‘วิรไท’ ชี้เกษตรกรรายย่อยติด ‘กับดักหนี้’ ส่งผลให้ปรับตัวยาก-เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นไม่ได้ ขณะที่ ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐลดเงินอุดหนุน ‘ปลูกข้าว’ ซ้ำซ้อน
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทยที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นกับดักและเป็นสิ่งที่พันธนาการไม่ให้เกษตรกรรายเล็กปรับตัวหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้
ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย เป็นหนี้ และมีหนี้สินคงค้างเฉลี่ยสูงถึง 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ 77% ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรไทยไม่มีรายได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ จึงต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ
งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า 73% ของหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร และเกษตรกรกว่า 50% มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือน/ปี เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้อย่างที่คาด
“เป็นคำถามที่สำคัญว่า เกษตรกรจะปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน แล้วเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท ระบุว่า “เกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะเข้าไปอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็น ‘เงินเชื่อ’ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นๆหรือไปผลิตพืชอื่นได้ และไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้”
นายวิรไท กล่าวว่า การออกนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การรับประกัน โครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่โครงการพักหนี้เกษตรกร พบว่า มีส่วนที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรมากขึ้น
“การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ในการทำนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรามุ่งไปที่การทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ และการรับประกันต่างๆ ซึ่งแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่ แต่การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในระยะต่อไปนั้น ผมเห็นว่าควรต้องมุ่งไปที่การจูงใจให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท ระบุด้วยว่า การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กของรัฐบาล ที่มีลักษณะสั่งการจากส่วนกลางลงไปสู่ระดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก และใช้งบประมาณสูงนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น หากยังทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรรายเล็กได้
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวระหว่างนำเสนอผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’ ว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 25-28% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกรไทยต่ำกว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตรถึง 4.5 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียต่างกัน 1.4 เท่า และจีนต่างกัน 2.6 เท่า
“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้รายได้ของเกษตรกรไทยใกล้เคียงกับรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในภาพรวมลดลง โดยระหว่างปี 2555-2562 สินค้าเกษตรไทยที่มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นมี 145 รายการ แต่สินค้าเกษตรไทยที่ความสามารถแข่งขันลดลงอยู่ที่ 188 รายการ โดยเฉพาะข้าวไทยที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อเกือบ 30 ปี แต่หลังจากปี 2554 ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออก และเสียตลาดข้าวทุกประเภทแล้ว เพราะไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ
“เราเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังปี 2554 เราสูญเสียแชมป์ไป โดยเราสูญเสียตลาดข้าวทุกตลาด และสูญเสียทุกประเภท บางตลาดสูญเสียให้เวียดนาม บางตลาดสูญเสียให้อินเดีย ที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของข้าวไทยต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และกัมพูชา แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าภาคเกษตรกรหยุดเติบโต” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ ยังย้ำว่า ในขณะที่ตลาดข้าวในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จากการบริโภคข้าวทั่วโลกที่ลดลง แต่จะพบว่าปัจจุบันชาวนาไทยไม่ค่อยมีการปรับตัว เนื่องจากชาวนาได้รับการอุดหนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ซ้ำซ้อนกัน 2 นโยบาย คือ นโยบายประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท
“ปีหนึ่งใช้เงินไม่มาก แค่ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯทั้งปี และงบนี้ต้องกู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งแปลว่าลูกหลานของเราต้องเป็นคนใช้หนี้ให้กับคนรุ่นปัจจุบัน” นายนิพนธ์ กล่าว และว่า “ถ้าพรรคไหนไม่อุดหนุนเกษตรกร พรรคนั้นก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องกำหนดนโยบายเกษตรกร”
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้เสนอศึกษาเรื่องอนาคตชาวนากับข้าวไทยฯ ว่า จากผลการศึกษาฯ ‘อนาคตชาวนาไทยและยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์’ สรุปได้ว่า ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ เกษตรกรรายเล็กรวมตัวเป็น ‘พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลาย’ จากปัจจุบันที่ชาวนาดั่งเดิมมีลักษณะเป็น ‘ชาวนามือถือพึ่งเงินอุดหนุน’ และบางกลุ่มมีการรวมตัวเป็น ‘วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ขณะที่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์และเคลื่อนตัวไปได้ง่าย คือ ‘ชาวนาไฮเทครายใหญ่’
“ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ การรวมกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรกับโรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ หรือกลุ่ม NGOs โดยรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ มีความหลากหลาย เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม และฉากทัศน์นี้ เป็นฉากทัศน์ที่เป็นธรรม มีเกษตรกรรายเล็กผสมกับเกษตรกรรายใหญ่ และมีความยั่งยืน รายได้อาจไม่สูงเท่ากับชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่มีรายได้พอกิน และรายได้ใกล้เคียงกับแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร” นายนิพนธ์ ระบุ
ส่วนการผลักดันยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์นั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการมีหลายเรื่อง เช่น การปรับนโยบายการอุดหนุนชาวนา ,ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,เพิ่มคุณภาพข้าวหรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสุขภาพ ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเช่าที่นา และการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรที่เน้นการส่งเสริมด้านการให้ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น
ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรรายเล็กกับแนวนโยบายที่เหมาะสม’ ว่า ปัจจุบันปัญหาของเกษตรรายย่อยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า 90% ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดย 72% เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นหนี้กองมทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ และหนี้สหกรณ์ฯ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย
“รัฐบาลทำเรื่อง PP Maps หรือ Thai people ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพราะเรื่องความยากจนนั้น เกษตรกรบางรายไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกิน ไม่มีเงินทุน รัฐบาลจึงเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ พุ่งชนให้ตรงเป้าเลยว่า หนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเกิดจากอะไร เพราะอะไร โดยให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆไปประกบเป็นเทรนเนอร์ เช่น สอนเรื่องบัญชีครัวเรือน จะมีวินัยอย่างไร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้ามามาซื้อหนี้ไปบริหาร
นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเป็นลำดับ ส่วนปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน สปก. ให้เกษตรกร และเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการขายปัจจัยการผลิตครั้งละมากๆ เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น” นายทองเปลว กล่าว
ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรของไทยที่เน้นไปที่การผลิตให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำฯ และโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งเป็นไปส่งเสริมเกษตรกรว่า ให้เกษตรกรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้าวมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะลดลงก็ไม่เป็นไรนั้น ส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา
“ถ้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หัวใจ คือ ต้องเปลี่ยนจากนโยบายปริมาณไปสู่นโยบายคุณภาพ ในขณะที่นโยบายเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมแปลงนั้น เมื่อไปดูของจริงในจังหวัด ในพื้นที่จริงๆ จะพบว่าคนรวมแปลงต่างหากที่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจนเหมือนเดิม ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้เกษตรรายเล็กได้ประโยชน์ คือ ทำอย่างไรให้ทำน้อย แต่ได้มาก คือ ทำของแพง ทำของที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภาพสูง” นายกนก กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 พ.ค. 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.