวอย่างข้าวเล้าแตก(ข้าวเหนียวปลูกในอีสาน) ทำเป็นข้าวตอก หรือป็อปคอร์นได้ดี อาจารย์ที่ร่วมงานที่ศึกษารูพรุนของข้าวตอก พบว่าข้าวพันธุ์นี้สามารถนำมาทำ ของใช้ดับกลิ่นได้ ในด้านการตลาดรัฐต้องช่วยหาลู่ทาง เกษตรกรต้องหาแนวทางผลิตคือ ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพตลาดบน"
และต้องยอมรับว่า ข้าวพม่ากลิ่นหอมมาก อาจารย์ปิยศักดิ์ เป็นอีกคนที่ยืนยันเรื่องนี้
"ถ้านั่งรถเข้าไปในพม่า แล้วมีโอกาสแวะไปขอข้าวคนพม่ากิน ข้าวจะหอมมาก ทั้งๆ ที่ข้าวไทยพัฒนามาก่อนพวกเขาและมีหลายอย่างเหนือกว่าข้าวพม่า เราก็ควรฟื้นฟูข้าวพื้นเมืองที่มีดีหลายชนิด โอกาสของข้าวพื้นเมืองไทยในการพัฒนามีอยู่สูง”
ข้าวสายพันธุ์ดีๆ ที่หายไป
ข้าวปิ่นแก้ว เป็นข้าวไทยที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเมล็ดพันธุ์ข้าวโลกที่เมืองเรจินา(Regina) ประเทศแคนาดาในปีพ.ศ.2476 การประกวดครั้งนั้นมีประเทศต่างๆส่งข้าวเข้าประกวดถึง 176 รายการ มีรางวัลทั้งหมด 20 รางวัล
ผลการตัดสินปรากฏว่า ข้าวจากประเทศสยามคว้ามาทั้งสิ้น 11 รางวัล โดยมีข้าวปิ่นแก้วเป็นนางเอก ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ข้าวไทยมีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกมาถึงบัดนี้
"สำหรับประวัติของข้าวปิ่นแก้วนี้ ดิฉันเคยจดบันทึกข้อมูลไว้เมื่อประมาณหลายสิบปีก่อนว่า ดร.สงกรานต์ จิตรากร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดพันธุ์เชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติในขณะนั้น ได้กล่าวถึงนางจวนไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้ปลูกข้าวพันธุ์นี้ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
เมื่อมีการเริ่มเก็บคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวทั่วประเทศในปีพ.ศ.2464 ได้มา 4000 กว่าสายพันธุ์ ข้าวปิ่นแก้วอยู่ในตัวอย่างที่ 2551 โดยข้าวปิ่นแก้วมีเม็ดสวยยาว รสชาติดี เป็นข้าวต้นสูง สูงประมาณ 150 ซม. แต่ถ้าน้ำมากก็สูงกว่านี้ได้ หากน้ำน้อยจะสูงประมาณ 130 ซม.
ยังมีเรื่องของข้าวปิ่นแก้วที่ครูใหญ่ในเรื่องข้าว พี่เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ทำเรื่องข้าวมาตลอดชีวิต เคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า มีรายงานของกระทรวงเกษตรฯในอดีตได้ระบุถึงข้าวพันธุ์นี้มีลักษณะเมล็ดดี แตกกอ ทนแล้งพอใช้ ต้นและใบค่อนข้างโต ชอบน้ำมากๆ ถ้าได้น้ำสัก 50-60% ของความสูงต้นข้าวถือว่ากำลังดี ถ้าท่วมมากขนาด 70-80% ก็ยังขึ้นได้ดีเหมือนกัน
ข้าว“ปิ่นแก้ว”หลังสูญ 50 ปี พันธุ์เลิศเคยชนะอันดับ 1 โลกเดชา ศิริภัทรศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ศูนย์ปฐมอโศกได้แจ้งว่า หลังจากพยายามติดตามหาข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีของไทยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเมล็ดพันธุ์ข้าวโลกเมื่อปีพ.ศ.2476 ที่ประเทศแคนาดา
แต่ต่อมาได้หายสาบสูญไปเพราะทางราชการไม่ได้ส่งเสริมนั้น หลังจากรายการวิทยุของศูนย์ปฐมอโศกได้กระจายเสียงแพร่ข่าวนี้ออกไป ก็มีเกษตรกรในท้องถิ่น จ.นครสวรรค์ และจ.ลพบุรี แจ้งให้ทราบว่า เกษตรกรบริเวณรอยต่อของสองจังหวัดดังกล่าวยังปลูกข้าวพันธุ์นี้อยู่ แต่ปลูกในปริมาณไม่มากนัก" ข้อมูลจากนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนด้านศิลปะวัฒนธรรม
สายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ถูกหลงลืม
ข้าวพื้นเมืองภาคกลาง :
ข้าวพื้นเมืองภาคอีสาน
ข้าวพื้นเมืองภาคใต้
ข้าวพื้นเมืองภาคเหนือ
อ้างอิง :ข้อมูลสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ถูกหลงลืม : จากข้าวอินทรีย์ วิถีคนไทย โครงการเรดบูล สปิริต บริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด
เขียนโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ที่มา คอลัมน์จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ / 25 ธันวาคม 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.