เดือดร้อน-ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระแวงจัดม็อบศาลกลางตรัง หวังผู้ว่าฯ ช่วยชะลอการตัดฟันของกรมอทยานฯ
เทือกเขาบรรทัดร้อนจัด อุทยานฯ บุกพัทลุงฟันยางราบ 17 แปลง โร่ม็อบศาลากลางตรัง รองผู้ว่าฯ แจงจังหวัดไม่มีอำนาจชะลอปฏิบัติการ 1,500 นาย หัวหน้าเขาปู่-เขาย่ายันทำตามกฎหมาย รออธิบดีสั่งลุย “เครือข่ายฯ ป่าภาคใต้”เตรียมเคลื่อนใหญ่กดดันนำปัญหาที่ดินเข้าประชุมครม. จี้ดำรงค์แก้ปัญหาสมัชชาคนจน
2555 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด จากจังหวัดตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และเครือข่ายชาวบ้านที่ถูกอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมประกาศทับที่ ประมาณ 300 คน ชุมนุมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด กรณีที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด มีแนวโน้มบุกทำตัดฟันยางพารา และอาสิน ของชาวบ้านในเขตป่าอนุรักษ์ในพื้นที่จังหวัดตรัง ตามนโยบายปราบปรามผู้บุกรุกเขตป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช
หลังจากวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่-เขาย่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด พร้อมตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สนธิกำลังประมาณ 200 นาย ได้บุกตัดฟันสวนยางพารา และอาสิน ของชาวบ้านคอกเสือ ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง 5 แปลง เป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด และสมัชชาคนจน จำนวน 4 แปลง ชาวบ้านบ้านตะแพน ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง จำนวน 2 แปลง และชาวบ้านที่อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง อีก 9 แปลง รวม 17 แปลง
นายมนภัทร วังศานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดตรัง บอกกับชาวบ้านว่า นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังติดภารกิจไม่สามารถพบกับชาวบ้านได้ แต่ตนได้ประสานงานไปยังหัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า แล้วได้รับคำตอบว่าภายในเดือนสิงหาคม 2555 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะไม่สนธิกำลังตัดฟันยางพาราขงชาวบ้านในจังหวัดตรัง
แต่ชาวบ้านยืนยันที่จะพบผู้ว่าราชการจังหวัดให้ได้ โดยปักหลักกินข้าวและจะนอนที่ศาลากลางจังหวัดตรัง หากไม่ได้พบผู้ว่าฯ เพื่อประสานงานกับอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ให้ชะลอการตัดฟันยางพาราและอาสิน ของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชาวบ้านที่ถูกอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมประกาศทับที่ ซึ่งดำเนินการนโยบายโฉนดชุมชน ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)
ต่อมาเวลา 16.35 น. นายสาธร นราวิสุทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เปิดห้องเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน 23 คน โดยมีนายมนภัทร วังศานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยชาวบ้านให้จังหวัดตรัง ทำหนังสือชะลอการรื้อถอนอาสินถึงหัวหน้าชุดปฏิบัติการรื้อถอนของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1,500 นาย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด
นายสาธร ชี้แจงว่า จังหวัดตรัง และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดตรัง ไม่สามารถทำหนังสือชะลอการรื้อถอนอาสินของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สิ่งที่ทำได้คือการทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ว่าชาวบ้านเดือดร้อนจากนโยบายปราบปรามผู้บุกรุกเขตป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากนั้นปลัดกระทรวงฯ จะหารือกับอธิบดีกรมอุทยานฯ ว่าจะดำเนินการอะไรได้
นางสาวบัณฑิตา อย่างดี เจ้าหน้าที่สื่อสารสาธารณะและสนับสนุนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เสนอว่า ถ้าอย่างนั้นให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ประสานงานกับหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการรื้อถอนของกรมอุทยานฯ 1,500 นาย เพื่อให้ชาวบ้านได้ทราบนโยบายการรื้อถอนว่าจะลงพื้นที่ไหนอย่างไร ก่อนเข้าปฏิบัติการ โดยชาวบ้านจะรอฟังคำตอบหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง
กระทั่งเวลา 20.13 น. นายสาธร นราวิสุทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ลงมาพบกับชาวบ้าน และกล่าวว่า ตนได้โทรศัพท์ไปถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ และรองอธิบดีกรมอุทยานฯ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จากนั้นตนได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้รับเอกสารยืนยันว่า เจ้าหน้าที่อทยานฯ ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 สำหรับคำสั่งของจังหวัดให้ชะลอการตัดฟัน ไม่สามารถปฏิบัติตามได้
สำหรับมาตรา 22 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ระบุว่า ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติ ผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณีถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่ จะกระทำดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น
นายสาธร ชี้แจงว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า บอกว่าถ้าต้องการให้มีการชะลอการตัดฟันยางพารานั้นต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ตนจึงขอความร่วมมือไปว่าจนกว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีขอให้เจ้าหน้าที่ฯ อย่าตัดฟันสวนยางพาราของชาวบ้านได้ไหม แต่ได้รับคำตอบว่าต้องฟังคำสั่งของอธิบดีกรมอุทยานฯ เท่านั้น
เมื่อได้ฟังคำชี้แจงแล้วชาวบ้านได้เลิกชุมนุมในเวลา 21.30 น.
นายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัดจะเดินทางมาชุมนุมประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดตรังอีกครั้งด้วยการระดมมวลชนให้มากกว่าเดิมเพื่อกดดันให้คณะรัฐมนตรีนำปัญหาเรื่องการตัดฟันอาสินของชาวบ้าน จากนโยบายของกรมอุทยานฯ เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี
“โดยในระหว่างนี้ให้ชาวบ้านกลับไปเฝ้าระวังพื้นที่อย่างเข้มงวด หากมีพื้นที่ไหนที่ถูกเจ้าหน้าที่นำกำลังฯ จะเข้าตัดฟันสวนยางพารา ให้ประสานงานกับเครือข่ายฯ โดยเร่งด่วนเพื่อจะได้นำกำลังสมาชิกเครือข่ายฯ ไปช่วยตรึงพื้นที่สวนยางพาราของชุมชนไว้ เพื่อป้องกันการหลอกล่อด้วยการคุยกับชาวบ้าน แล้วนำกำลังตีตลบหลังไปบุกตัดฟันเช่นที่เกิดกับพื้นที่จังหวัดพัทลุงมาแล้ว” นายสมนึก กล่าว
นายอานนท์ สีเพ็ญ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด สมาชิกสมัชชาคนจน เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด จะยื่นหนังสือถึงนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะกรรมการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชาคนจน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 181/2555 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ลงนามโดยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีปัญหาที่ดิน ให้หยุด หรือชะลอการตัดฟันยางพาราในเขตป่าอนุรักษ์ที่ถูกประกาศทับที่ชาวบ้าน ผ่านนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
นายอานนท์ เปิดเผยอีกว่า ช่วงวันที่ 25-26 สิงหาคม 2555 ตนได้กำชับสมาชิกเครือข่ายฯ ให้เฝ้าระวังพื้นที่ของตัวเองเอาไว้อย่างเข้มงวด ขณะที่สัปดาห์หน้าเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ เพื่อยกระดับการต่อสู้ให้คณะรัฐมนตรี กรมอุทยานฯ หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องลงมาเจรจากับชาวบ้านให้ได้ ไม่ใช่ชาวบ้านต้องเดินทางชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าศาลากลางจังหวัดเท่านั้น
“ก่อนหน้านี้ผมเคยเร่งให้ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชาคนจน ดำเนินการประชุมแก้ปัญหาในวันที่ 28 สิงหาคม 2555 แต่ได้รับคำตอบว่ารัฐบาลกำลังยุ่งอยู่กับการเสนอผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ครั้นเมื่อมีปัญหาไฟลนก้นเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างนี้ต้องมีการกระตุ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมศรัทธาในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนะ ที่มีการประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินให้ชาวบ้าน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ผมว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้ต่างกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เลย” นายอานนท์ กล่าว
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ 25 ส.ค. 55 ใน ประชาไท
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.