แก้ปัญหาสวนปาล์มกระบี่ ป่าไม้เร่งเคลียร์พื้นที่ให้ชาวบ้าน
นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกิน โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งเมื่อ เร็วๆ นี้ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานแถลงข่าว ผลการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สงวนคุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมทะนุบำรุง และการอื่นๆ เกี่ยวกับป่า ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยกลยุทธ์ส่งเสริมสร้างความร่วมมือของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มีเรื่องสำคัญมากมาย
อาทิ การจัดการพื้นที่ที่เอกชนได้รับอนุญาต และหมดอายุการอนุญาตแล้วในท้องที่จังหวัดกระบี่ ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูปส่วนราชการ โดยกรมป่าไม้เดิมถูกแบ่งออกเป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้นจึงได้โอนภารกิจการดูแลป่าสงวนแห่งชาติไปให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
และได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่26 สิงหาคม 2546 กำหนดให้พื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาตให้ยุติการอนุญาตต่ออายุไว้ก่อน โดยจะให้มีการจัดระเบียบการอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจะพิจารณาให้กับราษฎรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และเป็นคนในพื้นที่เป็นหลักการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ สามารถดำเนินการได้ทันที โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน
การดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จะใช้แนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่26 สิงหาคม 2546 และมติที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหากรณีราษฎรเข้าครอบครองพื้นที่สวนปาล์มในพื้นที่เอกชนขอใช้ประโยชน์ ของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) กรมป่าไม้จะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกมาดำเนินการสำรวจรังวัดพื้นที่ที่ได้มีการอนุญาตไปแล้วตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ แล้วนำผลการตรวจสอบมาพิจารณาเป็นรายแปลง เพื่อเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ต่อไป
กรมป่าไม้ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และได้ชี้แจงกับกลุ่มผู้ประกอบการเรื่องการตรวจสอบพิจารณาเป็นรายแปลง เพื่อเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป และในส่วนของกลุ่มเกษตรกรฯ ได้ชี้แจงในเรื่อง
- ห้ามผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายป่าไม้
- ให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่สวนปาล์มก่อน เนื่องจากอยู่แล้วได้เก็บผลปาล์มโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำผิดกฎหมาย
- สำหรับต้นไม้ที่ผู้รับอนุญาตปลูกขึ้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้รับอนุญาตตามความในมาตรา 16 หรือมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 หรือภายหลังจากสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว หรือกรณีปลูกขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการปลูกต้นไม้ในที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม้ที่ปลูกขึ้นไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน และเป็นไม้ที่ไม่มีเจ้าของ และไม้ที่ปลูกนั้นเป็นไม้ในป่า และป่าสงวนแห่งชาติ ตามนัยหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนมาก ที่ นร 0501/374 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 ส่วนดอกผลอาสิน จากต้นไม้ที่ปลูกนั้นเป็นของป่าตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ตามนัยหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0601/236 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2536
การอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นกรณีที่รัฐให้สิทธิแก่บุคคลเพื่อทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ขอรับอนุญาตในลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 14(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดังนั้น เมื่อสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว และหากทางราชการไม่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยต่อไปอีก ผู้ที่เคยได้รับอนุญาตนั้นก็จะไม่มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ใดๆ ต่อไป
และหากประสงค์จะทำไม้ที่ไม่ใช่ไม้หวงห้าม (ต้นปาล์ม) หรือเก็บหาของป่าที่ไม่ใช่ของป่าหวงห้าม (ผลปาล์ม) ในพื้นที่เดิมที่เคยได้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตามระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตเก็บหาของป่าภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2529 ที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,107 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และต้องชำระเงินค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าสำหรับของป่าตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1221 (พ.ศ. 2531)
หมายเหตุ-ในจังหวัดกระบี่อดีตที่ผ่านมา ทางกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้เอกชนรายใหญ่เช่าพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ปลูกปาล์ม หลายหมื่นไร่ ซึ่งสัญญาสัมปทานได้ทยอยหมดลงเมื่อช่วงปี 2545 ที่ผ่านมา และชาวบ้านเข้าไปครอบครองปักปันแบ่งที่ดินกันเอง ปะทะกับเจ้าหน้าที่บ้าง สุดท้ายทางราชการต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา จัดสรรให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ ซึ่งล่าสุดหลังมีการออกกฎระเบียบออกมา ก็ไม่ได้มีความรุนแรงในพื้นที่แล้ว
แนวหน้า วันที่ 14 ก.ค. 2555
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.