นักวิชาการป่าไม้ไม่เห็นด้วยเปลี่ยนป่าเป็นป่าดิบทั้งประเทศ
นักวิชาการป่าไม้ ฟันธงไม่เห็นด้วยกับ "ปลอดประสพ" เปลี่ยนป่าเต็งรังเป็นป่าดิบ เหตุงบเยอะ-ระยะเวลานาน แนะให้ส่งเสริมความสมบูรณ์ของป่าเดิม ห่วงเปลี่ยนป่าเต็งรังทำไม้สักสูญพันธ์จากประเทศ
วันนี้ ( 24 ก.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแถลงข่าวเรื่อง “ข้อเท็จจริง...เปลี่ยนป่าเต็งรัง เป็นป่าดิบทั้งประเทศ ได้จริงหรือ?” โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวกรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีแนวคิดเปลี่ยนป่าเต็งรังให้เป็นป่าดิบทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วม ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาสมควรจะมีการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ เพื่อประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล โดยขณะนี้สังคมกำลังมีข้อสงสัยถึงแนวคิดดังกล่าวว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่
รศ.ดร.ดอกรัก มารอด อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ ม.เกษตรฯ กล่าวว่า ตนมองว่าแนวคิดการเปลี่ยนป่าเต็งรังเป็นป่าดิบคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณและระยะเวลายาวนานมาก แต่หากจะให้ยกตัวอย่างการเปลี่ยนป่าที่ได้ผลคือกรณีโครงการพระราชดำหริที่ห้วยฮ่องไคร้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งแต่ก่อนมีสภาพเป็นป่าเต็งรัง แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนเอาน้ำมาปล่อยในช่วงหน้าแล้ง และมีการปลูกไม้ที่ความชื้น ป่าไม่ก็มีโอกาสเปลี่ยนเป็นไม้ไม่ผลัดใบมากขึ้นเพราะมีการอุ้มน้ำไว้ตลอด แต่หากจะเปลี่ยนป่าเต็งรังทั้งประเทศจะมีปัญหาใหญ่แน่นอนคือจะนำน้ำที่ไหนมาปล่อยในพื้นที่เพื่อให้ความชุ่มชื้นอยู่ตลอด อีกทั้งงบประมาณที่ต้องจัดสรรอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนป่าเต็งรังเป็นป่าดิบชื้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานมาก เฉพาะเบื้องต้นต้องมีการกันไฟป่า ต้องเพิ่มความชื้นในดิน ต้องปลูกต้นไม้เพิ่ม หากทำควบคู่กันให้ได้ 15 ปี อาจมีโอกาสได้เห็นต้นไม้พื้นล่างมากขึ้น แต่ระหว่างนี้ต้องกันไม่ให้เกิดไฟโดยเด็ดขาด เพราะหากเกิดไฟป่าก็ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ ตนมองว่าหากจะนำงบประมาณไปเปลี่ยนสภาพป่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมควรนำงบเหล่านี้มาฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีความสมบูรณ์ในการเก็บกักน้ำจะได้ผลมากกว่า
รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ ม.เกษตรฯ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนป่าเต็งรังหรือป่าผลัดใบให้เป็นป่าดิบ เพราะป่าแต่ละชนิดมีคุณค่าและประโยชน์ที่แตกต่างกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงป่าจะทำให้ทรัพยากรหลายชนิดสูญพันธ์ไปจากประเทศได้ เพราะผลกระทบด้านโครงสร้างความโล่งหรือทึบของป่าส่งผลต่อความเป็นอยู่และการเติบโตของสิ่งมีชีวิต เช่น ไม้สัก ไผ่บางชนิด เห็ดเผาะ อาจไม่เหลือให้เห็นอีก
ศ.ดร.นิวัต เรืองพานิช นายกสมาคมวนศาสตร์ มองว่ามนุษย์ไม่ควรเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ป่าไม้เคยมีสภาพเช่นไรก็ควรให้เป็นเช่นนั้น เพราะป่าไม้ทุกชนิดต่างมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในการรักษาสมดุลธรรมชาติ พร้อมแนะนำว่าแทนที่จะมีการเปลี่ยนป่าควรนำงบประมาณเหล่านี้ไปส่งเสริมป่าเดิมให้สมบูรณ์ ปลูกป่าเสริม ป้องกันไฟ โดยเฉพาะหากรักษาป่าเต็งรังให้ไม่เกิดไฟป่าได้นานเข้าสภาพป่าจะเปลี่ยนแปลงเอง
เดลินิวส์ วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2555
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.