คำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ข้อ 5.4
“สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย พิจารณาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินทิ้งร้างทางราชการ ปกป้องที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ ห้ามการปิดกั้นชายหาดสาธารณะ ผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่า และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน ”
เครือข่ายที่ดินฯฟันธงรบ.สอบตกแก้ปัญหาเกษตร ชัวร์กม.ภาษีที่ดินเป็นหมัน ชาวบ้านไม่เอาประชานิยมชั่วคราวจำนำข้าว ขอความจริงใจแก้ปัญหาที่ดิน นักวิจัยเผยรวย-จนถือครองที่ดินต่าง 729 เท่า
วันที่ 27 ส.ค. 55 กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) จัดเสวนา “1ปีรัฐบาลกับการแก้ปัญหาที่ดินและโครงสร้างภาคเกษตร คืบหน้าหรือถอยหลัง”ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยออกแถลงการณ์ใจความว่า 1 ปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แถลงนโยบายว่าจะปฏิรูปที่ดิน และให้มีการกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม รวมถึงผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้และทะเล แต่กลับไม่มีความคืบหน้า
ทำให้ขณะที่ที่ดินถึง 48 ล้านไร่ถูกปล่อยทิ้งร้าง แต่เกษตรกรกว่า8 แสนครอบครัวไร้ที่ทำกิน และเกือบ 2 ล้านครอบครัวมีที่ดินไม่เพียงพอ เกษตรกรกว่าร้อยละ 90 ประสบปัญหาหนี้สิน และที่ดินของเกษตรกรกว่า 38 ล้านไร่กำลังจะถูกขายทอดตลาด ประกอบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ-ต้นทุนสูงยิ่งซ้ำเติมให้เกษตรกรกว่า 4 ล้านครอบครัวลืมตาอ้าปากไม่ได้
คปท.เคยเสนอแนวทางโฉนดชุมชน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าในการแก้ปัญหา ธนาคารที่ดิน ในการแก้ปัญหาโครงสร้างระยะยาว แต่ไม่ได้รับการตอบรับอย่างจริงจังจากรัฐบาล ดังนั้นขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาตามที่ได้แถลงนโยบายไว้
ในเวทีเสวนา รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าไม่มีความแตกต่างเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินของแต่ละรัฐบาล และหากจะกล่าวถึงนโยบายรัฐบาลในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา มองได้ใน 4 ด้านหลัก 1.การเข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดิน ซึ่งไม่เห็นนโยบายนี้ชัดเจน แม้ว่าจะมีนโยบายโฉนดชุมชนสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่กองทุนธนาคารที่ดินซึ่งตั้งขึ้นแล้วยังไม่เดินหน้าเพราะยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ 2.ความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดิน ไม่มีระบบภาษีเพื่อป้องกันการเก็งกำไร 3.ความไม่มั่นคงในภาคเกษตรกรรม แค่การแจกที่ดินไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างเช่นเกษตรกรภาคเหนือเคยได้รับที่ดิน 50 ไร่ แต่ก็หลุดมือ ดังนั้นต้องมีนโยบายภาคเกษตรที่เป็นทางเลือก 4.ข้อพิพาทเรื่องที่ดินในพื้นที่เสนอว่า กรณีที่เกิดความไม่ชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลหรือเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วรัฐบาลควรชะลอการดำเนินการใดๆในพื้นที่ระหว่างรอการวินิจฉัยของศาล ส่วนความขัดแย้งเฉพาะหน้ารัฐบาลควรคำนึงถึงความปลอดภัยของชาวบ้าน
ด้านผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยว่า จากข้อมูลของกรมที่ดิน พบว่า ที่ดินในประเทศไทยมีการกระจุกตัวด้านการถือครองสูง กลุ่มผู้ถือครองมากที่สุดมีสัดส่วนที่ดินมากกว่ากลุ่มผู้ถือครองน้อยที่สุดถึง 729 เท่า หรือกลุ่มผู้ถือครองมากที่สุดมีที่ดินรวมกันกว่า 7 พันล้านไร่ ขณะที่กลุ่มผู้ถือครองน้อยที่สุดรวมกันเพียง 2 ล้านไร่ ซึ่งต่างกันถึง 3,557 เท่า ทั้งนี้ร้อยละ 10 ของผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด ถือครองร้อยละ 80 ของพื้นที่ ขณะที่คนร้อยละ 90 ถือครองเพียงร้อยละ 10
นอกจากนี้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ยังพบว่านักการเมือง ได้แก่ สส.แบบบัญชีรายชื่อและสส.แบบแบ่งเขตถือครองที่ดินรวมกันเกือบ 11 ล้านไร่ มูลค่ารวมกว่า 1.5 พันล้านบาท โดยนักการเมืองที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 2,000 ไร่
ดร.ดวงมณีกล่าวต่อไปว่า ภาษีที่ดินเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินได้ กระจายจากนายทุนมาสู่เกษตรกรรายย่อย โดยเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้ากับผู้ที่ถือครองจำนวนมากหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือเก็งกำไร นอกจากนี้ยังนำรายได้จากภาษีส่วนหนึ่งมาจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อช่วยให้เกษตรกรยากจนมีที่ทำกิน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าล่าสุดของร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่รอนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ชุดปัจจุบัน
ขณะเดียวกันนางกันยา ปันกิติ กรรมการคปท. ตัวแทนเกษตรกรกล่าวว่า ขณะนี้นอกจากชาวบ้านประสบปัญหาขาดที่ดินทำกินยังถูกไล่รื้อคุกคาม เช่น กรณีเทือกเขาบรรทัด ที่ชาวบ้านซึ่งอยู่มาก่อนประกาศพื้นที่อุทยานถูกฟ้องคดีบุกรุกป่าและคดีโลกร้อน และในหลายแห่งซึ่งเตรียมประกาศเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐบาลก่อน ก็มีปัญหาการไล่รื้อในสมัยรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ส่วนนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชานิยมด้านเกษตรของรัฐบาลปัจจุบันเป็นเพียงการหว่านเม็ดเงินแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่ได้แก้ปัญหาแท้จริง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สินหนัก โครงการจำนำข้าวทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อเร่งผลผลิต ทำให้มีปัญหาสุขภาพ
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันทุ่มงบประมาณแทรกแซงราคาผลผลิตพืชบางชนิดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหลักเรื่องต้นทุนการผลิต-ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-พัฒนากลไกตลาดให้เป็นธรรม รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรกรรม เช่น แหล่งน้ำ การวิจัย โดยเฉพาะการปฏิรูปการถือครองที่ดิน
“งบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับประชานิยม เช่น จำนำข้าวซึ่งทำให้เกษตรกรขาดอำนาจต่อรอง ถูกโรงสีเอาเปรียบ ข้าวที่กักตุนเสื่อมคุณภาพ ราคาส่งออกต่ำทำให้เกิดปัญหา ต่อไปเกษตรกรที่ปลูกผักผลไม้อาจหันไปทำนาหมด ราคาอาหารในตลาดก็จะสูงขึ้น ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร 1 ปีที่ผ่านมาจึงถือว่ารัฐบาลสอบตก”
วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2012 เขียนโดย วสี ภูเต็มเกียรติ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.