ชาวม้งบ้านแม่ตะละ เฮ ศาลปกครองเชียงใหม่ สั่งถอนประกาศและให้ยกเลิกแนวเขต พร้อมให้มีการประกาศปักแนวเขตใหม่ใน 180 วัน
ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษา สั่งให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 และขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540
และมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศสำนักทะเบียนอำเภอสะเมิง เรื่องการแจ้งย้ายและจำหน่ายทะเบียน เพื่ออพยพราษฎร หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ไปรวมกับ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศ ณ วันที่ 21 กันยายน 2554
นอกจากนั้น ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ยังมีคำสั่งให้ดำเนินการจัดทำแนวเขตปกครองขึ้นใหม่ให้ถูกต้อง โดยให้สำรวจและทำแนวเขตให้ชุมชนและบ้านเรือนของผู้ฟ้องคดีทั้งหมดรวมทั้งราษฎรจำนวน 43 หลังคาเรือน 354 คน ของหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ให้อยู่ในเขตตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เหมือนเดิม
นายสุมิตร วอพะพอ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ ได้กล่าวภายหลังสิ้นคำพิพากษาคดี ว่า นอกจากศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่จะมีคำพิพากษาให้ยกเลิกประกาศคำสั่งทั้งหมดแล้ว ศาลปกครองยังมีคำพิพากษาให้มีการดำเนินการจัดทำแนวเขตปกครองขึ้นใหม่ให้ถูกต้อง พร้อมสั่งให้มีการประกาศปักแนวเขตใหม่ภายหลังคำพิพากษาภายใน 180 วัน
“ผลคำพิพากษาในวันนี้ ถือว่าเป็นชัยชนะของชาวบ้านแม่ตะละ ที่ได้ตัดสินใจใช้สิทธิในกระบวนการต่อสู้ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ จนทำให้ชาวบ้านแม่ตะละ ไม่ต้องถูกเพิกถอนหรือเคลื่อนย้าย เพราะนี่เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของพี่น้องม้งแม่ตะละทุกคน”
ทั้งนี้ ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านแม่ตะละ ชาวบ้านทั้งหมดเป็นราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีสัญชาติไทย โดยถูกต้องตามกฎหมาย นับถือศาสนาดั้งเดิม(วิญญาณบรรพบุรุษ) และศาสนาพุทธ หมู่บ้านแม่ตะละตั้งเป็นชุมชนมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.2500 โดยตั้งชุมชนอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณ 3 – 5 กิโลเมตร ในขณะนั้นในหมู่บ้านมีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 120 คน โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายสุ แซ่ย่าง และนายวิชัย แซ่ย่างเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทั้งสองเป็นผู้นำชุมชนในสมัยนั้น ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ปลูกสตรอเบอร์รี่ กะหล่ำ พืชผักเมืองหนาวต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนซึ่งเป็นการสอดคล้องกับวิถีชนบท เนื่องจากพื้นที่ในตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เขตภูเขา
ต่อมาในชุมชนแม่ตะละมีปัญหาการขาดแคลนเรื่องน้ำดื่มน้ำที่ใช้บริโภคและมีขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาชักชวนผู้นำชุมชวนเข้าร่วมขบวนการและทำร้ายขมขู่คุกคาม ชิงทรัพย์สินและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านไปกิน ทำให้ชาวบ้านกลัว ผู้นำชุมชนสมัยนั้นคือนายแถะ แซ่ย่าง(ปู่ก้างสุ) เป็นผู้นำชาวบ้านอพยพย้ายมาอาศัยอยู่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2514 อาศัยอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้นำชุมชนที่ดำรงตำแหน่งทั้งไม่เป็นทางการและเป็นทางการรวมทั้งหมด 7 คน
ในปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 นายเเถะ แซ่ย่างหรือนายวิชัย พนาสันติกุลผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นได้เข้าเฝ้าเสด็จและได้ทูลเกล้าถวายประวัติหมู่บ้านให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ และทรงพระราชทานน้ำประปาภูเขาสายแรกให้ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ และพระองค์ยังรับสั่งต่อนายเถะ แซ่ย่าง หรือนายวิชัย พนาสันติกุล ผู้ใหญ่บ้านว่าชาวบ้านม้งแม่ตะละหมู่ที่ 6 ไม่ต้องอพยพไปไหนแล้ว
ประชาไท วันที่ 22 ส.ค. 55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.