ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องเลิก “คดีโลกร้อน”-ชาวบ้านเตรียมถกเดินหน้าต่อ
ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องยกเลิกแบบจำลองค่าเสียหายคดีโลกร้อน แจงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองต่อชาวบ้านโดยตรง แต่เป็นการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประเมิน-คำนวณค่าเสียหายสำหรับการฟ้องแพ่ง ชาวบ้านเตรียมประชุมเดินหน้าต่อ ชี้ปัญหาแบบจำลองฯ
วันนี้ (1 ส.ค.55) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการนำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (คดีโลกร้อน) มาใช้บังคับในคดีแพ่ง เข้ายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ต่อศาลปกครองกลาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พ.ค.55 เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้บังคับใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อนและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
หลังจากรอฟังคำตอบมานานร่วม 2 เดือน เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งลงวันที่ 23 ก.ค.55 ไม่รับคำฟ้องคดีโลกร้อนไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า รายละเอียดหนังสือสั่งการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ รวมทั้งแบบจำลองฯ เป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ภายในฝ่ายปกครอง มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำการหรือสั่งการต่อผู้บุกรุกแผ้วถางหรือทำลายป่าไม้โดยตรง โดยเป็นการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประเมินและคำนวณค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียเพื่อทราบจำนวนที่ชัดเจนสำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาลต่อไป
ส่วนศาลจะพิจารณากำหนดให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคู่กรณีต่อศาล
หนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิใช่คำสั่งที่มีสภาพบังคับโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คนจึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากหนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน ประกอบด้วยเครือข่ายชาวบ้าน 4 เครือข่าย ประกอบด้วย 1.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ 2.เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน จ.ชัยภูมิ 3.เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ 4.องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จ.เชียงใหม่ และ 1 องค์กรพัฒนาเอกชน คือ มูลนิธิอันดามัน ร่วมกับผู้ฟ้องร้องในนามบุคคลอีก 18 ราย
ด้านนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้เห็นคำสั่งศาลปกครอง แต่ได้รับทราบแล้วว่าศาลไม่รับคำฟ้อง ตอนนี้ทางเครือข่ายฯ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร แต่คาดว่าจะมีการคุยกันในเร็วๆ นี้ในประเด็นการฟ้องร้องชาวบ้านในคดีโลกร้อน และอาจมีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป
นายบุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่าแสดงความเห็นว่า กรณีที่ศาลไม่รับฟ้องพูดตามภาษาชาวบ้านคือศาลให้เหตุผลว่า กรณีการฟ้องร้องชาวบ้านดังกล่าวไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองแต่เป็นเรื่องทางเทคนิคในการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากการคิดค่าเสียหายไม่ถูกต้องก็สามารถต่อสู่คดีในทางแพ่งได้ แต่สำหรับชาวบ้านนั้นมองว่าแบบจำลองการคิดค่าเสียหายฯ นั้นมีเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรเป็นผู้ทำให้อากาศร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง ฯลฯ จึงต้องการให้ส่วนราชการยกเลิกการใช้แบบจำลองฯ ที่ไม่ถูกต้องนี้เสีย
ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดกล่าวด้วยว่า กรณีคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ แต่ที่ชาวบ้านต้องออกมาเดินหน้าฟ้องศาลเพราะต้องการให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาของแบบจำลองฯ ที่ไม่มีมาตรฐานในเชิงวิชาการ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านที่พร้อมจะมาร่วมให้ข้อมูล และการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีโลกร้อนรวมอยู่ด้วย ซึ่งเราไม่ต้องการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเป็นรายกรณี แต่ต้องการให้ยกเลิกแบบจำลองฯ ดังกล่าว เพื่อที่จะได้ไม่มีการนำไปใช้กับใครอีก
ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งคนใช้รถ อุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ต้องคิดคำนวณให้ตรงตามความเป็นจริง
นายบุญ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามผลักดันให้ยกเลิกการคิดค่าเสียหายคดีโลกร้อนต่อรัฐบาล เพราะเชื่อว่าในทางนโยบายจะสามารถแก้ปัญหาได้ และทางรัฐบาลก็รับลูกให้มีการยกเลิกคดีโลกร้อนกับคนจนแต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ชาวบ้านจึงหวังพึ่งกระบวนการตุลาการแต่ผลก็ออกมาดังที่เห็น อย่างไรก็ตามคิดว่าต่อไปจะต้องมีการใช้กระบวนการตุลาการมากขึ้นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ได้
สำหรับการฟ้องดำเนินคดีแพ่งโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ใช้มาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นฐานในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และนำหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ.47 ที่กำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลฯ สั่งเรียกค่าเสียหาย
ในส่วนรายละเอียดการคิดค่าเสียหายแบ่งเป็น 7 กรณี คือ 1.ค่าการสูญหายของธาตุอาหาร 2.ค่าทำให้ดินไม่ซับน้ำฝน 3.ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 4.ค่าทำให้ดินสูญหาย 5.ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 6.ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง 7.มูลค่าความเสียหายโดยตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี
ประชาไท วันที่ 1 ส.ค. 55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.