นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก.เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้ นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีนโยบายให้ดำเนินการสะสางข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกรใหม่ทั้งหมด โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เป้าหมายเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับความเป็นจริง อันนำไปสู่การแก้ไขความเดือดร้อน โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้สิน รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพทันต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนหนี้ ด้วยการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยทดแทนระบบเดิมที่ใช้วิธีกรอกข้อมูลในเอกสารแล้วจึงนำมาลงในระบบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรมลงทะเบียน ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็ว สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประมวลผลและตรวจสอบข้อมูลได้จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงได้จัดประชุมซักซ้อมความข้าใจกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสาขาทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว
อีกแนวทางที่ต้องดำเนินการไปควบคู่กันตามนโยบายของเลขาธิการ กฟก. คือ การประสานและตรวจสอบยืนยันเกี่ยวกับข้อมูลหนี้จากเจ้าหนี้ โดยในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดสาขา ประสานกับอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการประสานข้อมูลจากเจ้าหนี้ เช่น สหกรณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ สำหรับในส่วนกลางสำนักงานใหญ่ จะดำเนินการประสานกับเจ้าหนี้ ทั้งในส่วนของ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่างๆ และ ตรวจสอบยืนยันกับทางเจ้าหนี้ด้วย โดยเฉพาะทางสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ในระดับพื้นที่ ส่วนเจ้าหนี้ที่อยู่ส่วนกลางที่ทางสำนักงานใหญ่ที่จะต้องเป็นคนประสาน อาทิ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่าง ๆ เป็นต้น”
ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานั้น เกษตรกรสมาชิกที่ได้มาขึ้นทะเบียน บางส่วนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยข้อมูลไว้อย่างนั้น ไม่มีการแจ้งถึงสถานะหนี้เปลี่ยนแปลงอย่างหรือไม่ หรืออยู่ในกรณีเจ้าหนี้ฟ้องหรือยัง เป็นต้น ส่งผลให้ข้อมูลหนี้ไม่มีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบัน สำหรับจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้จนถึงขณะนี้มีประมาณ 510,000 กว่าราย รวมสัญญาจำนวน 769,000 กว่าสัญญา คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 107,000 ล้านบาท ทั้งจากที่ขึ้นทะเบียนไว้ 510,000 กว่าราย มีจำนวนถึง 200,000 กว่าราย ที่ไม่มีการอัพเดทสถานะหนี้ให้เป็นปัจจุบัน
“ ดังนั้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถมาติดต่อประสานกับทางสำนักงานจังหวัดในพื้นที่ เพื่อแจ้งข้อมูลปรับปรุงทะเบียนหนี้ของตนเอง ได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดได้ในทุกวันทำการ เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งกรณีเป็นหนี้ที่ผิดนัดชำระ หนี้จำเป็นเร่งด่วน หรือขั้นบังคับคดีขายทอดตลาด” นายมนัส กล่าวทิ้งท้าย.
ที่มา : สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ วันที่ 21 ก.ย. 2564