รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า จากภัยธรรมชาติ ช่วงเดือน ส.ค. 65 – ปัจจุบัน เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาวตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง และพายุดีเปรสชัน “โนรู” ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ประกอบกับฝนที่ตก สะสมส่งผลทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด
กระทรวงเกษตรฯได้สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือ พร้อมประเมินความเสียหาย หวั่นกระทบรายได้เกษตรกร โดยเบื้องต้นมีเกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 763,390 คน มูลค่าเสียหาย ประมาณ 2.8 พันล้านบาท แยกเป็น
ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 59 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก แพร่ พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย มหาสารคาม บุรีรัมย์ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร หนองคาย หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กรุงเทพมหานคร
นนทบุรี ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ตราด ปราจีนบุรี ปทุมธานี นครนายก นครปฐม กาญจนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ภูเก็ต ตรัง และจังหวัดสตูล
เกษตรกรได้รับ ผลกระทบ 644,577 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 5,480,553 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,598,600 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,794,655 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 87,298 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 206,966 ราย พื้นที่ 1899,894 ไร่ แบ่งเป็น
ข้าว 1,389,406 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 500,681 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 9,807 ไร่ คิดเป็นเงิน 2,892.85 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 1,552 ราย พื้นที่ 5,387 ไร่ วงเงิน 9.63 ล้านบาท
ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 50 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก พะเยา ลำปาง ลำพูน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี หนองคาย มหาสารคาม กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ฉะเชิงเทราตราด ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก นครปฐม ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ตรัง และจังหวัดสตูล
เกษตรกรได้รับผลกระทบ 31,153 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 42,106 ไร่ แบ่งเป็นบ่อปลา 37,662 ไร่ บ่อกุ้ง 4,444 ไร่ กระชัง 53,812 ตารางเมตร(ตรม.) สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 2,400 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้รับความเสียหาย 2,637 ไร่ กระชัง 164 ตร.ม. คิดเป็นเงิน 13.10 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 461 ราย พื้นที่ 473 ไร่ กระชัง 150 ตร.ม.วงเงิน 2.77 ล้านบาท
ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 28 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เกษตรกร 87,660 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 8,328,100 ตัว แบ่งเป็น โค 230,712 ตัว กระบือ 56,242 ตัว สุกร 60,237 ตัว แพะ/แกะ 25,648 ตัว สัตว์ปีก 7,955,261 ตัว แปลงหญ้า 4,435 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย การให้ความช่วยเหลือ
1. กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 427 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 480 เครื่อง และเครื่องจักรอื่นๆ 20 เครื่อง
2. กรมปศุสัตว์ ดำเนินการอพยพสัตว์ 2,292,700 ตัว แจกจ่ายหญ้าพระราชทาน 1,187.47 ตัน อาหาร TMR 6.50 ตัน
ชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 32,903 ชุด รักษาสัตว์ 2,858 ตัว และสนับสนุนถุงยังชีพสัตว์ 3,161 ชุด
3. กรมประมง สนับสนุนเรือตรวจการ 75 ลำ รถยนต์ 72 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ 395 นาย
4. กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 จำนวน 129,356 ลิตร
5. กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนเชื้อไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้ 2,152 กิโลกรัม นำไปใช้ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 17,152 ไร่
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ และให้การช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ จำแนกเป็น ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร อยู่ระหว่างดำเนินการสนับสนุนชีวภัณฑ์ ท่อนพันธุ์ และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลังโดยเร่งด่วน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ อาทิ นำเรือตรวจเข้ามาพื้นที่ขนย้ายคนออกจากพื้นที่น้ำท่วม นำเสบียงทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวมไปถึงจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและตรวจเยี่ยมสำรวจความเสียหาย
โดยพบเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 21,467 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหายรวมกว่า 26,956.71 ไร่ 204,518.25 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 463,383,133 บาท ประมาณการวงเงินช่วยเหลือ 199,017,411.81 บาท ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังต่อไป
โดยอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนอกจากข้อ 1 ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่กินรายละ 5 ไร่
3. สัตว์น้ำตามข้อ 1 และ 2 ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท
ที่มา คอลัมน์เศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.