ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์สินทรัพย์ของเกษตรกร หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามหนี้ครัวเรือนประเทศ และตัวแปรอื่นๆ โดยเฉพาะ จากนโยบายของภาครัฐ เช่น พักหนี้ และการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ขณะที่หนี้สินเกษตรกรปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยที่ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.54%
ทั้งนี้ หนี้สินเงินกู้ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ของการกู้ ดังนี้ คือ ค่าปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์การเกษตรสัดส่วน 37.55% กลุ่มค่าแรงงาน ค่าซ่อม ซื้อ เครื่องจักรเกษตร ค่าเช่าสัดส่วน 17.05% ส่วนรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรปี 2564 มีรายได้ 408,099 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.54% แบ่งเป็น รายได้เงินสดในภาคเกษตร 190,065 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 3.07% และรายได้เงินสดนอกการเกษตร ซึ่งรวมเงินช่วยเหลือของภาครัฐแล้วมีรายได้ 218,034 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น5.86%
สำหรับรายได้จากด้านพืชมากที่สุด 140,825 บาทต่อครัวเรือน รองลงมาคือ รายได้จากด้านปศุสัตว์ 44,990 บาทต่อครัวเรือน และรายได้เงินสดเกษตรอื่น ๆอาทิการแปรรูปผลผลิตเกษตรที่ผลิตได้(ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป)ผลผลิตพลอยได้ 4,790 บาทต่อครัวเรือน
นอกจากนี้ สศก. ประเมินรายได้เงินสดทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีผลผลิตด้านการเกษตรหลายตัว ราคาอาจปรับตัวลดลง โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มไม้ผล ไม้ยืนต้น ยังเป็น สนค้าที่ราคาสูงขึ้นจากปีก่อน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำ มัน ทุเรียน ลำไย และ สินค้าที่ราคาลดลงจากปีที่ผ่านมาต้องเฝ้าระวัง เช่น เงาะ มังคุด กลุ่มพืชอื่น ได้แก่ ยาสูบ แนวโน้มเพิ่มขึ้น บางพื้นที่ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนหลังนา และ กลุ่มปศุสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เช่น สุกร โคเนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น
ทั้งนี้ สินค้าที่น่าจับตามองในครึ่งปีหลัง คือข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15 % คาดว่าเกษตรกรจะขายได้ในราคา 8,802 บาทต่อตัน ลดลง 5.40 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่คำสั่งซื้อของผู้ประกอบการส่งออกยังอยู่ในระดับเดิม
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5 % คาดว่าเกษตรกรจะขายได้ ในราคา 7.89 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้น 4.87 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง
หัวมันสำปะหลังสดคละ คาดว่าเกษตรกรจะขายได้ 1.99 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้น 18.03 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยางพารา โดยยางแผ่นดิบชั้น 3 คาดว่าเกษตรกรจะขายได้ 56.53 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้น 57.25 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้นสำหรับการผลิตถุงมือยาง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกที่ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลปาล์มน้ำมันทั้งทลายมีน้ำหนักมากกว่า 115 กก. คาดว่าเกษตรกรจะขายได้ 5.29 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้น 77.16 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการในช่วงเดือนรอมฎอนของอินเดีย ทำให้ราคาภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 ส.ค. 2564
ผู้เขียน : ยุพิน พงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.