“สภาพัฒน์” เผยปี 63 คนจนเพิ่มขึ้น 500,000 คนจากปี 62 ถือว่าน้อยกว่าที่คาด หากเทียบกับเศรษฐกิจที่หดตัวมากถึง 6.1% เพราะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการต่างๆที่ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ย 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือ 40% ของเส้นความยากจน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะมีการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ในต้นปี 2565 สามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวต่อเนื่องไปได้ แต่ภาครัฐต้องดำเนินการเพิ่มเติมในเรื่องของการปรับปรุงฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยให้เป็นปัจจุบันทุกปี เพื่อให้การใช้เงินในโครงการตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุดมากที่สุด ซึ่งการให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ในช่วงต้นปี 2565 ถือว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากครั้งล่าสุดที่ให้มีการลงทะเบียนคือตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19
สำหรับการลงทะเบียนรอบใหม่ กระทรวงการคลังจะมีการนำเอาฐานข้อมูลรายได้ของครัวเรือนมาพิจารณาด้วย เพื่อให้ช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องดูว่าเกณฑ์ที่ออกมาสุดท้ายแล้วจะมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการก็คือการเพิ่มโครงการ หรือกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเพิ่มรายได้ โดยอาจเป็นการเพิ่มทักษะการทำงานที่ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบันและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น
“ในเชิงนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวได้ เพราะภาครัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แต่ภาครัฐต้องมีกลไกให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถยกระดับรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยก็ต้องมีความพยายามที่จะพัฒนาทักษะ ความรู้ต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง เพื่อขยับรายได้ให้มากขึ้นด้วย”
น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย ที่ สศช.มีการติดตามสถานการณ์พบว่าในปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดไว้ที่ 2,762 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 500,000 คน จากปี 2562 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 ที่หดตัวมากถึง 6.1% อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคนจนของ สศช.กับกระทรวงการคลังใช้คนละหลักเกณฑ์ ส่วนที่จำนวนคนจนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตามที่คาดไว้ เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาที่ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน ในชุดมาตรการต่างๆ ซึ่งคิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ยทั้งปี 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเส้นความยากจน
“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อคนในวงกว้าง ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการช่วยเหลือเยียวยา โดยในปี 2563 เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ใช้งบฯไปทั้งสิ้น 709,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว 136,000 ล้านบาท หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจทำให้รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต”.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 29 พ.ย. 2564
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.